"นิพนธ์-จุรินทร์" ร่วมตรวจราชการจ.พัทลุง ย้ำ ความปลอดภัยบนท้องถนน กำชับ กน.ผญบ.เรื่องตำบลขับขี่ปลอดภัย ด่านครอบครัว ด่านชุมชน หวังลดอัตราการตายตลอดทั้งปี เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 9 ก.พ. 2563 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคณะได้เดินทางมาตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดพัทลุง โดยรองนรม.ฯจุรินทร์ได้เป็นประธานเปิดงานสัมมนา E - Commerce และ Startup "เศรษฐกิจทันสมัย การค้าก้าวไกลไปกับดิจิทัล" ณ ห้องทองอินทร โรงแรมชัยคณาธานี อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง โดยมีนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยการจัดงานมุ่งหวังเพื่อผลักดัน ให้ผู้ประกอบการในยุคดิจิทัล มีองค์ความรู้ที่กว้างขวางขึ้นในหลากหลายมิติ และสามารถเติบโตอยู่รอดได้ในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลง ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้มีทักษะ ความเชี่ยวชาญ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจฐานรากแก่พื้นที่ได้ต่อไป จากนั้นคณะของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนรม.และรมว.พณ. ได้เดินทางไปพบปะ เพื่อชี้แจง ขับเคลื่อนนโยบายประกันรายได้สินค้าเกษตร ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อสร้างหลักประกันรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยมี ผวจ.พัทลุง หัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มเกษตรกรและประชาชน เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ณ หอประชุมเทศบาลตำบลควนขนุน และ หอประชุมอำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง นายนิพนธ์ กล่าวในเวทีพบปะหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและพี่น้องประชาชน ว่า ความปลอดภัยบนท้องถนนเป็นเรื่องที่ทุกส่วนฝ่ายต้องร่วมด้วยช่วยกัน เพราะ อัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนในแต่ละปีนั้นมีจำนวนกว่า 2 หมื่นราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้บริหารท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้ที่มีหน้าที่โดยตรงในการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน จะต้องตระหนักและรับรู้ถึงความสูญเสียชีวิตบนท้องถนนว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ดังนั้น การป้องกันการสูญเสียฯต้องเริ่มที่ด่านครอบครัวและด่านชุมชน โดยกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและท้องถิ่น มีความใกล้ชิดและมีหน้าที่โดยตรงเพื่อสร้างให้เป็นพื้นที่ตำบลขับขี่ปลอดภัย ได้ต่อไป นอกจากนี้ รมช.มท.ยังย้ำอีกว่า การดำเนินการเพื่อให้เกิดเป็นตำบลขับขี่ปลอดภัยนั้น จะต้องมีการทำอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อหวังลดอัตราการตายลงอีกกว่าร้อยละ 20