ก.แรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ผุดไอเดียระบบการฝึกออนไลน์ (DSD m-learning) ผ่านสื่อ วีดิทัศน์ (VDO Clip) และสื่อแอนิเมชัน (ภาพเคลื่อนไหว) สะดวก รวดเร็ว ทุกที่ ทุกเวลา ที่ไหน เมื่อไหร่ ก็เรียนได้ นำร่อง 4 สาขา ช่างไฟฟ้าอุตสาหกรรม ช่างเครื่องปรับอากาศ ช่างเชื่อม และช่างยนต์ นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ระบบการจัดการฝึกด้วยคอมพิวเตอร์ (Computer-Managed Instruction: CMI) และการฝึกแบบออนไลน์ (DSD m-learning) เป็นรูปแบบการฝึก (Platform) แบบหนึ่งที่กพร.จะนำมาให้บริการ ซึ่งปัจจุบันมีการพูดถึง Online Training Platform กันมากขึ้น การฝึกแบบ CMI จะเป็นรูปแบบการเรียนรู้ทางออนไลน์ โดยผู้ที่จะเข้าฝึกอบรมต้องลงทะเบียน เพื่อสมัครเข้าใช้งาน ระบบจะทำการบันทึกผลการเรียน เมื่อผ่านทุกบทเรียนแล้วสามารถนำใบรับรองที่ได้จากระบบ เป็นหลักฐานการเข้าฝึกภาคปฏิบัติได้ทันที นอกจากนี้ระบบ CMI ยังสามารถสร้างหลักสูตรใหม่ๆ หรือบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มเติมได้ตลอด สามารถให้บริการแก่ผู้รับการฝึกในวงกว้าง ไม่จำกัด สอดคล้องกับนโยบายของม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่มีนโยบายด้านการพัฒนาทักษะให้ทันต่อเทคโนโลยีและยกระดับการให้บริการประชาชนทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการได้หลากหลายช่องทาง ที่พิเศษกว่านั้นคือการฝึกของกพร. “ฟรี” ตลอดระยะเวลาการฝึกทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ อธิบดี กพร. กล่าวต่อไปว่า ผู้รับการฝึกสามารถ อ่าน ดูและฟังเสียง ได้ทุกที่ ทุกเวลา ที่ไหน เมื่อไหร่ ก็เรียนได้ และประหยัดค่าใช้จ่าย ผ่านสื่อวีดิทัศน์หรือสื่อแอนิเมชัน (ภาพเคลื่อนไหว) ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่รวดเร็ว ซึ่งระบบ 5G กำลังจะเข้ามา โดยสมัครเข้าฝึกอบรม ทำข้อทดสอบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อวัดระดับความรู้ แล้วระบบจะแจ้งว่าสามารถเข้าฝึกในระดับใด โดยระบบจะจัดโปรแกรมการเรียนให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามความสามารถและความถนัดของตน เป็นการจัดการศึกษารายบุคคลโดยใช้โปรแกรมบทเรียนคอมพิวเตอร์ เรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ จากเว็บไซต์ mlearning.dsd.go.th และบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ ผ่านแอพพลิเคชัน DSD m-Learning และเมื่อเรียนรู้ภาคทฤษฎีทางออนไลน์แล้ว ผู้รับการฝึกจะไปฝึกภาคปฏิบัติที่หน่วยงานในสังกัดกพร. ซึ่งสามารถเลือกว่าจะฝึกจังหวัดไหนก็ได้ ด้านนายประทีป ทรงลำยอง รองอธิบดีกพร. ในฐานะประธานพิธีเปิดสัมมนาการใช้งานระบบบริหารการฝึกอบรมด้วยคอมพิวเตอร์ (CMI) กล่าวว่า ระบบนี้ถูกออกแบบให้สามารถจัดเก็บผลการทดสอบภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ ไว้ในฐานข้อมูล(Database) คอมพิวเตอร์อย่างอัตโนมัติ ครูฝึกหรือผู้ประเมินสามารถกรอกคะแนนหรือบันทึกผลการประเมินภาคปฏิบัติที่ผู้รับการฝึกแต่ละคนได้รับ เมื่อระบบการฝึกนี้เสร็จสมบูรณ์ จะช่วยให้การพัฒนาทักษะกำลังแรงงานของประเทศมีความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายทั้งผู้เข้าฝึกอบรมและหน่วยงานภาครัฐ ในวันนี้ (7 กุมภาพันธ์ 2563) ได้เชิญผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในสังกัด กพร. ทั่วประเทศกว่า 100 คน มารับฟังแนวทางและระบบการฝึก เพื่อเตรียมความพร้อมและดำเนินการในปีต่อไป “ระบบการฝึกดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการฝึกภาคทฤษฎี และบริหารจัดการฝึกปฏิบัติดีขึ้น อีกทั้งเป็นการยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานเพื่อตอบสนองคนรุ่นใหม่รับเทคโนโลยีดิจิทัลด้วย โดยนำร่องใน 4 สาขา ได้แก่ ช่างไฟฟ้าอุตสาหกรรม ช่างเครื่องปรับอากาศ ช่างเชื่อม และช่างยนต์ และจะคัดเลือกจังหวัดที่มีความเชี่ยวชาญและมีความพร้อมฝึกภาคปฏิบัติ เพื่อทดลองใช้ระบบนี้ กำหนดจะเปิดให้บริการได้ในช่วงเดือนตุลาคม ปีนี้ (2563)” อธิบดีกพร. กล่าวทิ้งท้าย