มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พบ 4 ใน 11 ตัวอย่าง ใส่สารกันบูด แต่ฉลากไม่ระบุ ขณะชาวสวนแทบร้องไห้ บ้านเรามะพร้าวมีมากมาย แต่คนไทยไม่ได้กินของดี ทั้งยังมีมะพร้าวนำเข้ามาตัดทางเกษตรกร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แจ้งว่า จากที่ได้รับร้องเรียนจากชาวสวนมะพร้าว จ.ประจวบคีรีขันธ์ ว่ากะทิสำเร็จรูปที่มีขายตามท้องตลาดไม่ใช่กะทิแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ส.ค.62 ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ จึงสุ่มเก็บผลิตภัณฑ์กะทิสำเร็จรูป 3 แบบ คือ กะทิยูเอชที, กะทิพาสเจอร์ไรซ์ ที่จำหน่ายในท้องตลาด และ กะทิคั้นสด จากตลาดในเขตกทม.เพื่อเปรียบเทียบปริมาณกรดไขมัน วัตถุกันเสีย (ซอร์บิก, เบนโซอิก) และสารฟอกขาว (ซัลเฟอร์ไดออกไซด์) รวม 10 ตัวอย่างที่มีขายในท้องตลาด และ 1 ตัวอย่างจากร้านในตลาดคลองเตย ทั้งนี้ ตรวจพบใน 4 ตัวอย่าง ซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วไป 3 ตัวอย่างและกะทิจากร้านในตลาดคลองเตย ที่ระบุในฉลากว่าไม่ใช่วัตถุกันเสีย แต่พบปริมาณสารกันเสีย 2.19 มก./กก. น.ส.สารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ควรให้ผู้ผลิตระบุด้วยว่าใช้มะพร้าวจากในประเทศหรือต่างประเทศ เพื่อระบุแหล่งที่มาของอาหารและเพื่อให้ผู้บริโภคมีบทบาทในการสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงและความปลอดภัยของอาหาร สนับสนุนเกษตรกร รวมถึงสร้างทางเลือกสำหรับผู้บริโภคด้วย ขณะที่นายพงษ์ศักดิ์ บุตรรักษ์ ตัวแทนเครือข่ายชาวสวนมะพร้าว จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า กะทิกล่อง 100 เปอร์เซ็นต์ ในประเทศไทยมีการผสมน้ำมัน แบะแซผสมลงไปด้วย ซึ่งน่าจะผิดกฎหมายที่อ้างว่า กะทิ 100 เปอร์เซ็นต์นั้น ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่กะทิ 100 เปอร์เซ็นต์ใช่หรือไม่ จึงได้นำเรื่องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อทำการทดสอบ “ทั้งนี้ บ้านเรามีมะพร้าวจำนวนมากและมีมะพร้าวคุณภาพดี แต่ผู้บริโภคในประเทศไม่ได้บริโภคมะพร้าวที่มีคุณภาพดี แต่กลับต้องไปบริโภคมะพร้าวนำเข้า ที่ผ่านกระบวนการต่างๆ มากมาย ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้ อยากเห็นการทำกะทิจากมะพร้าวที่ปลูกได้ในประเทศไทยเพื่อทำให้ผู้บริโภคได้รับกะทิที่มีคุณภาพ มีน้ำมันมะพร้าวที่มีคุณค่า แล้วราคาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย อีกทั้งยังช่วยจำกัดปริมาณนำเข้าจากต่างประเทศได้อีกด้วย” (อ่านผลสำรวจฉบับเต็มได้ที่ www.consumerthai.crg "ฉลาดซื้อ เผยผลตรวจสารกันบูดในกะทิ แนะรัฐออกมาตรฐานกะทิ และส่งเสริมการใช้มะพร้าวในประเทศ")