รูปเงาแห่งเสียง / อติภพ ภัทรเดชไพศาล
คะ หรือ ค่ะ หรือ ขะ อย่างไหนถูกอย่างไหนผิด?
เรื่องของภาษา คือเรื่องของ “ความเปลี่ยนแปลง” เพราะภาษาเป็นสิ่งที่ไม่หยุดนิ่ง และเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคม-วัฒนธรรม ฯลฯ
ดังนั้น คำว่า “เดี๋ยว” หากจะเขียนให้ถูกต้องตามมาตรฐานของราชสำนักอยุธยา ก็คงต้องเขียนว่า “ด๋ยว” (ไม่มีทั้งสระเอและสระอี)
เช่นเดียวกับคำว่า “เสียง” ก็ต้องเขียนว่า “สยง”
หรืออย่างคำว่า “ยัง” หรือ “ดัง” ตามมาตรฐานของราชสำนักอยุธยาก็ต้องเขียนว่า “ยงง” และ “ดงง” เป็นต้น
แต่ก็อย่างที่พระยาอุปกิตศิลปสารเคยชี้แจงไว้ ว่าการสะกดคำว่า “ยัง” หรือ “ดัง” ด้วย ง งู สองตัวแบบเดิมนั้นเป็นอะไรที่รกรุงรัง และไม่สะดวกกับการใช้งานจริง ดังนั้น ในเวลาต่อมา (อย่างน้อยก็ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์) คำว่า “ยงง” จึงถูกเปลี่ยนมาเขียนว่า “ยัง”
ที่จริง ความเปลี่ยนแปลงของภาษาไทยยังปรากฏหลักฐานชัดเจนอยู่ในคำสร้อยโคลงต่างๆ เช่น คำว่า ฤ แล นา ฯลฯ
เพราะคำเหล่านี้แม้จะดูเป็นของโบราณพ้นสมัยสำหรับคนปัจจุบัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังคงได้รับการใช้งานอยู่จนทุกวันนี้ โดยที่คนส่วนมากไม่ตระหนักเลยว่าเป็นคำๆ เดียวกัน
เช่นคำสร้อยโคลงที่ว่า “ฤๅ” ก็คือคำเดียวกับ “หรือ”
“แล” ก็คือ “แหละ” ในภาษาปากปัจจุบัน
“นา” ก็คือ “นะ” หรือ “น่า”
ดังนั้น สร้อยโคลงอย่างคำว่า “แลนา” แท้จริงแล้วจึงเป็นคำเดียวกับภาษาปากปัจจุบันว่า “แหละนะ” หรือ “แหละน่า” นั่นเอง
จากคำโคลงโบราณเหล่านี้ เรายังเรียนรู้ว่า คำหลายคำไม่จำเป็นต้องมีรูปวรรณยุกต์ที่ถูกต้องเพียงหนึ่งเดียว เช่นคำว่า “จึง” ก็อาจถูกเขียนเป็น “จึ่ง”
หรือคำว่า “ดัง” ก็อาจเขียนว่า “ดั่ง” ได้เช่นกัน
และถ้าจะว่าไปให้ไกลกว่านั้น ที่ครูบาอาจารย์หลายคนเคยวิตกกังวลเรื่องคนในปัจจุบันมักใช้คำว่า “คะ” หรือ “ค่ะ” ไม่ถูกนั้น แท้ที่จริงแล้ว ทั้งสองคำนี้แตกต่างกันอย่างไรหรือ?
เพราะการออกเสียงจริงในการพูดภาษาไทย (และทุกๆ ภาษา) การผันเสียงนั้นไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนและขึ้นกับบริบทหรือถ้อยคำที่แวดล้อม และที่สำคัญยังขึ้นกับความนิยมของยุคสมัย ของท้องถิ่นที่ผันแปรและไม่คงที่
นอกจากนั้นยังมีประเด็นเรื่องไวยากรณ์ที่ครูอาจารย์หลายคนยังไม่สามารถเห็นตรงกันได้ว่า คำตายเสียงสั้นอย่างคำว่า “คะ” หรือ “นะ” นั้น สามารถผันเสียงด้วยไม้เอกได้หรือไม่?
และถ้าคำว่า “คะ” ไม่ควรผันเสียงด้วยไม้เอกได้จริง คำว่า “ค่ะ” นี้ก็สมควรถูกเขียนว่า “ขะ” แทนใช่หรือไม่?
ตัวอย่างของการใช้คำว่า “คะ” หรือ “ขะ” (หรือกระทั่ง “ค้ะ”) นี้มีปรากฏอยู่ในบทละครร้องสลับพูดเรื่อง “พระลอ” ของ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ที่แต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ดังจะคัดมาให้ดูต่อไปนี้
“พระลอ : พระเพื่อนได้ยินอะไรบ้างไหม ยังไง พี่แว่วๆ เหมือนเสียงใครโห่ร้อง ครั้งยิ่งฟังๆ ไปกลายเป็นก้องฝีเท้าทหารไปก็เป็นได้
พระเพื่อน : เพค้ะ หูหม่อมฉันก็แว่วไปเช่นนั้นเหมือนกันนั่นและ...
…
พระเพื่อน : พระน้องจะกราบทูลตอบว่าอะไรเล่า
พระแพง : ก็พระพี่ละเพขะ
พระลอ : พี่ตอบแทนพระน้องทั้งสองพระองค์ได้แหมล่า ตอบว่าจริงเพคะ ถูกไหม
พระเพื่อน : พระลอรับสั่งแล้วนิเพขะไม่จริงไม่ถูกมีบ้างหรือ
พระแพง : เปล่งจากโอษฐ์พระลอแล้ว ถึงอย่างไรๆ ก็ชื่นใจหนะขะพระพี่”
ทั้งหมดนี้จึงเป็นหลักฐานที่น่าสนใจ ว่านักปราชญ์เมื่อก่อนท่านคิดเห็นอย่างไรกับการใช้คำว่า “คะ” “ค่ะ”
หรืออาจเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นการออกเสียงที่ผิดแปลกออกไปในพื้นที่และเวลาที่แตกต่างไปจากปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
ภาพ...พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์