จากกรณีคนร้ายก่อเหตุกราดยิงกลางเมือง จ.นครราชสีมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก สร้างความสะเทือนขวัญและสะเทือนใจกันทั้งประเทศ พร้อมแสดงความเสียใจและให้กำลังใจครอบครัวผู้สูญเสีย ล่าสุด นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก Chaturon Chaisang ระบุว่า...รัฐบาลควรทำอะไรเกี่ยวกับกรณีโศกนาฏกรรมที่โคราช(ตอนที่ 1) ก่อนอื่นผมต้องขอแสดงความเสียใจอย่างที่สุดอีกครั้งหนึ่งต่อครอบครัวผู้สูญเสียทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่ หวังว่าผู้ได้รับความเสียหายและผลกระทบทั้งหลายจะได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสมและมีกำลังใจเข้มแข็งในการฟันฝ่าความทุกข์ยากในครั้งนี้ต่อไปได้ หวังว่าทุกฝ่ายในสังคมไทยโดยเฉพาะผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบจะสามารถสรุปบทเรียนเพื่อหาทางแก้ไขสิ่งที่เป็นปัญหา เพื่อป้องกันมิให้เกิดความรุนแรงที่ทำให้ให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงเช่นนี้ขึ้นอีกในอนาคต ก่อนหน้านี้ผมได้แสดงความเสียใจต่อผู้สูญเสียไปบ้างแล้ว หลังจากนั้นก็ไม่ได้แสดงความคิดเห็นอะไรอีก ต่อมาเห็นมีการเสนอความคิดเห็นต่างๆทั้งที่เป็นการเสนอปัญาและที่เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับสิ่งที่ควรทำหรือแก้ไขปรับปรุงในหลายๆประเด็น ทำให้ผมคิดว่าน่าจะพยายามเสนอความคิดเห็นที่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมดูบ้าง รัฐบาลควรทำอะไรเกี่ยวกับกรณีโศกนาฏกรรมที่โคราช การเยียวยาผู้เสียหาย เชื่อว่ารัฐบาลคงพยายามเยียวยาผู้เสียหายเต็มกำลังความสามารถ ในส่วนของผู้เสียหายที่เป็นข้าราชการนั้นมีระเบียบรองรับอยู่แล้ว แต่ที่จะมีปัญหาคือประชาชนซึ่งเป็นผู้เสียหายส่วนใหญ่เนื่องจากระเบียบทางราชการเกี่ยวกับการเยียวยาผู้เสียหายอาจจะไม่ครอบคลุมถึงกรณีอย่างนี้ ทำให้การเยียวยาไม่เพียงพอหรือน้อยเกินไปปรกติทางราชการจะมีระเบียบเกี่ยวกับการเยียวยาผู้ประสบภัยธรรมชาติ ภัยพิบัติหรือผู้ได้รับความเสียหายจากการก่อความไม่สงบ แต่ไม่น่าจะครอบคลุมถึงกรณีที่ได้รับความเสียหายจากเจ้าหน้าที่ในราชการที่ใช้อาวุธของทางราชการเช่นนี้ ยกตัวอย่างว่าถ้าความเสียหายครั้งนี้เกิดจากการกระทำของภาคเอกชน คงมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจำนวนมหาศาล แต่เมื่อกรณีนี้ความเสียหายเกิดจากความบกพร่องของภาครัฐหรือหน่วยงานราชการเอง สิ่งที่รัฐบาลควรคิดก็คือจะชดใช้เยียยวยาแก่ผู้เสียหายทั้งหลายอย่างเหมาะสมโดยไม่รอให้ต้องมีการฟ้องร้องได้อย่างไรรัฐบาลควรส่งเสริมให้มีการสรุปเรื่องใดบ้าง คุยกันต่อพรุ่งนี้ครับ รัฐบาลควรทำอะไรเกี่ยวกับกรณีโศกนาฏกรรมที่โคราช(ตอนที่ 2) 1.กระทรวงกลาโหมควรตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีที่ค่ายทหารปล่อยให้ทหารปล้นชิงอาวุธสงครามออกจากค่ายไปสังหารประชาชนจำนวนมาก หากพบว่ามีมาตรการที่หละหลวม ประมาทเลินเล่อในการดูแลรักษาก็ต้องลงโทษผู้กระทำผิด 2.กระทรวงกลาโหมควรสั่งให้กองทัพบกยกเครื่องมาตรการรักษาดูแลอาวุธในค่ายทหารและในคลังอาวุธทั่วประเทศ 3.นายกรัฐมนตรีควรตั้งคณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงสรุปบทเรียนจากกรณีที่เกิดขึ้นในมิติสำคัญทุกมิติ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก ที่สำคัญเพื่อประโยชน์ในการวางมาตรการดูแลรักษาอาวุธในค่ายทหารหรือในคลังแสงต่างๆ ปรับปรุงมาตรการในการรับมือกับอาชญากรรมร้ายแรง วินาศกรรม การก่อความไม่สงบและการก่อการร้าย ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับประชาชน ข้อเสนอ 3 ข้อนี้ดูจะมีอุปสรรคสำคัญอยูที่การแสดงออกและคำพูดของนายกรัฐมนตรี เนื่องจากนายกฯเกิดพูดไปแล้วว่าไม่มีความหละหลวม เรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัว ถ้ากองทัพไม่ดีจะอยู่มาเป็น ร้อยปีได้อย่างไรเป็นต้น เช่นนี้แล้วถ้าผู้สอบสวนหรือศึกษาหาข้อสรุปเรื่องนี้ไม่กล้าหาญตรงไปตรงมาจริงก็จะไม่กล้าพูดหรือเสนออะไรที่ขัดกับนายกฯ หากจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามข้อ 1 นายกฯคงต้องออกมาพูดให้ชัดเจนว่าให้สอบอย่างตรงไปตรงมาที่สุด ส่วนการตั้งคณะกรรมการเพื่อสรุปบทเรียนนั้น ควรหาพลเรือนผู้ที่มีความรู้ประสบการณ์และน่าเชื่อถือมาเป็นประธาน โดยอาศัยอดีตทหารตำรวจผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์และสังคมยอมรับและนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องเช่นผู้นำชุมชน หน่วยกู้ภัย สื่อมวลชน นักจิตวิทยา นักสังคมวิทยา ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการต่อต้านอาชญากรรร้ายแรงเป็นต้น ทราบว่ามีการเสนอให้สภาฯตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน ผมคิดว่าก็ทำคู่ขนานกันไปตามหน้าที่ของแต่ละฝ่าย ซึ่งก็จะมีข้อดีข้อเสียไปคนละแบบ ถ้านายกฯตั้งคณะกรรมการก็อาจตั้งแบบขอไปทีหรือไม่ต้องการให้เอาจริงเอาจังอะไร จึงสำคัญที่บุคคลที่จะมาเป็นกรรมการ ส่วนคณะกรรมาธิการที่สภาฯจะตั้ง(ถ้าตั้ง) อาจจะช่วยถ่วงดุลได้บ้าง แต่ก็อาจเจอเกมการเมืองของฝ่ายรัฐบาลหาทางลดความสำคัญคล้ายกับที่เกิดขึ้นกับคณะกรรมาธิการการศึกษาการแก้รัฐธรรมนูญก็ได้ อย่างไรก็ดีเรื่องนี้ฝ่ายต่างๆก็คงต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดขึ้นและคอยติดตามการทำงานของคณะกรรมการต่างๆ ไม่ปล่อยให้ถูกสกัดกั้นขัดขวางจากรัฐบาลจนไม่เกิดผลอะไร ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องคุยกันต่อครับ อาจจะเริ่มด้วยเรื่องการสรุปบทเรียนว่ามีหัวข้ออะไรบ้าง