นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล จิตแพทย์ชื่อดัง โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล (Kampanart Tansithabudhkun, M.D.) ระบุว่า... ... ทำไมต้องรีบวิเคราะห์??? . ....คำว่าการตั้งข้อสงสัย กับการวิเคราะห์...เหมือนกันหรือ? . ... หลังจากที่ติดตามข่าวเรื่องการก่อคดีอุกฉกรรจ์ซึ่งเป็นข่าวดังของบ้านเมืองเราเมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา มีสื่อหลายช่องพยายาม จะวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับเรื่องพฤติการณ์แห่งคดี สาเหตุของการก่อคดีและอะไรต่างๆมากมาย สถานีโทรทัศน์บางช่องก็นำเสนอเฉพาะข้อมูลความคืบหน้าของการดำเนินงานซึ่งผมคิดว่าอันนี้ก็ไม่เป็นไรถือว่าโอเคพวกเราก็ติดตามด้วยใจจดใจจ่อ . ... ในขณะที่สื่อบางสำนักก็พยายามจะใช้คำว่า"วิเคราะห์สถานการณ์" หรือ "วิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ก่อเหตุ" ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ผมมองว่าเรามีสิทธิ์ที่จะตั้งข้อสงสัยแต่การมาใช้คำว่าวิเคราะห์แล้วเชิญผู้เชี่ยวชาญบ้าง ไม่เชี่ยวชาญบ้าง บางทีก็เอาหมอประจำช่องทีวี เจ้าประจำ ที่พูดมั่วไปมั่วมา ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญอะไรเลย มาเป็นองค์ประกอบของการขายข่าวไปวันๆคงไม่เกิดประโยชน์อะไรแถมจะเกิดผลเสียให้กับสังคมอีกมากมาย . ..., ยกตัวอย่างเช่น การนำเสนอข้อมูลแล้วทำให้เกิดการตื่นตระหนกหรือความสับสน บางครั้งก็ทำให้ประชาชนที่ไม่ได้มีความรู้เอาข้อมูลผิดๆไปจับเหมารวมกันว่าต้องเป็นคนแบบนี้แบบนั้นแน่ๆเลยที่น่ากลัวแล้วไปก่อเหตุ เช่น ติดเกมหรือเปล่า ครอบครัวไม่อบอุ่นหรือเปล่า ติดยาหรือเปล่า เป็นโรคจิตมั้ย???? . ... คำถามก็คือ มีใครได้ข้อมูลอย่างละเอียดบ้างหรือยัง เพราะมองว่าสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้คือการช่วยเหลือชีวิต ของประชาชนอีกมากมาย ส่วนการที่จะเอาข้อมูลพื้นฐานของผู้ก่อเหตุมาวิพากษ์วิจารณ์หรือเอามาวิเคราะห์นั้นคงต้องใช้เวลาอีกเยอะไม่ใช่การวิเคราะห์กันโครมๆ ตามหน้าสื่อต่างๆในช่วงเวลาวิกฤต ซึ่งโอกาสผิดพลาด มีสูงมาก . ... มีตัวอย่างที่เห็นแล้วก็รู้สึกไม่ค่อยสบายใจเช่น การนำผู้เชี่ยวชาญทางด้านอาชญาวิทยามาวิเคราะห์ทางด้านจิตวิทยา... ซึ่งในฐานะที่เป็นบุคลากรทางด้านสุขภาพจิต ฟังแล้วรู้สึกไม่สบายใจเพราะ ประเด็นคำถามและประเด็นคำตอบมันเริ่มจะมั่วๆแล้วก็หลงทาง เช่น การจะก่อคดีหรือไม่ก่อคดีเกิดจากครอบครัวอบอุ่นหรือไม่อบอุ่น ซึ่งไม่ใช่ความจริงทั้งหมด มีคนจำนวนมากที่ครอบครัวไม่อบอุ่นแต่ไม่ได้ก่อคดีก็เยอะแยะไป มีคนจำนวนมากที่ติดเกมงอมแงมแต่ก็ไม่ได้ก่อคดีก็เยอะแยะไป . ... ขอพูดในฐานะบุคลากรที่เคยทำงานทางด้านนิติจิตเวชซึ่งจริงๆมีองค์ประกอบทางด้านอาชญาวิทยา จิตวิทยา ทัณฑวิทยา และอื่นๆอีกมากมายที่ต้องนำมาประกอบร่วมกัน จะขอเน้นในเรื่องของจิตวิทยาซึ่งอาจจะต้องหมายความรวมถึงจิตเวชศาสตร์ด้วย ครับ . ... เวลาเรามองคนที่ มีปัญหาเรื่องการควบคุมตนเองแล้วไปก่อเหตุรุนแรงต่างๆไม่ว่าจะเป็นคดีเล็กน้อย หรือคดีใหญ่ๆ สิ่งที่เราควรจะต้องวิเคราะห์เราก็จะใช้หลัก อย่างน้อย 3 อย่างเช่น Bio Psycho Social . ...@Biological cause คือสาเหตุหรือปัจจัยทางด้านชีววิทยาเช่น ความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมองซึ่งอาจจะเกิดมาจากความเจ็บป่วยที่เป็นโรคเช่น โรคทางจิตเวชต่างๆหรือการถูกกระตุ้นด้วยการใช้สารเสพติดทั้งหลายที่รุนแรงจนทำให้เกิดการสูญเสียการควบคุมตัวเองหรือมีภาวะหวาดระแวงจนต้องใช้การป้องกันตัวเองออกมาเป็นรูปแบบความก้าวร้าวหรือเปล่า.... อันนี้เป็นสิ่งที่คนมักจะไม่ค่อยนึกถึง และมองข้ามไป แต่ในบทบาทของจิตแพทย์เราจะต้องมองตรงนี้เสมอ... และที่สำคัญไม่ใช่เป็นการมองเพื่อเข้าข้างผู้ก่อคดีหรือผู้ก่อเหตุแต่อย่างใด . @Psychological cause อันนี้จะหมายถึงสาเหตุทางด้านจิตใจซึ่งจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของ บุคลิกภาพ พัฒนาการทางด้านบุคลิกภาพ เรื่องคุณธรรมจริยธรรม พูดง่ายๆภาษาชาวบ้านอาจจะหมายความรวมถึง "อุปนิสัย" หรือ "สันดาน" นั่นเอง . .... ดังนั้นเราก็ต้องไปหาข้อมูลพื้นฐานก่อนหน้านี้ว่าคนที่ใช้ความรุนแรงมีพื้นเพที่มาอย่างไร เคยก่อเหตุแบบไหนมาก่อนเคยใช้ความรุนแรงมาก่อนไหมมีปัญหาเรื่องสัมพันธภาพกับคนรอบข้างอย่างไรบ้างความสามารถในการทำงานหรือการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเป็นอย่างไร รวมถึงวิธีการในการแก้ปัญหา เมื่อเข้าสู่ภาวะวิกฤตทางจิตใจด้วย . @Social คือสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวของผู้ก่อเหตุ ทั้งหลาย.... ว่ามีลักษณะของสิ่งแวดล้อมที่มากระตุ้นอย่างไรบ้าง . ..... ยกตัวอย่างเช่นสิ่งแวดล้อมที่ใช้ความรุนแรงกดดันบีบคั้นหรือ คอยกระตุ้นให้คนๆนั้นมีความเครียดอยู่ตลอดเวลา เรียกว่า High Emotional Expression เป็นสิ่งที่ต้องไปศึกษาแล้วก็หาข้อมูลอย่างละเอียด จะได้ไม่มาวิเคราะห์กันมั่วๆ . .... และที่เจอบ่อยๆมักจะเป็น ข้อมูลที่บางทีผู้สื่อข่าวก็ตั้งข้อสมมติฐานขึ้นมาเองซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นสาเหตุ ใดๆเลยที่นำไปสู่การก่อคดี เนื่องจากทุกอย่างเป็นความเร่งรีบแล้วพยายามสรุปเพื่อให้เข้า บล็อกตามที่ตัวเองสันนิษฐาน (อาจจะมั่วๆ เอา)​ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ . ... อีกมุมหนึ่งหนึ่งที่เราควรจะต้องศึกษาแล้วก็สังเกตดีๆ คือองค์ประกอบ 3 อย่าง 1 Predisposing Factor นั่นหมายถึงว่าพื้นฐานดั้งเดิมของผู้ก่อเหตุเหล่านั้นเป็นแบบไหน มีพื้นฐานของบุคลิกภาพหรือมีพื้นฐานของความเจ็บป่วยหรือปัญหาสุขภาพจิตมาอย่างไรแล้วจัดการปัญหา ในชีวิตที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง . 2. Precipitating Factor หมายถึงตัวกระตุ้น ณ เวลานั้นคืออะไร ตัวกระตุ้นรุนแรงมากแค่ไหน การเผชิญกับตัวกระตุ้นเหล่านั้นมีผลต่อ การจัดการปัญหาหรือสุขภาพจิตอย่างไร แล้วพิจารณาความเหมาะสมว่าตัวกระตุ้นเหล่านั้นมีความเหมาะสมสำหรับการไปใช้ความรุนแรง มากน้อยขนาดไหน... . เช่นถูกเพื่อนโกงเงิน 1,000 บาท แต่ต้องไปไล่ฆ่าพ่อฆ่าแม่ หรือจุดไฟเผาบ้านเขา ดูแล้วมันเยอะเกินไปทั้งๆที่จริงๆมีช่องทางอื่นหรือทางออก ที่น่าจะไม่ต้องใช้ความรุนแรงมากกว่านี้ได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ปริมาณของตัวเงินก็ไม่ได้เป็นตัวบอกถึงว่าจะใช้ความรุนแรงระดับไหน เนื่องจากมีปัจจัยอื่นๆเข้ามาเกี่ยวข้องอีกมากมายดังกล่าวมาข้างต้น . 3. Perpetuating Factor ตัวกระตุ้นที่ยังคงมีอยู่ตลอดเวลาถึงแม้ว่าจะแก้ปัญหาให้บางส่วนไปได้แล้วยกตัวอย่าง เช่น มีปัญหาสุขภาพจิตมีความเครียดระเบิดอารมณ์ รับประทานยาแล้วดีขึ้นแต่กลับไปเจอความเครียดตลอดเวลาที่บ้านไม่หายสักทีนึงโอกาสที่ยาจะช่วยควบคุมอาการต่างๆอาจจะไม่มีประสิทธิภาพมากพอแล้วกลับมาใช้ความรุนแรงต่ออีกก็ได้ เพราะฉะนั้นก็ควรจะต้องไปหาว่ามีตัวกระตุ้นอะไรที่ต่อเนื่องทำให้คนๆนั้นมีความเครียดอยู่ตลอดเวลาจนกระทั่งมาระเบิดอารมณ์อีกครั้งหนึ่งหรือหลายๆครั้ง . .... จุดเพิ่มเติมที่น่าสนใจก็คือ ลักษณะของผู้ก่อเหตุและสิ่งแวดล้อมของผู้ก่อเหตุที่เอื้ออำนวยซึ่งกันและกัน ที่จะนำมาซึ่งการสูญเสียและการใช้ความรุนแรงในสังคม ซึ่งในประเทศไทยก็มีประสบการณ์คล้ายๆกับในต่างประเทศ เช่น ประเทศอเมริกา เนื่องจากมีการเข้าถึงการใช้อาวุธได้มาก หรือเป็นบุคคลซึ่งมีความรู้ความสามารถ ทางด้านการใช้อาวุธและการก่อความรุนแรงจุดนี้ก็เป็นจุดที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่มีความเสี่ยงทั้งหลาย รวมถึงบุคลากรในหน่วยงานนั้นด้วยจะต้องมีกระบวนการ ที่เข้มงวดมากขึ้นอันนี้ก็จัดอยู่ในกลุ่มของ Social Factor นะครับ . ... ถ้าเราหาข้อมูลค่อนข้างละเอียดและเพียงพอเราสามารถเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ได้ และอาจจะมีความผิดพลาดค่อนข้างน้อย สิ่งที่เราได้กลับมาอีกอย่างหนึ่งคือเราได้การเรียนรู้เราได้ประสบการณ์เพื่อนำไปสู่การป้องกันไม่ให้เกิดเหตุอีกในอนาคตครับ . .... แต่การแค่ตั้งข้อสังเกตมั่วๆโดยข้อมูลไม่เพียงพอ อาจจะทำให้มีความผิดพลาดค่อนข้างสูงซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ สื่อมวลชนเองก็ควรจะต้องทำการบ้านมากขึ้นไม่ควรจะนำเสนอข้อมูลที่ตื่นเต้นเร้าใจแล้วก็รีบใช้คำว่า "วิเคราะห์" เร็วจนเกินไปเพราะมันก็คือความดราม่าผ่านไป 5 วัน 10 วันคนไทยแทบจะไม่ได้อะไรกลับมาเลยนอกจากความเครียด เสร็จแล้วก็ลืมมันไปแล้วเรื่องราวเหล่านี้ก็จะเกิดซ้ำๆอีก... ซึ่งในอดีตก็เคยมี ข่าวคล้ายๆแบบนี้เกิดขึ้นมาแล้วถามว่าทุกวันนี้ยังมีใครจำได้บ้างไหมแล้วสาเหตุเกิดจากอะไร.. ... หากเกิดกรณีของผู้ก่อเหตุ เสียชีวิตไปแล้วจะเนื่องด้วยสาเหตุใดๆก็ตามหากเรามีความต้องการอยากได้ข้อมูลที่มีประโยชน์เพื่อนำมาวิเคราะห์และทำให้เกิดประโยชน์ในอนาคตเราก็อาจจะต้องใช้กระบวนการที่เรียกว่า "Psychological autopsy" . ลองไปหาอ่านกันดูนะครับรายละเอียดอาจจะค่อนข้างเยอะแต่คิดว่ามีประโยชน์มากๆ . *********************************************** ฝากทิ้งท้ายครับ... . .... ในสถานการณ์วิกฤตของประเทศชาติ.... สิ่งที่คนไทยควรจะร่วมมือร่วมใจกันทำก็คือทุกคนช่วยกันส่งแรงใจไปให้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือให้ทุกๆคนปลอดภัยให้มากที่สุด ในขณะเดียวกัน เราซึ่งเป็นฝ่ายสนับสนุน น่าจะสงบปากสงบคำและไม่ควรเอาแต่ละเหตุการณ์มาวิเคราะห์วิจารณ์เพื่อให้เกิดความขัดแย้งหรือโยงเข้าประเด็นทางการเมืองอะไรมากมายครับ . ... ลองดูประเทศจีนเป็นตัวอย่าง ในยามที่เขาประสบภัยพิบัติ รัฐบาลก็เข้ามาจัดการปัญหาและควบคุมทุกอย่างเพื่อความอยู่รอด อาจจะมีโดนวิพากษ์วิจารณ์บ้างเรื่องความล่าช้าในการทำงาน . ... การพยายามโยงเข้าเรื่องการเมืองหรืออะไรก็แล้วแต่ อาจจะยิ่งทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก . ... อย่าลืมนะครับความสามัคคีเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เรารอดพ้นจากภัยพิบัติต่างๆได้... แต่ถ้าแตกความสามัคคีกันวันไหน ก็ทางใครทางมันครับ คงจะช่วยอะไรไม่ได้... . ... ขอแสดงความเสียใจมายังผู้สูญเสียอีกครั้งหนึ่งนะครับและขอขอบคุณและชื่นชมเจ้าหน้าที่ทุกๆฝ่ายที่ร่วมแรงร่วมใจช่วยให้สถานการณ์ผ่านพ้นไปได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว... ขอบคุณครับ