บทความพิเศษ : การเกื้อกูลที่ยั่งยืน โดย ดร.สุพิศ ปราณีตพลกรัง
สหกรณ์เป็นการรวมกลุ่มสมาชิกซึ่งมีปัญหาในเรื่องเดียวกัน ต้องการแก้ปัญหาที่ประสบอยู่ เช่น การขายสินค้า การซื้อสินค้า การเข้าถึงเงินทุน การขาดแคลนเครื่องมือต่าง ๆ จึงมีการรวมกลุ่มกันเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน ดังจะเห็นได้จากสหกรณ์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์ออมทรัพย์ เป็นต้น สหกรณ์จึงเกิดจากการรวมพลังกันของสมาชิก ดำเนินการต่าง ๆ เพื่อสมาชิก มีการร่วมคิด ร่วมลงทุน ร่วมวางแผน ร่วมแก้ปัญหา อยู่ก็อยู่ด้วยกัน พังก็ต้องพังด้วยกัน เพราะต่างก็มีความสำคัญและเป็นปัจจัยเอื้ออำนวยให้สหกรณ์สามารถดำรงคงอยู่ได้ สหกรณ์จึงเป็นเรื่องการหาทางช่วยเหลือเกื้อกูลกันในหมู่สมาชิก และมักจะเป็นผู้ที่มีปัญหาด้วยกันทั้งสิ้น
ดังนั้นเราจะเห็นได้จากต้นกำเนิดสหกรณ์ในประเทศอังกฤษที่เป็นการรวมตัวกันของคนงานที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีสภาพชีวิตและสภาพการทำงานที่ไม่เหมาะสม อัตคัดขาดแคลนสิ่งจำเป็นของชีวิตในทุก ๆ ด้าน
เมื่อการก่อกำเนิดของสหกรณ์เป็นเรื่องของสมาชิก จึงแตกต่างจากการก่อตั้งธนาคาร บริษัท ห้างร้าน ต่าง ๆ ที่มีการจัดตั้งขึ้นก็เพื่อมุ่งแสวงหากำไร การตัดสินใจต่าง ๆ มีการเน้นหนักให้ความสำคัญไปที่ทางได้ ทางเสีย และการเจริญเติบโตขององค์กรเป็นหลัก ต่างกับสหกรณ์ที่มุ่งเน้นหนักในด้านการให้ความช่วยเหลือสมาชิก ไม่ได้มุ่งกำไรเป็นหลักหรือขยายกิจการเป็นหลัก กิจกรรรมหรือการดำเนินการต่าง ๆ บางครั้งก็อาจเป็นเรื่องการให้สวัสดิการ จัดสรรสิทธิประโยชน์แก่สมาชิก เป็นการช่วยเหลือกันทางหนึ่งด้วย
สำหรับกิจการสหกรณ์ในประเทศไทยนั้น เห็นได้ว่าค่อนข้างเจริญก้าวหน้า มีความมั่นคง มีเงินทุนมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ที่ใดมีคนหมู่มากก็อาจมีปัญหา อาจมีทั้งคนที่ดีและคนไม่ดีปะปนกันไป แล้วแต่จะพบเจอกันอย่างไร ด้านของสหกรณ์ก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีทุนมากขึ้น สหกรณ์มีความมั่นคงแข็งแกร่ง ก็อาจจะมีการดำเนินการต่าง ๆ ที่เบี่ยงเบนไปจากหลักการของการสหกรณ์ หรือเริ่มละเลยสมาชิก หรือสมาชิกตั้งหลักได้แล้วจึงมุ่งหมายเฉพาะประโยชน์ที่จะได้จากสหกรณ์ ทำให้เกิดการบริหารจัดการสหกรณ์ที่เป็นไปในภาวะสุ่มเสี่ยงในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งหากประสบปัญหาในภายหน้าแล้ว ผู้ที่จะได้รับผล เกิดความเดือดร้อนก็คือมวลหมู่สมาชิกนั่นเอง
ด้านช่องทางที่เปิดโอกาสให้เป็นเช่นนี้ก็เพราะสหกรณ์มีการบริหารจัดการโดยคณะกรรมการ ซึ่งกรรมการนั้นก็มาจากการเลือกตั้งของสมาชิก หากได้กรรมการที่ดี มีความรู้ความสามารถก็พอจะนำพาสหกรณ์ไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้ แต่ถ้าหากได้กรรมการที่มุ่งหมายเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ หาช่องทางต่าง ๆ ที่ตนเองได้ประโยชน์ สหกรณ์นั้นก็อาจล่มจมได้ในเร็ววัน ดังตัวอย่างข่าวทุจริตหรือเกิดการโกงในสหกรณ์ต่าง ๆ
ทั้งนี้ก็เพราะสมาชิกไม่ใส่ใจในการเลือกตั้งคณะกรรมการที่จะเข้าไปดูแลรักษาผลประโยชน์ของสมาชิกและทำเพื่อสหกรณ์ตามหลักการสหกรณ์อย่างแท้จริง ประกอบกับสมาชิกอาจใส่ใจหรือมีส่วนร่วมกับสหกรณ์ก็เพียงการรอรับปันผล ไม่สนใจดูแลการบริหารจัดการของคณะกรรมการว่าส่อแนวโน้มไปในทางที่ไม่ดีไม่งามหรือไม่ ก็เลยกลายเป็นช่องทางหรือโอกาสอันดีของการทุจริตคอรัปชั่นในสหกรณ์ที่มีการหมักหมมซ่อนไว้เป็นเวลานานกว่าจะมีการตรวจสอบค้นพบ ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นเงินของสมาชิกก็อาจจะไม่เหลือแล้ว สมาชิกจึงต้องให้ความสนใจ การบริหารจัดการ ให้ความสนใจในการเลือกตั้ง การกำหนดนโยบายหรือทิศทางที่สหกรณ์ควรจะก้าวไปเพื่อให้กิจการของสหกรณ์เป็นไปเพื่อประโยชน์ของสมาชิก ของส่วนรวมและเป็นการเกื้อกูลกันได้อย่างแท้จริง