สำหรับ เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก เป็นอีกหนึ่งโครงการใหญ่ที่ยูเนสโกดำเนินงานควบคู่กับการประกาศแหล่งมรดกทางธรรมชาติและประวัติศาสตร์ของโลก ซึ่งเวลานี้ประเทศไทยมีเมืองสร้างสรรค์อยู่ 4 เมือง คือ ภูเก็ต เป็นเมืองแห่งอาหาร เชียงใหม่ เป็นเมืองแห่งหัตถกรรม ศิลปะพื้นบ้าน สุโขทัย เป็นเมืองแห่งหัตถกรรม ศิลปะพื้นบ้าน และกรุงเทพ เป็นเมืองแห่งดีไซน์ โดยทางองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ ได้เตรียมขยายผลนำแนวคิดด้านแผนงานการพัฒนาสภาพแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐานท้องถิ่น และทรัพยากรที่โดดเด่นของพื้นที่ ต่อยอดพัฒนาเมืองในพื้นที่พิเศษอื่นๆ มุ่งสู่เมืองสร้างสรรค์ พร้อมรับชาวต่างชาติที่จะมาท่องเที่ยวประเทศไทยอีกครั้ง พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้พร้อม ทั้งนี้ นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตไวรัสโคโรนา ทางอพท.ได้รับมอบนโยบายจากรัฐมนตรีการท่องเที่ยว และกีฬา ตามแผนระยะสั้น คือ ให้ควบคุมโรคดังกล่าวไม่ให้เกิดการระบาด พร้อมแสดงไมตรีจิตกับนักท่องเที่ยวชาวจีน ส่วนแผนระยะยาวในช่วงที่จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงนี้ ทางประเทศไทยจะต้องพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสร่วมกันปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวให้มีความพร้อม รวมทั้งแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นปัญหาในช่วง 3-4 เดือนต่อจากนี้ เพราะเมื่อถึงเวลาที่นักท่องเที่ยวกลับมาใหม่ประเทศไทยจะได้มีความพร้อมรับในทุกๆ ด้านอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในส่วนชุมชนที่ อพท.รับผิดชอบ พร้อมที่จะนำเสนอต่อนักท่องเที่ยว ในเวลานี้มีประมาณ 22 ชุมชน รวมทั้งชุมชนที่อยู่ในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอีก 80 ชุมชน โดยมีอย่างน้อยประมาณ 40 ชุมชนที่พร้อมขายได้เลยส่วนใหญ่จะเป็นชุมชนที่อยู่ในเขตพื้นที่อันดามันนั้น ทางอพท.จะต้องนำเสนออัตลักษณ์ และปรับปรุงภูมิทัศน์ เพื่อพร้อมรับนักท่องเที่ยวได้อย่างมีศักยภาพ ขณะที่ในส่วนของ จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นเมืองแห่งหัตถกรรม ศิลปะพื้นบ้าน นั้น นอกจากเป็นเมืองมรดกโลกแล้ว ยังมี ความโดดเด่นในเรื่องของวิถีชีวิต เป็นเมืองที่ผู้คนเติบโตมาพร้อมกับงานศิลปะ อาทิ การทอผ้าตีนจก การทำเครื่องสังคโลก ศิลปะปูนปั้น งานไม้ และงานลวดลายทองคำหรือทองสุโขทัย ซึ่งทุกอย่างล้วนมีความสวยงาม มีอัตลักษณ์ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักชื่นชอบของนักท่องเที่ยวและผู้มาเยือน ดังนั้นการดำเนินการพัฒนาสุโขทัยสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ จึงต้องจัดสรรงบประมาณ และบูรณาการงบประมาณกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถให้กับชุมชนเมืองนี้ พร้อมกับแผนที่จะนำเสนอพื้นที่พิเศษอื่น ๆ ของ อพท. เข้าสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์โลกด้วย ในปัจจุบันเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกทั่วโลกมีทั้งหมด 246 เมือง โดยเมืองสมาชิกที่เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย จะถูกคัดเลือกมาจากทุกทวีปและภูมิภาค ที่มีระดับรายได้และประชากรแตกต่างกัน แต่มีการทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุภารกิจร่วมกัน ดังนั้นการวางความคิดสร้างสรรค์และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่เป็นแกนหลักของแผนพัฒนาเมืองของแต่ละเมืองที่ได้รับคัดเลือกนั้นจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัย และสอดคล้องกับวาระการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของสหประชาชาติภายในปี 2573 กระตุ้นท่องเที่ยวแบบองค์รวม ด้าน นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า ในส่วนภูเก็ต เป็นเมืองสร้างสรรค์แห่งอาหาร และมีเศรษฐกิจแบบขาเดียว ไม่เหมือนจังหวัดอื่นๆ อย่าง จังหวัดสุโขทัย มีทั้งการท่องเที่ยว และการเกษตร ขณะที่จังหวัดภูเก็ตจะเป็นการท่องเที่ยวอย่างเดียว ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ซึ่งในช่วงนี้จึงต้องรวมพลัง และพูดคุยกันในเรื่องของการโปรโมท การให้โอกาสของคนที่ต้องการจะมาเที่ยว หรือทำกิจกรรมเล็กๆ ผ่านเครือข่าย เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวแบบองค์รวม และในฐานที่เป็นผู้นำทางด้านอาหาร จากยูเนสโก คงใช้โอกาสตรงนี้เพื่อแก้วิกฤตที่ภูเก็ตกำลังเผชิญปัญหาจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง ด้วยการนำเสนอการท่องเที่ยวในเชิงวัฒนธรรม ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 เรื่อง คือ อาคาร อาหาร และอาภรณ์ นำอาหารมาเล่าเป็นเรื่องราวที่อยู่ในทุกประเพณีของความเชื่อต่างๆ รวมทั้งอาหารที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของชาวภูเก็ตที่ผสมผสานระหว่างตะวันออก และตะวันตกได้อย่างลงตัว โดยจะให้ความปลอดภัยในเรื่องอาหารเป็นหลัก เป็นปัจจัยในการขยายโอกาส ขณะที่ นางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล ประธานกรรมการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวในฐานะผู้ริเริ่มการขับเคลื่อนและผลักดันแนวคิดเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของจังหวัดสุโขทัยว่า ได้วางแนวทางการพัฒนาจังหวัดสุโขทัยภายหลังได้รับการประกาศเข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน โดย อพท. จะร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัยและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการรวบรวม ฟื้นฟู พัฒนาและต่อยอดงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านของจังหวัดสุโขทัย โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเป็นปัจจัยในการขยายโอกาสทั้งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมพื้นถิ่น เพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และการพาณิชย์แก่ผู้ผลิตงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ตลอดจนผู้ประกอบการด้านวัฒนธรรมในพื้นที่ เพื่อสร้างกลไกขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในระดับฐานราก โดย แนวทางการทำงานดังกล่าว จะส่งผลต่อการขยายตัวของรายได้จากการท่องเที่ยวของจังหวัดและภาพรวม และยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านงานศิลปหัตถกรรม และความร่วมมือระหว่างจังหวัดสุโขทัยกับสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโกกว่า 246 เมืองจากทั่วโลก ซึ่งการทำงานดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือจากจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทุกภาคส่วน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนให้การขับเคลื่อนเป็นไปตามเป้าหมายของการเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์