ไวรัสโคโรนา (corona virus) หรือที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า "โควิด-19" (Covid-19) ซึ่งย่อมาจาก “coronavirus disease starting in 2019” หรือโรคที่เกิดจากไวรัสโคโรนาที่มีการเริ่มต้นในปี 2562 เป็นไวรัสรูปร่างกลม มีซองไขมันหุ้มยื่นออกมารอบตัวทำให้เห็นไวรัสคล้ายรูปมงกุฎเมื่อดูด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเลคตรอน มีสารพันธุกรรมชนิด อาร์เอ็นเอ (RNA) ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้บ่อย ไวรัสโคโรนา ติดเชื้อในสัตว์หลายชนิดและในมนุษย์พบว่าทำให้เกิดท้องเสียและไข้หวัดธรรมดา จนในปี ค.ศ. 2003-2004 พบไวรัสซาร์ (SARS-CoV) แพร่ระบาดจากประเทศจีนไปยัง 17 ประเทศ ทำให้มีผู้ติดเชื้อ 8,096 คน และเสียชีวิต 774 คน อัตราตาย 9.6% และพบไวรัสเมอร์ (MERS-CoV) แพร่ระบาดในประเทศตะวันออกกลางในปีค.ศ.2012 และเกาหลีใต้ในปี ค.ศ.2015 ทำให้มีผู้ติดเชื้อ 2,494 คนและเสียชีวิต 858 คนใน 27ประเทศ อัตราตาย 34% การระบาดของไวรัสทั้งสองถูกควบคุมได้ในที่สุด ในวันที่ 31 ธันวาคม ปี ค.ศ.2019 มีรายงานการค้นพบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เรียกย่อว่า 2019-nCoV เริ่มระบาดที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน โดยเริ่มจากตลาดค้าอาหารทะเลและสัตว์ป่า แพร่ระบาดไปทั่วจีนอย่างรวดเร็วและระบาดไปอีกหลายประเทศที่มีนักท่องเที่ยวจีนไปถึงด้วย จากการนำตัวอย่างจากตลาดค้าสัตว์ไปตรวจหาไวรัสพบไวรัสกว่าสามสิบตัวอย่าง นักวิทยาศาสตร์จีนสามารถแยกไวรัสได้อย่างรวดเร็วในเซลล์เพาะเลี้ยง ทั้งศึกษาถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสใหม่ได้ โดยพบว่า 2019-nCoV มีความใกล้เคียงกับไวรัสโคโรนาจากค้างคาวมากถึง 96% และยังคล้ายกับไวรัส SARS-CoV มากถึง 80% ด้วย และมีการจำแนกว่าเป็นไวรัสใหม่กลุ่มเดียวกับ เบต้าโคโรนาไวรัส ซึ่งมีไวรัส SARS-CoV และ MERS-CoV เป็นสมาชิกอยู่ด้วย ระยะฟักตัวของโรคที่เกิดจาก 2019-nCoV อยู่ในช่วง 2-14 วัน จะเริ่มมีไข้ ไอ ตามมาด้วยปอดบวม บางคนที่อายุมาก มีโรคประจำตัวและร่างกายไม่แข็งแรงจะเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว มีรายงานว่าบางคนติดเชื้อแต่ไม่มีอาการไข้ แต่สามารถแพร่เชื้อได้ เพียงช่วงเวลา 2-4 สัปดาห์ หลังจากการพบผู้ป่วยรายแรกๆ ไวรัสได้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วไปทั่วจีน มีผู้ติดเชื้อจำนวน 23,875 คน เสียชีวิตประมาณ 492 ราย และพบระบาดไปใน 24 ประเทศ (ข้อมูลเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2563) อัตราตายยังไม่สามารถระบุได้แน่นอนเนื่องจากยังมีผู้ป่วยหนักจำนวนมากที่ยังรักษาในโรงพยาบาลอีกกว่า 3,000 คน จีนต้องปิดเมืองหลายเมืองห้ามการเดินทางของประชาชนเพื่อจำกัดการระบาดและเร่งสร้างโรงพยาบาลใหม่เพื่อรับผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษาโดยเฉพาะ ภาพไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019-nCoV ขนาดประมาณ 100 นาโนเมตร สาเหตุที่เกิดการระบาด 2019-nCoV เป็นไวรัสที่เกิดใหม่ที่เรียกว่าemerging virus โดยเดิมทีไม่พบไวรัสนี้มาก่อน ไวรัสโคโรนาในสัตว์เกิดการเปลี่ยนแปลง เรียกว่ารีคอมบิเนชั่น (recombination) ซึ่งเป็นการกลายพันธุ์แบบหนึ่ง จนไวรัสสามารถข้ามจากสัตว์มาติดคนได้และปรับตัวเข้ากับคนเป็นอย่างดี ทำให้เกิดการระบาดติดต่อจากคนสู่คนได้โดยง่าย การบริโภคสัตว์ป่าของคนจีนทำให้ได้รับเชื้อมาจากสัตว์ในขณะนำสัตว์มาไว้รวมกันก่อนนำมาทำการฆ่าเพื่อประกอบอาหาร ซึ่งจีนได้สั่งปิดตลาดค้าสัตว์ป่าแบบเดียวกันทั่วประเทศเป็นการชั่วคราว ไวรัสทนทานต่อสภาพอากาศหนาวเย็น มีชีวิตรอดอยู่ได้หลายวันนอกร่างกายโดยขณะเกิดการระบาดเป็นช่วงฤดูหนาวของจีน การป้องกัน ไวรัสติดต่อกันได้ง่ายทางการหายใจเอาละอองที่มีไวรัสจากการ ไอ จาม จากน้ำมูกน้ำลาย หรือสัมผัสเชื้อ เช่น จากลูกบิดประตูแล้วไม่ได้ล้างมือแล้วนำมือมาสัมผัสจมูก ปากหรือตา จึงป้องกันได้ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยสบู่ ใช้เจลล้างมีที่มีแอลกอฮอล์ผสมซึ่งไวรัสถูกฆ่าได้ง่ายด้วยสารละลายไขมันพวกแอลกอฮอล์และสบู่ ภาพแสดงการจำแนกไวรัส 2019-nCoV ซึ่งใกล้เคียงกับไวรัสในค้างคาวและไวรัส SARS-CoV นอกจากนี้ ยังตรวจพบไวรัสในอุจจาระซึ่งอาจแพร่เชื้อไปได้เช่นกัน หลีกเลี่ยงการไปอยู่ในที่ชุมชนหรือห้องปิดที่อาจมีผู้ป่วย ไอ จาม เช่น ในรถบัส แท็กซี่ เครื่องบิน เรือ ต้องใส่หน้ากากอนามัยป้องกันตลอดเวลาและล้างมือบ่อยๆ ทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ และภายในยานพาหนะ ไวรัสโคโรนาไม่ทนความร้อน การจอดรถให้ถูกแสงแดดจนภายในรถร้อนสามารถฆ่าไวรัสได้ ประเทศไทยมีอากาศร้อนดังนั้นไวรัสจะอยู่นอกร่างกายได้ไม่นาน การรักษา ยังไม่มียารักษาที่ได้ผลแน่นอน อยู่ในขั้นตอนการทดลองรักษาด้วยยาต้านไวรัสหลายชนิดซึ่งยับยั้งการทำงานเอนไซม์ของไวรัสพวก protease ซึ่งใช้ในการตัดโปรตีนและเอนไซม์ RNA dependent RNA polymerase ซึ่งเป็นเอนไซม์ของไวรัสใช้ในการสร้างสารพันธุกรรมชนิด RNAของไวรัสลูกที่เกิดใหม่ ดังนั้น แพทย์ยังคงต้องทำการรักษาตามอาการเพื่อประคับประคองให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นในตัวเองและหายจากการติดเชื้อได้เอง การคาดการณ์ เราจะสามารถควบคุมการระบาดของไวรัส 2019-nCoV ได้ในที่สุด โดยอาจใช้เวลาหลายเดือนหรือเป็นปี จะมีการค้นพบยาต้านไวรัสที่ได้ผลดีในการรักษา และจะมีการผลิตวัคซีนป้องกันโรคได้ในอนาคต การระบาดของโรคไวรัสเกิดใหม่ได้อีกในอนาคต ตราบใดที่ยังไม่มีการห้ามบริโภคสัตว์ป่าแบบถาวรโดยเฉพาะในประเทศจีนซึ่งนิยมทานอาหารแปลกๆ จากสัตว์ป่านานาชนิดตามความเชื่อโบราณ รศ.ร.อ.ชัยวัฒน์ กิตติกูล อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรรมการสมาคมไวรัสวิทยา (ประเทศไทย) ภาพแสดงการแพร่กระจายของไวรัส 2019-nCoV