กรมปศุสัตว์ จับมือคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ยกระดับการรับรองมาตรฐานฮาลาล ถูกต้องตามหลักการศาสนาและปลอดภัยต่อผู้บริโภค       เมื่อวันที่ 13 ก.พ. นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานพิธีเปิดโครงการอบรมผู้ตรวจรับรองมาตรฐานตามหลักการฮาลาล ประจำปี 2563 พร้อมด้วยคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ผู้แทนกรมเอเชียใต้ตะวันออกกลางและแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ผู้แทนสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมสัมมนาในครั้งนี้  ณ โรงแรมอัลมีรอซ กรุงเทพฯ       กรมปศุสัตว์มีหน้าที่ในการกำกับดูแลห่วงโซ่การผลิตผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ตั้งแต่อาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ โรงงานแปรรูป และสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ เพื่อมุ่งหวังให้ผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค จนทำให้ประสบความสำเร็จสามารถส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไปต่างประเทศ สร้างรายได้ทะลุ 2 แสนล้านบาทได้สำเร็จในปี 2558 โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญ 3 อันดับ ได้แก่ ไก่เนื้อ (ร้อยละ 52) อาหารสัตว์เลี้ยง (ร้อยละ 18) และโคนม (ร้อยละ 8) ซึ่งปัจจัยความสำเร็จเกิดจากความร่วมมือกันทั้งภาครัฐ เอกชน และรวมถึงองค์กรศาสนาอย่างสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งการส่งออกไก่เนื้อกว่า 1 แสนล้านบาท เป็นผลผลิตจากโรงเชือดสัตว์ปีกเพื่อการส่งออก ซึ่งเป็นโรงเชือดสัตว์ที่ได้รับรองมาตรฐานฮาลาลทั้งสิ้น การรับรองมาตรฐานฮาลาล จึงเป็นมาตรฐานที่สำคัญในการผลิตสินค้าของภาคเอกชน ให้เป็นสินค้าที่สามารถรองรับกับกลุ่มตลาดที่หลากหลาย กรมปศุสัตว์ได้จัดทำโครงการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลด้านปศุสัตว์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2556 วัตถุประสงค์ในการพัฒนาผู้ประกอบการรายย่อย เช่น โรงฆ่าสัตว์ และสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ ให้มีโอกาสได้ยกระดับในการรับรองมาตรฐานฮาลาล ต่อมากรมปศุสัตว์ได้ตั้งกลุ่มพัฒนาสินค้าปศุสัตว์ฮาลาลเป็นหน่วยงานภายใต้สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ เพื่อให้กลุ่มพัฒนาสินค้าปศุสัตว์ฮาลาลมีหน้าที่หลักในการพัฒนา สนับสนุน และส่งเสริมด้านสินค้าปศุสัตว์ฮาลาลของประเทศไทย และสามารถปฎิบัติหน้าที่ตามโครงการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลด้านปศุสัตว์ได้อย่างทั่วถึงทั่วประเทศ ผลการดำเนินการที่ผ่านมา มีการตรวจประเมินให้คำแนะนำโรงฆ่าสัตว์และสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์กว่า 330 แห่ง และมีการสุ่มเก็บตัวอย่างตรวจการปนเปื้อนดีเอ็นเอสุกรจากสินค้าปศุสัตว์ที่ผ่านการรับรองฮาลาล จำนวน 800 ตัวอย่างทั่วประเทศ     จากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง มีผู้ประกอบการด้านปศุสัตว์อื่นๆ เช่น ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ โรงคัดไข่ และโรงผลิตน้ำผึ้ง มีความประสงค์จะขอเข้าร่วมโครงการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลด้านปศุสัตว์เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการนี้จะได้รับบริการตรวจประเมินตามมาตรฐานฮาลาลขั้นต้น (Pre-Audit) จากเจ้าหน้ากรมปศุสัตว์ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถประเมินศักยภาพและพัฒนาให้ถูกต้องตามเกณฑ์สุขอนามัยควบคู่กับมาตรฐานฮาลาล ก่อนการตรวจรับรองมาตรฐานฮาลาลจากคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย อีกทั้งผู้ประกอบการยังได้ลดหย่อนค่าธรรมเนียมในการตรวจรับรองฮาลาลร่วมด้วย ซึ่งเป็นผลจากการที่กรมปศุสัตว์ได้จัดสรรงบอุดหนุนค่าธรรมเนียมการตรวจประเมินรับรองมาตรฐานฮาลาลให้แก่สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้ประกอบการรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยการจัดอบรมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับมาตรฐานฮาลาลให้ครอบคลุมประเภทสินค้าปศุสัตว์ตามความต้องการของผู้ประกอบการ จึงต้องเร่งพัฒนาศักยภาพของผู้ตรวจรับรองฮาลาล ให้พร้อมในการทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการได้ ใช้รูปแบบการเสวนา และการระดมความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง       ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ตรวจรับรองมาตรฐานตามหลักการฮาลาลให้มีความรู้ ความเข้าใจในหลักการปฏิบัติที่ถูกสุขอนามัยและถูกสุขลักษณะในการผลิตสินค้าปศุสัตว์ ควบคู่ไปกับหลักการฮาลาล โดยจะมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถยกระดับมาตรฐานได้อย่างแท้จริง ตามเจตนารมณ์ของหลักการฮาลาลที่ถูกต้องตามหลักการศาสนา และมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค