คอลัมน์ “ด้วยสมองและสองมือ” คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เมธิน ผดุงกิจ คณะเภสัชศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัย พร้อมนักวิจัยร่วม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรพรรณ เหล่าวชิระสุวรณ คณะเภสัชศาสตร์ และ รองศาสตราจารย์ ดร.ขวัญุเรือน นาคสุวรรณ์กุล คณะวิทยาศาสตร์ ได้นำเสนอและถ่ายทอดเทคโนโลยีจากโครงการวิจัย “การพัฒนาตำรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากสารสกัดเห็ดฟีลลินุสอิกเนียเรียส”ให้กับ จิตดากาญจน์ นาคสุวรรณ์กุล ประธานบริษัท ฟิลลินุส กรุ๊ป จำกัด และ ฐิตานันท์ นิธิยุพนาภักดี CEOบริษัท ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มเวชภัณฑ์สมุนไพร เวชสำอาง อาหารเสริมสุขภาพและยารักษาโรค รศ.ดร.ขวัญเรือนกล่าวว่า โครงการวิจัยเรื่อง "การพัฒนาตำรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากสารสกัดเห็ดฟีลลินุสอิกเนียเรียส" ภายใต้โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยศูนย์ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมหรืออุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นโครงการที่ได้รับความสนใจจากภาคเอกชนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยจากเห็ดที่มีฤทธิ์ทางยาในเชิงพาณิชย์เป็น “อาหารฟังก์ชัน” หรือเป็น “โภชนเภสัช” เนื่องจากมีรายงานวิจัยจำนวนมากที่พบว่าเห็ดมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ต้านเนื้องอก ฤทธิ์ต้านจุลชีพ กระตุ้นภูมิคุ้มกัน นอกจากเห็ดจะมีปริมาณโปรตีนสูง ไขมันต่ำ สารอาหารที่สำคัญ เช่น วิตามิน แร่ธาตุ ยังพบสารเมทแทโบไลท์ปฐมภูมิและทุติยภูมิ เช่น เบต้ากลูแคน ที่มีฤทธิ์เป็นสารเพิ่มภูมิต้านทาน สารต้านมะเร็งและมีประโยคต่อคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับภูมิแพ้ สารจำพวกฟีนอลิก ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ต้านจุลชีพ เป็นต้น เห็ดที่มีข้อมูลการใช้แบบการแพทย์พื้นบ้านและเป็นที่สนใจในการวิจัยโดยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ คือ เห็ดพิมาน หรือเห็ดสกุลฟีลลินุส เห็ดพิมานที่พบมากในประเทศไทยและผู้วิจัยสนใจ คือ เห็ดพิมานชนิด Phellinus igniarius แหล่งที่พบเห็ดชนิดนี้ในประเทศไทย คือ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและบางส่วนของป่าดิบชื้นในภาคใต้ พบแหล่งอาศัยบนต้นไม้ขนาดใหญ่ เช่น ต้นจิก หรือต้นเต็ง ต้นเค็ง เห็ดชนิดนี้ปัจจุบันสามารถเพาะเลี้ยงและชักนำให้เกิดดอกได้แล้วโดยพัฒนาเพาะเลี้ยงในฟาร์ม สารสำคัญที่พบของเห็ดชนิดนี้คือ beta-glucan สารประกอบฟีนอลิกและสารจำพวกไตรเทอร์พีนส์ ทั้งนี้ บริษัท ฟิลลินุส กรุ๊ป จำกัด มีความสนใจพัฒนาผลิตภัณฑ์และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติโดยเฉพาะเห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา เพื่อให้ผลิตภัณฑ์จากเห็ดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน เริ่มต้นจากสูตรที่ได้มาตรฐาน กระบวนการผลิตและวิเคราะห์คุณภาพที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ จึงจำเป็นที่จะต้องอาศัยงานวิจัยจากผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือขั้นสูงในการวิจัยให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และเนื่องจากเห็ดฟีลลินุสอิกเนียเรียสมีฤทธิ์ทางชีวภาพ ประกอบกับเห็ดชนิดนี้พบได้มากในประเทศไทยและมีเกษตรกรบางกลุ่มสามารถเพาะเลี้ยงเห็ดชนิดนี้ได้แล้ว และข้อมูลที่สำคัญคือ เห็ดชนิดนี้เป็นเห็ดสกุล Phellinus ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของประเทศไทย ยอมรับให้ขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพได้ แต่การศึกษาในประเทศไทยเกี่ยวกับเห็ดฟีลลินุสอิกเนียเรียสนี้มีน้อยมาก และยังไม่พบว่ามีการผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเห็ดในรูปแบบอาหารเสริมสุขภาพ รศ.ดร.ขวัญเรือน ดังนั้น นักวิจัยและผู้ประกอบการ จึงได้โจทย์วิจัยที่ได้ร่วมปรึกษาหารือกัน และสนใจที่จะศึกษาหาปริมาณสารสำคัญที่พบในเห็ดชนิดนี้ที่เก็บตัวอย่างได้ภายในประเทศ ได้แก่ ปริมาณเบต้ากลูแคน ปริมาณสารประกอบฟีนอลิกทั้งหมด และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ จากสารสกัดเห็ดฟีลลินุสอิกเนียเรียส ข้อมูลดังกล่าวจะใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาตำรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในรูปแบบที่เหมาะสม เช่น แคปซูลหรืออื่นๆ ตามคุณสมบัติเบื้องต้นของสารสกัด ความสำเร็จของโครงการวิจัยนี้คือ เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างทีมวิจัยที่อยู่ในภาคราชการและผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทเอกชน ที่ได้รับองค์ความรู้ที่สามารถนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากสารสกัดเห็ดฟิลินุสนุสอิกเนียเรียส ที่มีคุณภาพเข้าเกณฑ์มาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จำนวน 1 ผลิตภัณฑ์ เพื่อดูแลสุขภาพคนไทย โดยผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากเห็ดที่มีฤทธิ์ทางยาชนิดนี้เน้นลูกค้าในกลุ่มรักสุขภาพ รักการใช้ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร คนที่ทำงานหนักพักผ่อนไม่เพียงพอ อ่อนเพลีย ฟื้นฟูร่างกายจากโรคเรื้อรัง สามารถจัดจำหน่ายส่งออกไปยังต่างประเทศเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและนำเงินตราเข้าประเทศได้ในอนาคต