ฝนหลวงฯ ช่วงชิงสภาพอากาศ วางแผนบินช่วยพื้นที่เกษตร พื้นที่เสี่ยงขาดน้ำอุปโภคบริโภค และพื้นที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำเค็มทางภาคใต้
เมื่อวันที่ 10 ก.พ. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ทางกรมอุตุนิยมวิทยา ให้ข้อมูลพยากรณ์อากาศว่าการเข้าสู่ฤดูฝนของปี 2563 จะล่าช้ากว่าปีก่อนประมาณ 2 สัปดาห์ โดยจะเริ่มมีฝนตกในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป และมีฝนตกค่อนข้างน้อย ดังนั้น ระยะเวลาของการประสบปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ต่างๆ จะมีความยาวนานมากขึ้น จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมกันใช้น้ำกันอย่างประหยัด และทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะติดตามสภาพอากาศเป็นประจำทุกวันอย่างต่อเนื่อง เพื่อวางแผนช่วงชิงสภาพอากาศปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ (9 ก.พ.63) หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.สุราษฎร์ธานี ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่มีการร้องขอ ทำให้มีฝนตกเล็กน้อยบริเวณ อ.ชะอวด จุฬาภรณ์ ร่อนพิบูลย์ ทุ่งสง เฉลิมพระเกียรติ เชียรใหญ่ พระพรหม ลานสกา ช้างกลาง และนาบอน จ.นครศรีธรรมราช
ด้านแผนการปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2563 ตามที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยออกประกาศเขตพื้นที่ภัยแล้ง ยังคงมีจำนวน 20 จังหวัด (รวม 116 อำเภอ 637 ตำบล 3 เทศบาล 5,614 หมู่บ้าน) คือ บริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ที่ จ.เชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ และภาคกลาง ที่ จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี สุพรรณบุรี และฉะเชิงเทรา ขณะที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของปริมาณน้ำเก็บกัก เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 19 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 126 แห่ง จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมกันรณรงค์ใช้น้ำอย่างประหยัด เนื่องจากในปีนี้ปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่ลุ่มรับน้ำมีปริมาณน้ำน้อย
ด้านจุดความร้อนหรือจุดที่มีการเผาไหม้ (Hotspot) ในประเทศไทย พบว่ามีจำนวน 180 จุด กระจายอยู่บริเวณพื้นที่ภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้คุณภาพอากาศทางภาคเหนืออยู่ในเกณฑ์เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ส่วนพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ในเกณฑ์คุณภาพอากาศดี และในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่าค่าคุณภาพอากาศกลับมาอยู่ในเกณฑ์เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และคุณภาพอากาศปานกลาง ดังนั้น จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมกันลดการเกิดปัญหาฝุ่นละอองในอากาศโดยงดการเผาทุกชนิดทั้งในพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ป่า
สำหรับการติดตามสภาพอากาศเพื่อวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก พบว่า จากผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ฝนหลวงในพื้นที่ มีความชื้นสัมพัทธ์ที่ระดับการเกิดเมฆต่ำกว่า 60% ความชื้นสัมพัทธ์ที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆต่ำกว่า 60% ค่าดัชนีการยกตัวของอากาศมีค่ามากกว่า -2.0 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ทั้ง 4 ภูมิภาค จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลง เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง จะวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทันที ส่วนพื้นที่ภาคใต้ จากผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์พนมจ.สุราษฎร์ธานี และสถานีเรดาร์ปะทิว จ.ชุมพร พบว่า มีความชื้นสัมพัทธ์ที่ระดับการเกิดเมฆ 96% (พนม) 64% (ปะทิว) ความชื้นสัมพัทธ์ที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 57% (พนม) 89% (ปะทิว) ค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ 0.2 (พนม) 2.8 (ปะทิว) และความเร็วลมที่ระดับการเกิดเมฆ 43 กม./ชม. (พนม) 41 กม./ชม. (ปะทิว) หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.สุราษฎร์ธานี จึงวางแผนช่วงชิงสภาพอากาศขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงภารกิจที่ 1 ขั้นตอนก่อนกวน ช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำอุปโภคบริโภค จ.สุราษฏร์ธานี และจ.ชุมพร ภารกิจที่ 2 ขั้นตอนก่อกวน ช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำอุปโภคบริโภคบริเวณ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช อ.ระโนด
จ.สงขลา และพื้นที่การเกษตร จ.สงขลา นครศรีธรรมราช รวมถึงพื้นที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำเค็ม บริเวณทะเลสาบสงขลาด้วย
"อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศ จะติดตามสภาพอากาศทุกวันอย่างต่อเนื่อง และจะเร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในทุกพื้นที่ทันทีเมื่อสภาพอากาศเหมาะสม ทั้งนี้ สามารถแจ้งการขอรับบริการฝนหลวงได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทุกภูมิภาคของประเทศ และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ทางเว็บไซต์/เพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร"อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าว
