สภาองค์กรชุมชน เป็นเสาหลักที่ 3ของพื้นที่ตำบล ถือเป็นคำตอบของประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือในชุมชนท้องถิ่น ที่จะพัฒนาต่อไปได้ยั่งยืน เป็นคำตอบที่ว่าประชาธิปไตยพื้นฐานไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว
หมายเหตุ : “สยามรัฐ” สัมภาษณ์พิเศษ “อนุศักดิ์ คงมาลัย” สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศและการจัดทำ และดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ การคุ้มครองผู้บริโภค ในคณะกรรมาธิการมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา นำเสนอสภาองค์กรชุมชน เสาหลักที่ 3 ของสังคมยุคใหม่ที่จะร่วมมือกันทำเพื่อชุมชน ท้องถิ่น เป็นคำตอบของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมในท้องถิ่นให้มีความยั่งยืน และตรงกับความต้องการของประชาชน มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้ “ ในวาระการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่เพียงแต่เป็นการแก้ไขกฎหมาย การปรับโครงสร้างหรือระบบของส่วนราชการเท่านั้น การที่จะทำให้เข้าใจได้ทั่วถึงทุกมิติ จะต้องลงไปให้ถึงกลไกภาคประชาชนในระดับตำบล ถ้าทำตรงนี้ได้การปฏิรูปจะดำเนินไปได้ดีมาก เพราะตรงกับความต้องการของประชาชน เป็นคำตอบของประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือซึ่งเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมแบบไทย เมื่อกลางปี 2562 ได้รับเชิญจากขบวนประสานงานระดับจังหวัด สภาองค์กรชุมชนตำบลในสุพรรณบุรี จัดได้มีการจัดประชุมสัมมนา เพื่ออภิปรายและนำเสนอแผนที่ตำบลต่างๆเกือบทั้งหมดในจังหวัดได้จัดทำขึ้น โดยได้รับความสนับสนุนจากผู้ว่าราชการจังหวัดที่จัดสรรงบประมาณให้แต่ละแห่งไปประชุมหารือเพื่อจัดทำแผนขึ้นมาว่ามีเรื่องใดบ้าง และแต่ละเรื่องนั้นสมาชิกเห็นว่าจะทำกันได้เอง ทำร่วมกับท้องถิ่น หรือเสนอให้ท้องถิ่นหรือส่วนจังหวัดไปช่วยสนับสนุนให้ จากการได้รับทราบกระบวนการที่เกิดขึ้นของสภาองค์กรชุมชนกว่า 100 แห่งในสุพรรณบุรี ทำให้พบว่า นี่คือกระบวนการศึกษาและเรียนรู้ปัญหา ภายในพื้นที่ตนเอง ซึ่งเดิมก็มีแต่เรียกร้องให้ทางราชการหรือท้องถิ่นมาแก้ไขให้เพียงอย่างเดียว ขณะที่ราชการหรือท้องถิ่นก็บอกว่าต้องการให้ประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วม แต่พอเอาโครงการลงมาจริงๆ กลับไม่ตรงกับปัญหาหรือเกิดปัญหาซ้ำซากเสียงบประมาณไปมากมาย เป็นเพราะไม่ได้ศึกษาความจำเป็นกับปัญหาที่แท้จริงก่อน แต่ถ้าได้มีการคิดและทบทวนโดยชุมชนแล้วกำหนดแผนความต้องการ ก็จะเกิดสามารถแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง เพราะฉะนั้นสิ่งต่าง ๆเหล่านี้จะตรงกับความต้องการระดับล่างมากขึ้น แม้หากมีข้อขัดแย้งเกิดขึ้น สมาชิกสภาองค์กรก็จะมีการตกลงกันบนความขัดแย้งเหล่านั้นก่อน ร่วมกันแก้ไขปัญหา พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน ประกาศใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ซึ่งกำหนดให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สังกัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นพี่เลี้ยง เนื่องจากไม่ใช่หน่วยราชการ จึงเริ่มมีการทยอยจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลตั้งแต่นั้นมาตามความพร้อมของแต่ละพื้นที่ ผู้ที่มาเป็นสมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้นำโดยธรรมชาติในชุมชน ระดับหมู่บ้านตำบล ผู้นำธรรมชาติกลุ่มนี้ไม่ต้องไปลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านหรือเป็นสมาชิกอบต. ซึ่งปกติเขาก็ร่วมกันทำกิจกรรมเอาแรงจิตอาสา เป็นกลุ่มอิสระกลุ่มย่อยๆที่สนใจปัญหาต่าง ๆกันที่มีอยู่ในหมู่บ้าน ตำบล หรือบางกลุ่มก็เป็นกลุ่มที่ถูกจัดตั้งไว้จากส่วนราชการเดิมๆซึ่งจะมีกิจกรรมก็ต่อเมื่อมีงบประมาณลงมา มีลักษณะทำตามโครงสร้างและกลไกงบประมาณที่กำหนดจากข้างบนลงไป แต่ตามกฎหมายพรบ.สภาองค์กรชุมชนดังกล่าว มุ่งให้สมาชิกช่วยสอดส่องดูแล ครอบครัวไหนยากจนมากมีปัญหา เรื่องที่อยู่อาศัย ก็มีกองทุนบ้านมั่นคงของรัฐบาลที่ทางกระทรวงฯให้การสนับสนุนเป็นนโยบายหลัก ใช้ทุนงบประมาณไม่เยอะ รายละไม่กี่หมื่น บาท แต่พอลงไปทำจริง ก็ยังได้รับความสนับสนุนจากคนในชุมชนกันเองหรือผู้ใจบุญช่วยสนับสนุนกลายเป็นความเอื้ออาทรที่มีให้กัน ส่วน เรื่องที่ดินทำกินมักเป็นประเด็นที่สาธารณะ หรือที่ของทางราชการ ซึ่งก็ช่วยให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างถูกต้องสมดุล แม้จะใช้เวลานาน แต่ก็ไม่ให้กลายเป็นประเด็นการเมืองไป ทั้งนี้ เพิ่งได้ตั้งกระทู้ถามเรื่องผลความคืบหน้าในการพัฒนาสภาองค์กรชุมชนตำบล ท่านนายกรัฐมนตรีมอบให้รมว.กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) นายจุติ ไกรฤกษ์ มาตอบแทน พบว่าทั่วประเทศเรามีสภาองค์กรชุมชน 7,000 กว่า แห่งที่ได้ตั้งไปแล้ว กลุ่มที่ประสบความสำเร็จระดับAกว่า 12 % ระดับ B 30% ระดับ C ราว 40% ที่เหลือก็เป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการสนับสนุนหรือสร้างความเข้าใจให้มากขึ้น ในพื้นที่ที่ยังไม่มีการจัดตั้งเนื่องจากยังมีช่องว่างของกฎหมายในการกำหนดพื้นที่ในเขตเทศบาลนครและเทศบาลเมืองซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเสนอแก้ไข งบประมาณที่กระทรวงได้รับมาสนับสนุนการจัดตั้งก็ถูกตัดลงไปเรื่อยๆและมีเพียงงบดำเนินการเพียงแห่งละ 4-6 พันบาทต่อปีเท่านั้น จากการติดตามผลการดำเนินงานที่ผ่านมาก็พบว่า กลไกสภาองค์กรชุมชนตำบลสามารถช่วยสนับสนุนภารกิจด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมระดับตำบลได้เป็นอย่างดี ที่ผ่านมาเรามีกลไกปกครองท้องที่ผ่านผู้ว่าฯ-นายอำเภอ ลงสู่กำนัน-ผู้ใหญ่ บ้านคอยดูแลด้านปกครองด้านความมั่นคง หลังปี 2537 เป็นต้นมา ก็ได้มีกลไกปกครองท้องถิ่น ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนสมัครรับเลือกตั้งมาเป็นผู้บริหารท้องถิ่น ด้วยเชื่อว่าจะสามารถจัดสรรทรัพยากรเพื่อพัฒนาท้องถิ่นตนเองได้ดีขึ้น แต่ว่าแม้จะมีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลที่ถือเป็นผู้แทนคนในตำบลนั้นก็ตาม แต่ด้วยกลไกสายบังคับบัญชาโดยเฉพาะเรื่องระเบียบวินัยและกลไกทางราชการผ่านกระทรวงมหาดไทยลงมา ก็กลับทำให้อบต.ก็กลายเป็น "ส่วนราชการย่อย" ที่ยังติดระบบราชการ ไม่ตอบโจทย์การมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน แม้ว่าทั้งสองกลไกจะไปทำประชาคมเรื่องต่างๆ แต่บางที ก็ต่างคนต่างทำ และวิธีการก็ยังไม่มีอิสระและไม่ได้พัฒนาวิธีคิดภาคประชาชนขึ้นมาเท่าใดนัก “สภาองค์กรชุมชนตำบลจึงถูกออกแบบให้เป็นกลไกภาคประชาชน ที่มีการตั้งกลุ่มย่อยๆขึ้นมาในแต่ละชุมชนโดยอิสระ แล้วไปจดแจ้งกับกำนันตามที่กฎหมายรองรับ การจดแจ้งไม่ได้ไปขออนุญาต เท่ากับเป็นอำนาจภาคประชาชนที่สถาปนาขึ้นด้วยความสามารถของตนเอง แต่ละกลุ่มจะมาจากภาคประชาชน มีคนจำนวนเท่าใดก็ตาม ก็สามารถตั้งกลุ่มขึ้นมาได้ เป็นกลไก ในการสร้างความคิดใหม่ๆในพื้นที่” จุดเด่นคือ เขาสามารถระบุปัญหาหรือสภาพแวดล้อมที่เป็นจริงในพื้นที่ของเขา และคิดว่าจะทำอย่างไรให้อยู่ดีมีสุขในชุมชน มีน้ำไหลไฟสว่างทางดี มีน้ำทำเกษตรพอเพียง ลูกหลานมีการศึกษา ไม่มีปัญหายาเสพติด กระบวนการกลุ่มของสภาเป็นการนำปัญหาในแต่ละเรื่องมาปฏิสัมพันธ์กัน ยกตัวอย่างเช่น ที่อำเภอสามชุกสุพรรณบุรี เป็นชุมชนที่แข็งแรงที่จัดการตนเองร่วมกับท้องถิ่นและท้องที่ได้พอสมควรแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องลูกหลานติดยาเสพติดเรื้อรัง ซึ่งยังเป็นพื้นที่ที่มีปัญหา แต่เขาต้องการหาทางแก้ไขให้คืบหน้าขึ้น หากได้จับมือกับทางตำรวจที่มีนโยบายลงไปช่วยเสริมก็จะทำให้การแก้ไขปัญหาตรงเป้าได้ยั่งยืนขึ้น นอกจากนี้ ในอนุกรรมาธิการที่ผมรับผิดชอบอยู่คือการ ตรวจสอบ เสนอแนะ เร่งรัด การปฏิรูปประเทศ ที่เรียกสั้นๆกันว่า ต.ส.ร. ได้เห็นว่า กลไกภาคประชาชนนี้น่าจะเข้าไปเสริมกลไกเดิมได้เป็นอย่างดี จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ควบคู่ไปกับการติดตามตัวชี้วัดที่หน่วยราชการส่งผ่านมาตามกรรมวิธีของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เราจะติดตามว่า หน่วยงานแต่ละแห่ง ติดขัดตรงไหน ต้องดูว่าอะไรเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเริ่มลงมือก่อน ติดตามเรื่องอะไร เปลี่ยนแปลงไหม ขณะนี้ติดขัดเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งสิ่งที่ทำไปแล้วดีถูกต้องก็จะได้สนับสนุน ซึ่งก็เป็นการแก้ปัญหาส่วนระบบกลไกข้างบน หากไม่เตรียมภาคประชาชนให้มีความเข้มแข็ง การปฏิรูปประเทศก็คงไม่สำเร็จ
จากที่กล่าวมาจึงเห็นได้ว่า สภาองค์กรชุมชน เป็นเสาหลักที่ 3ของพื้นที่ตำบล ถือเป็นคำตอบของประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือในชุมชนท้องถิ่น ที่จะพัฒนาต่อไปได้ยั่งยืน เป็นคำตอบที่ว่าประชาธิปไตยพื้นฐานไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว เพราะนั่นเป็นเพียงการมีส่วนร่วมในการบริหารเท่านั้น แต่ในท้องถิ่นที่มีผู้นำธรรมชาติ มีจิตสาธารณะ มีความเสียสละ จากความสมัครใจ เท่าที่ตนเองจะสละได้โดยไม่ต้องมุ่งหวังประโยชน์ตอบแทน จึงได้รับการยอมรับ และไม่ต้องวิ่งหาเสียงซื้อเสียงไปบริหารงบประมาณท้องถิ่นและต้องถอนทุน เพราะการบริหารท้องถิ่นต้องมีความรู้ความสามารถ ต้องมีธรรมาภิบาล รู้หน้าที่ของตัวเอง สิ่งสำคัญคือต้องรู้ความต้องการของประชาชน
สภาองค์กรชุมชน จึงสามารถช่วยสร้างสังคมวัฒนธรรม-สังคมเศรษฐกิจพื้นฐานในอุดมคติที่เป็นจริงได้และกำลังมาถึง เปิดโอกาสให้คนดีมีจิตสาธารณะ สละเวลาเพื่อส่วนรวมโดยผ่านการเลือกสรรตามธรรมชาติโดยไม่ต้องต่อสู้ฟาดฟันจนแม้แต่วงศาคณาญาติก็ต้องแตกกันด้วยการเมืองแบ่งข้าง แพ้เลือกตั้งหรือหมดวาระไปแล้ว ก็ยังมีที่ยืนในพื้นที่ย่อยๆที่ตนเองทำได้ดีแสดงฝีมือมากขึ้นจนเป็นที่ยอมรับ เป็นเวทีย่อยในท้องถิ่นที่มีความสนใจ แบ่งกันไปทำ โดยเน้นกลุ่มเพื่อชุมชนของตนเอง จากเล็กสู่ใหญ่ จากแคบสู่กว้าง เปิดทางให้กับทุกคนมีส่วนร่วม ไม่ต้องปกครอง ไม่ต้องบริหาร แต่เน้นการมีส่วนร่วมกำหนดความต้องการตามลำดับของความจำเป็นที่มีความหลากหลายภายใต้สถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง เพราะฉะนั้น สภาองค์กรชุมชนจึงเป็นเสาหลักที่3ของสังคมยุคใหม่ที่จะสามารถช่วยสร้างความสามัคคีปรองดองร่วมมือกันทำเพื่อชุมชนท้องถิ่นได้อย่างสร้างสรรค์จริงๆ ปัญหาจึงมีเพียงว่า แต่ละฝ่ายตั้งแต่รัฐบาล ข้าราชการ ชุมชน หรือแม้แต่พี่น้องประชาชนเองเชื่อมั่นหรือไม่ว่านี่ คือกลไก”จากล่างสู่บน” (Bottom Up)ที่ต้องฟันฝ่าเรียนรู้และผ่านบทเรียนที่แตกต่างกันไปตามองค์ประกอบของคนในแต่ละท้องถิ่น ส่วนประเด็นที่ถูกตั้งคำถามสุดท้ายคือ กลุ่มต่าง ๆเหล่านี้จะเป็นฐานเสียงให้กับบรรดาพรรคการเมือง หรือกลุ่มที่มีอิทธิพลนั้นหรือไม่ ในช่วงต้นอาจพบว่ามีได้แน่เพราะสังคมไทยมักมีโรคฉวยโอกาสเกิดขึ้นจนเสียหายเสมอๆ แต่ด้วยสภาองค์กรชุมชนไม่ใช่กลไกบริหาร ไม่ใช่กลไกใช้งบประมาณด้วยตนเอง ไม่ใช่กลไกอำนาจอิทธิพลในพื้นที่ ก็คิดว่าถ้าสมาชิกกลุ่มมีความหนักแน่น เข้มแข็ง ตรวจสอบกันเอง ก็ไม่สามารถครอบงำได้ และคงไม่ทั้งหมด ที่เราคิดแบบนี้เพราะเกิดความระแวงไม่เชื่อในกลไกประชาชน ถ้ากลับไปคิดเชื่อแบบนี้ก็ต้องมีการคุมจากข้างบนลงข้างล่าง ท้อปดาวน์ เหมือนเดิม หากบางชุมชนตำบลยังมีความคิดแบบนี้เขาก็จะล้าหลังไปเอง ขณะที่บางแห่งก็รวมตัวได้สำเร็จจนพัฒนาต่อไปได้ ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะค่อยๆหายไปจากชุมชน เพราะประชาธิปไตยจากฐานราก ต้องเป็นเวทีที่ไม่มีการครอบงำ มีแต่การใช้เหตุผลที่ต้องสอบทานกันเสมอไม่สิ้นสุด.