ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย ก่อนที่จะเริ่มบทความในวันนี้ผู้เขียนขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในเหตุการณ์กราดยิงที่โคราช และเป็นอุธาหรณ์ว่าอย่าปล่อยให้คนบ้าถืออาวุธ ในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม แต่ภัยจากการคุกคามของสิ่งแวดล้อม อย่างภาวะโลกร้อนนั้นมันค่อยเป็นค่อยไป จนพวกมักง่ายหรือมองโลกในแง่ดีเกินไป มองว่าภัยจากโลกร้อนนี้มันต้องเกิดอยู่แล้วตามธรรมชาติ โดยมนุษย์ไม่ต้องทำอะไรเลย ดังนั้นจึงควรปล่อยตัวตามสบายไม่ต้องไปควบคุมและระมัดระวังอะไรกันอย่างที่รณรงค์กันอยู่ นั่นก็ว่ากันไป แต่อันนี้ของจริงที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ นั่นคือเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2019 นั้น สหรัฐฯได้ทำการติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ W76-2 ให้จรวดไทรเดนท์ที่ประจำการอยู่ในเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์เทนเนสซี ณ ฐานทัพเรือดำน้ำในรัฐจอร์เจีย Kings bay แม้สหรัฐฯจะออกข่าวว่าเป็นหัวรบที่มีอำนาจทำลายน้อย (Low-YIELD) แต่นี่มันอาวุธนิวเคลียร์นะ ขนาดว่าน้อยก็สามารถทำลาย นิวยอร์กได้ 20 บล็อก และสหรัฐฯผลิตออกมาแล้ว 50 ลูก ส่วนอีกจำนวนไม่น้อยอยู่ในขบวนการผลิต ข่าวนี้สังคมโลก แม้แต่สังคมมะกันก็ไม่มีใครสนใจเท่าไร เพราะมัวไปสนใจกับข่าวการดำเนินการสอบสวนเพื่อปลดประธานาธิบดีทรัมป์ และตามมาด้วยการลอบฆ่านายพลกอเซ็ม สุไลมานี ของอิหร่าน ซึ่งก่อให้เกิดความตึงเครียดไปทั่วตะวันออกกลาง โดยอาจมีผลกระทบไปทั่วโลกได้ด้วย แต่พอควันจางเพราะทรัมป์รอดจากการถูกปลด ด้วยวุฒิสภาที่มีพรรครีพับลิกันเป็นเสียงส่วนมากได้ช่วยเอาไว้ ตอนนี้ก็เลยออกมากร่างใหญ่ ทำให้หลายคนฉุกคิดและหวาดระแวงพฤติกรรมของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่แพทย์ทางจิตเวชหลายคนได้วิเคราะห์ว่ามีสภาพจิตที่ไม่ปกติ อาจทำอะไรที่เพี้ยนๆคาดไม่ถึงได้ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งในฐานะผู้นำประเทศ มีอำนาจสั่งการทหาร และสั่งการให้ใช้อาวุธนิวเคลียร์ได้ เรื่องนี้สภาผู้แทนราษฎรที่มีพรรคเดโมแครตเป็นเสียงข้างมาก ก็ได้สำเหนียกในอันตรายนี้ และพยายามออกกฎหมายมาควบคุมอำนาจการสั่งการทางทหารของประธานาธิบดี แต่ร่างกฎหมายนี้แม้ผ่านสภาล่าง ก็ไปถูกตีตกที่สภาสูง หรือวุฒิสภาในที่สุด อย่างไรก็ตามหากผ่านสภาสูง ประธานาธิบดีก็มีสิทธิวีโต้คราวนี้ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของทั้ง 2 สภาจึงจะผ่านเป็นกฎหมายได้ เมื่อกฎหมายนี้ไม่ผ่านก็ยิ่งทำให้ทรัมป์ลำพองใจ ประกอบกับการไม่ถูกจับออกจากตำแหน่งโทษฐานใช้อำนาจในทางที่ผิด และขัดขวางกระบวนการสอบสวน ก็ยิ่งทำให้ทรัมป์ลำพองใหญ่ นี่คือจุดเสี่ยง ที่แม้นแต่ผู้เชี่ยวชาญทางการทหารหลายคน รวมทั้งคนในกองทัพหลายคนก็ยอมรับว่า เมื่อมีการนำเสนอเมนูการปฏิบัติการทางทหารให้ทรัมป์เลือกสั่งการ โดยมีรายการหัวรบนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Low-YIELD) อยู่ด้วย พวกนี้เชื่อกันว่าทรัมป์มีโอกาสเลือกสูงมาก เพราะอาจจะเห็นว่ามันมีอำนาจทำลายที่ไม่ร้ายแรงนัก และอาจใช้ทำลายเป้าหมายเฉพาะ เช่น ฐานที่ตั้งจรวดของฝ่ายตรงข้ามโดยไม่ทำลายพื้นที่อื่นๆที่มีพลเรือนอาศัยเป็นจำนวนมาก แน่นอนกัมมันตภาพรังสีก็ยังมีส่วนกระจายออกไปทำลายได้ อยู่แม้ไม่ทั้งหมด นอกจากความเสี่ยงดังที่กล่าวแล้ว การติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ที่จรวดไทรเด้นท์อันเป็นอาวุธประจำการในเรือดำน้ำนิวเคลียร์เทนเนสซี่ ยิ่งทำให้ความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น เพราะเรือดำน้ำนิวเคลียร์อาจเคลื่อนตัวเข้าไปใกล้เป้าหมายได้มาก และสามารถยิงทำลายด้วยเวลาเพียง 15-30 นาที ถ้าเป็นทางอากาศฝ่ายตรงข้ามอาจใช้จรวดต่อต้านจนไม่อาจบุกทะลวงไปได้ ยิ่งทางภาคพื้นดิน การเคลื่อนย้ายมิสไซด์ก็เป็นเป้าที่จะทำลายได้ไม่ยาก ทีนี้ลองพิจารณาดูว่าสหรัฐฯคิดอย่างไรในการติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์บนเรือดำน้ำนิวเคลียร์ ทั้งที่ไม่ได้ทำมาเลยนับตั้งแต่สงครามเย็นยุติลง อนึ่งการข่าวกรองอ้างว่ารัสเซียก็มีหัวรบแบบนี้ตั้งประจันหน้ากับกองกำลังนาโต้ในยุโรป ถ้าสหรัฐฯมุ่งที่จะป้องปรามโซเวียตก็ไม่น่าจะมีผลเป็นภัยคุกคามอะไร เพราะทั้งสองฝ่ายต่างก็มีการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ และอาวุธต่อต้านจรวดไว้ป้องกันตนเองเพียงพออยู่แล้ว จึงคงได้แต่คุมเชิงแต่ไม่กล้าใช้หากไม่เกิดอุบัติเหตุ แต่ถ้ามองว่าสหรัฐฯมีวัตถุประสงค์จะนำเอาหัวรบนิวเคลียร์ติดตั้งในเรือดำน้ำนิวเคลียร์เพื่อเคลื่อนที่เข้าไปใกล้เกาหลีเหนือ แถบทะเลจีนใต้หรือใกล้อิหร่านแถบมหาสมุทรอินเดีย มันจะเกิดปฏิกิริยาอะไรบ้าง ทางเกาหลีเหนือเชื่อได้ว่า คิมจองอึน หรือ คิมน้อยก็คงเอาปุ่มยิงนิวเคลียร์ไปกอดนอนด้วยแน่ เพราะเวลา 15 นาที ไม่ทันคิดอะไร ถ้าได้รับรายงานว่ามีมิสไซด์พุ่งเข้าใส่เกาหลีเหนือ ก็ไม่ต้องคิดมากกดปุ่มทันที ส่วนจะไปทำลายญี่ปุ่นหรือฮาวายก็เป็นอีกเรื่อง แต่ก็ฉิบหายกันใหญ่ และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามนิวเคลียร์ได้ ยิ่งเทคโนโลยีในปัจจุบัน เช่น การแจมเรดาห์ของอิหร่านแล้วเอาเครื่องบิน F-35 ไปบินชายแดน ยังทำให้อิหร่านตัดสินใจผิดพลาดยิงมิสไซด์ใส่เครื่องบินยูเครนตก มีคนตายจำนวนมากและเป็นชาวอิหร่านกว่าครึ่งหรือการที่อิสราเอลใช้เครื่องบินพาณิชย์กำบัง เครื่องบินรบ เพื่อเข้าโจมตีดามัสกัส อย่างนี้ยิ่งสร้างความระแวงในการป้องกันภัยของประเทศเป้าหมาย อิหร่านเองก็ต้องระแวดระวังว่าสหรัฐฯจะใช้หัวรบนิวเคลียร์ขนาดเล็กนี้มาโจมตีจุดยุทธศาสตร์ของตน รวมทั้งแหล่งสกัดแร่ยูเรเนียนที่กำลังดำเนินการอยู่ แม้เพื่อทำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ตาม เรื่องอย่างนี้เคยเกิดมาแล้วเมื่อิสราเอลส่งฝูงบินไปถล่มโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อิรัก สมัยซัมดัมฮุชเซน ทีนี้อิหร่านที่แม้จะเคยประกาศมาตลอดว่าไม่ต้องการมีอาวุธนิวเคลียร์ โดยท่านผู้นำอิหม่ามคามาเนอี แต่ถ้าถูกคุกคามแบบนี้อาจต้องรีบเร่งมีอาวุธนิวเคลียร์เพื่อเป็นอำนาจต่อรอง หรือป้องปรามแบบเดียวกับที่เกาหลีเหนือคิดก็ได้ อนึ่งอิหร่านมีศักยภาพที่จะพัฒนาหัวรบนิวเคลียร์ได้ในเวลาอันสั้น และมีความพร้อมด้านขีปนาวุธพิสัยใกล้และพิสัยกลางอยู่แล้ว แต่ที่ประกาศเจตนารมณ์ว่าจะไม่พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ เพราะกลัวเป็นการล่อเป้า หรือถูกปิดล้อมทางเศรษฐกิจแบบเกาหลีเหนือ แต่ถ้าถูกบีบด้วยการคุกคามจากสหรัฐฯแบบนี้ อาจทำให้อิหร่านต้องรีบเร่งพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างรวดเร็วก็ได้ และถ้าอิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ประเทศที่จะเดือดร้อนที่สุดก็คงเป็นอิสราเอล แม้ว่าอิสราเอลจะมีการสะสมหัวรบนิวเคลียร์ทั้งขนาดเล็กและใหญ่ไว้ถึง 200 ลูก โดยการสนับสนุนอย่างลับๆจากสหรัฐฯ ที่แกล้งให้มีการลักลอบขนพลูโตเนียมมาอิสราเอลหลายสิบปีแล้ว แต่ที่ผ่านมาอิสราเอลก็พยายามที่จะกดดันไม่ให้ประเทศอาหรับหรืออิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์เพื่อครองความได้เปรียบ หากอิหร่านมีหัวรบนิวเคลียร์อิสราเอลก็อาจชิงลงมือโจมตีก่อน เพราะถนัดอยู่แล้วในเรื่องนี้ ซึ่งเท่ากับเป็นการจุดชนวนสงครามนิวเคลียร์ เพราะมหาอำนาจทั้งหลายต่างก็ระแวงกันอยู่แล้ว บางประเทศอาจฉวยโอกาสโจมตีก่อน (Preemptive Strike) เช่น กองกำลังที่ประจันหน้ากันในยุโรประหว่างนาโต้กับรัสเซีย นี่จึงเป็นจุดเสี่ยงสำคัญอีกแห่งหนึ่งที่สหรัฐฯเป็นตัวกระตุ้น แต่จะทำอะไรได้ในเมื่ออาวุธนิวเคลียร์อยู่ในมือคนบ้าอย่างทรัมป์