“สวนดุสิตโพล”มหาวิทยาลัยสวนดุสิตสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 1,088 คน เรื่อง ประชาชนคิดอย่างไร กรณี การอภิปรายไม่ไว้วางใจ 6 รัฐมนตรี ทำการสำรวจระหว่าง วันที่ 5-8 กุมภาพันธ์ 2563 เมื่อถามว่าประชาชนจะติดตามการอภิปรายที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 24-26 กุมภาพันธ์ หรือไม่ พบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.59 ระบุ ติดตาม เพราะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรก ประเด็นที่ฝ่ายค้านยื่นขอเปิดอภิปรายน่าสนใจ อยากฟังการชี้แจงของทั้ง 6 รัฐมนตรี ต้องการรู้ข้อมูลข้อเท็จจริงให้มากขึ้น ชอบติดตามข่าวการเมืองฯลฯ รองลงมาร้อยละ 29.32 ระบุ ไม่แน่ใจ เพราะต้องทำงาน อาจไม่มีเวลาติดตาม ทำให้เครียด การอภิปรายครั้งนี้คงไม่แตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา ฯลฯ ร้อยละ 25.09 ระบุ ไม่ติดตาม เพราะไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ไม่น่าจะเกิดประโยชน์กับประชาชนไม่อยากรู้ ไม่เชื่อถือนักการเมือง ฯลฯ ส่วนเรื่องที่ประชาชนสนใจหรืออยากให้มีการอภิปรายมากที่สุด ะบว่า ร้อยละ 44.52 ระบุ ผลงานของนายกรัฐมนตรีและฝ่ายรัฐบาล การไม่ปฏิบัติตามนโยบายที่ให้ไว้ รองลงมา ร้อยละ 33.56 ระบุ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน ร้อยละ 23.27 ระบุ การปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต ความไม่โปร่งใส เอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง ทั้งนี้เมื่อถามถึงสิ่งที่ประชาชนอยากเห็นจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 43.33 ระบุ ความเป็นระเบียบเรียบร้อย เคารพกฎกติกาในที่ประชุม รองลงมาร้อยละ 37.12 ระบุ ข้อมูลเป็นประโยชน์ สร้างสรรค์ ชัดเจน ตรงประเด็นตามข้อเท็จจริง ร้อยละ 33.48 ระบุ รัฐบาลปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น นำข้อเสนอแนะไปใช้ ขณะ สิ่งที่ประชาชนไม่อยากเห็นจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พบว่า ร้อยละ 51.21 ระบุ พฤติกรรมไม่เหมาะสม ทะเลาะกัน ประท้วงบ่อย ทำสภาล่ม รองลงมาร้อยละ 33.15 ระบุ ตอบคำถามไม่ชัดเจนไม่ตรงประเด็นพูดนอกเรื่องพูดเรื่องเดิม ร้อยละ 28.68 ระบุ ไม่เคารพที่ประชุม นั่งหลับ เล่นมือถือ ไม่เข้าประชุม ไม่รักษาเวลา อย่างไรก็ตาม เมื่อถามประชาชนคิดว่าจะได้รับประโยชน์จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือไม่ พบว่าร้อยละ 40.07 ระบุ ไม่แน่ใจ เพราะต้องรอดูจากการอภิปราย ขึ้นอยู่กับผลที่จะเกิดขึ้น ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ฯลฯ รองลงมาร้อยละ 33.92 ระบุ ได้ประโยชน์ เพราะได้รับรู้ข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้นจากทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ได้ฟังการชี้แจงจาก 6 รัฐมนตรี อาจมีข้อมูลใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ ช่วยให้เข้าใจการเมืองมากขึ้น ฯลฯ ร้อยละ 26.01 ระบุ ไม่ได้ประโยชน์ เพราะเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องของสภา นักการเมืองมัวแต่ทะเลาะโต้เถียงกันไปมา เป็นเพียงแค่เกมการเมือง รัฐบาลยังคงบริหารประเทศต่อไป ฯลฯ ทั้งนี้เมื่อถามว่าหลังการอภิปรายเสร็จสิ้นลง ประชาชนคิดว่าการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร ร้อยละ55.88 ระบุ เหมือนเดิม เพราะ คณะทำงานชุดเดิม รัฐบาลยังคงมีอำนาจและมีเสียงข้างมาก เหมือนกับการอภิปรายทุกครั้งที่ผ่านมา ฯลฯ รองลงมาร้อยละ 24.08 ระบุ น่าจะแย่ลง เพราะรัฐบาลแก้ปัญหาล่าช้า ไม่เป็นรูปธรรม มีปัญหารุมเร้าหลายเรื่อง สถานการณ์อาจบานปลายหรือแย่ลงกว่าเดิมฯลฯ ร้อยละ 20.04 ระบุ น่าจะดีขึ้น เพราะเป็นการกระตุ้นให้รัฐบาลเร่งทำงาน กระตือรือร้นมากขึ้นรู้ข้อบกพร่องหรือปัญหาที่ผ่านมา นำไปพัฒนาปรับปรุงฯลฯ