บทความพิเศษ/ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย เมื่อหลายปีก่อนแกนนำปลัด อปท. มีแนวคิดไม่เห็นด้วยในบทบาทการจัดการเลือกตั้งที่ให้ปลัด อปท. เป็น “คณะกรรมการการเลือกตั้งท้องถิ่นโดยตำแหน่ง” (กกต.ท้องถิ่น) ในจำนวนเดิม 5 คน ด้วยหวั่นผลกระทบต่าง ๆ ที่ตามมาโดยเฉพาะมักเกิดเหตุเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงภายหลังการเลือกตั้ง ด้วยความหวาดระแวงว่าไม่เป็นกลาง เป็นต้น พร้อมวอนกระทรวงมหาดไทยให้แก้กฎหมาย ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 (สถ.หรือ ผถ.) มีสาระคือ ข้อ 27 กำหนดให้หัวหน้าพนักงานส่วนท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ผอ.กต.ท้องถิ่น) ยกเว้น เป็นผู้มีส่วนได้เสียกับผู้สมัคร หรือมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่าอาจก่อให้เกิดความไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมในการเลือกตั้งหรือมีเหตุจำเป็นอื่นใด ให้แต่งตั้งปลัดจังหวัด นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอ ข้อ 7 กำหนดให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสนอร่างประกาศให้มีการเลือกตั้งต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด เมื่อได้รับเห็นชอบแล้ว ให้ประกาศให้มีการเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ข้อ 12 กำหนดหลักเกณฑ์เขตเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น โดยยึดจำนวนราษฎรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง ในกรณีของ (1) กทม. (2) อบจ. ตามเขตอำเภอแบ่งเขตละ 1 คน (3) เทศบาลและเมืองพัทยา มี 2-4 เขต ๆ ละ 6 คน (4) อบต. ตามเขตหมู่บ้านปกติหมู่บ้านละ 1 คน (5) อปท.อื่น ข้อ 31 กำหนดคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกต.ท้องถิ่น) (1) กทม.และ อบจ.จำนวน 5 คน (2) เทศบาล เมืองพัทยา และ อบต. จำนวน 3 คน โดยแต่งตั้งจากข้าราชการและเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ในเขตจังหวัดหรืออำเภอที่ อปท. หรืออาจแต่งตั้งจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีภูมิลำเนาในเขตจังหวัดหรืออำเภอนั้นซึ่งมิได้เป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ จำนวนไม่เกิน 2 คน โดยนอกจากจะมีคุณสมบัติ ตามข้อ 31 แล้ว ต้องมีคุณสมบัติ ตามข้อ 32 (เช่นมีอายุ 30 ปีบริบูรณ์) และไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามข้อ 33 ที่สำคัญ เช่น ข้อ 33 (9) เป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น หรือลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ว่าด้วยการคุณสมบัติ กกต.ท้องถิ่น ข้าราชการ ของ อปท.ซึ่งมีประสบการณ์มากกว่าข้าราชการประเภทอื่นในการจัดเลือกตั้งท้องถิ่น กกต.ห้ามสมัครเป็น กกต.ท้องถิ่น เปิดโอกาสเฉพาะข้าราชการอื่นเท่านั้น อย่างกรณีจัดเลือกตั้งของเทศบาล เป็นข้าราชการ อบจ.ก็ไปสมัครไม่ได้ เพราะมีลักษณะต้องห้าม นัยว่าระเบียบเขาห้ามเพื่อความเป็นกลาง แต่มีเหตุผลใดว่าข้าราชการอื่นจะเป็นกลางด้วย เพราะข้าราชการท้องถิ่นไม่ได้เป็นข้าราชการการเมือง ต้องมีความเป็นกลางทางการเมืองอยู่แล้ว หรือ เกรงว่าหากจัดการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วผู้มาทำหน้าที่ กกต.ท้องถิ่นถือว่ามีส่วนได้เสียในกระบวนการยุติธรรมในการเลือกตั้ง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง น่าคิดว่าคนทำงานเป็นมีประสบการณ์ แต่กลับเป็นบุคคลต้องห้าม อ้างเพื่อความเป็นกลาง แต่ความจำเป็นต้องการคนที่มีความรู้มาช่วยงานยังจำเป็น หรือต้องการถ่วงดุลส่วนร่วมจากคนนอกในการตรวจสอบ สารพันระเบียบกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น (1) สาระสำคัญที่ควรทราบ สรุปเหตุผล พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 คือเพื่อ (1) คำนึงการมีส่วนร่วมของประชาชน (คะแนนมากกว่า โหวตโน) (2) กำหนดคุณสมบัติผู้สมัครใหม่ นับอายุถึงวันเลือกตั้งทั้งผู้ใช้สิทธิและผู้สมัคร (3) ป้องกันการทุจริตการเลือกตั้ง (2) กรณีเทศบาล ผู้สมัครไม่มีข้อยกเว้นให้สำหรับการเสียภาษีในเขต เคยศึกษา เคยรับราชการในเขต เช่นหลักเกณฑ์เดิม ผู้สมัครต้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิด ไม่ยกเว้นในเรื่องโอนสัญชาติ (3) ข้อสังเกตที่น่าสนใจในวาระอายุ ผอ.กกต.ท้องถิ่น กกต.ท้องถิ่น เริ่มตั้งแต่ประกาศให้มีการเลือกตั้ง จนถึงประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง อายุ กกต.อปท.จะเหมือนกับ อายุ ผู้ตรวจการการเลือกตั้ง ค่าตอบแทนรายเดือน กกต.ท้องถิ่น เช่น มีหน่วยเลือกตั้งไม่เกิน 10 หน่วย ได้เดือนละ 4,500 บาท ถ้าเกินคิดเพิ่มเป็นหน่วย มีข้อสงสัยว่า ค่าตอบแทนจะลากยาวเหมือนกรณี ผตล.หรือไม่ เพราะการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ผ่านมาลากเวลาประกาศออกไปทำให้ ผตล.ได้ค่าตอบแทนเพิ่ม หรือการยืดเวลาประกาศรับรองผลเลือกตั้งออกไป ย่อมทำให้ต้องจ่ายเงินตอบแทน และอื่น ๆ เพิ่มขึ้น (4) ผอ.กกต.อปท.ไม่ได้เป็น กกต.อปท. เป็นเพียง ผอ.และเลขาในที่ประชุม กกต.อปท. ตามที่ กกต.ท้องถิ่นสั่งการ อำนาจจัดการ ออกคำสั่ง จะไปรวมศูนย์ที่ ผอ.กกต.จังหวัด แต่การตัดสินใจ จะไปอยู่ กกต.กลาง (5) การเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งที่ผ่านมาพบว่า การส่งข้อมูลรายงานเบื้องต้นทางเน็ตมือถือล้มเหลวบางจุด เครือข่ายหนาแน่นรองรับไม่เพียงพอ หรือบางพื้นที่ไม่มีสัญญาณในวันเลือกตั้ง แต่ระบบความไม่นิ่งไม่แน่นอนเด็ดขาดของผลคะแนน ประกอบกับความล่าช้าในขั้นตอนและการรายงานผล ควรปรับแก้ไข แต่อย่างไรก็ตามขั้นตอนการเลือกตั้งท้องถิ่นจะแตกต่างจากการเลือกตั้ง ส.ส. ที่สามารถนำปัญหาอุปสรรคมาปรับใช้ได้บ้าง (6) การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้หลังจากที่ว่างเว้นมา 5-8 ปีเต็ม ๆ จึงเกิด “New Voter” เป็นจำนวนมากถือเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะทำให้เกิดมุมมองความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่ยึดติดในระบบอุปถัมภ์ บทเฉพาะกาลเกี่ยวกับงบเลือกตั้งท้องถิ่น มีข้อสังเกตน่าสนใจคือ (1) ผอ.กกต.จว.สามารถประกาศค่าใช้จ่ายของผู้สมัครได้เลย ก่อนที่ กกต.ส่วนกลางจะประกาศให้มีการเลือกตั้ง (2) ค่าใช้จ่ายของผู้สมัครรับเลือกตั้ง นับจากวันที่ กกต.ส่วนกลางประกาศให้ถึงวันเลือกตั้ง (3) ช่วงนี้กำลังมีการสรรหา กกต.ท้องถิ่นทั่วประเทศ สบายใจได้ กกต.ส่วนกลางเป็นคนเลือก และคงประกาศเมื่อมีมติ ครม.ว่าเลือกตั้งวันใดแล้ว การลากยาวเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ดีแน่ มีการตั้งข้อสังเกตการเลือกตั้งท้องถิ่นว่าจะเป็นเลื่อนไปอีกหรือไม่ ด้วยสาเหตุทางการเมือง เช่น การวางฐานขุมอำนาจทางการเมืองของฝ่ายรัฐ หรือช่วงนี้ก็อาจอ้างงบประมาณของรัฐผ่านล่าช้า เป็นต้น เพราะแม้งบจัดการเลือกตั้งในส่วนใหญ่ อปท.จะมีพร้อม แต่งบ กกต.ย่อมต้องมาจากส่วนกลาง ยิ่งมีข่าวว่า กกต.พยายามของบประมาณจัดซื้อเครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เครื่องลงคะแนนที่ใช้ในหน่วยเลือกตั้ง ด้วยเม็ดเงินที่สูงย่อมเป็นไปไม่ได้เลยที่รัฐจะมีงบส่วนนี้ เพราะ กกต.ไม่มีเงินสำหรับค่าใช้จ่าย ที่จริงใช้เงินท้องถิ่นถึงร้อยละ 95 แต่ กกต. ต้องมีงบบริหารจัดการส่วนหนึ่งในภารกิจเลือกตั้งท้องถิ่นต่างๆ เช่น การประชุมคณะกรรมการแบ่งเขตเลือกตั้ง เบี้ยเลี้ยงของเจ้าหน้าที่ในการเดินทางช่วงเลือกตั้งและอื่นๆ การชะลอการเลือกตั้งออกไปอีกอาจเป็นผลเสียต่อคะแนนเสียงและภาพลักษณ์ของรัฐบาล โดยเฉพาะจากคน อปท. ที่เป็นฝ่ายตรงข้าม (ฝ่ายค้าน) นายก อปท. จะถามหาสาเหตุที่ไม่มีการเลือกตั้งว่าเพราะเหตุใด ทำไมไม่เลือกตั้ง เพราะเขารอการเลือกตั้งมานานมากถึง 5-8 ปีแล้ว เป็นกระแสกดดันที่รัฐบาลต้องหาทางคลี่คลาย ท่ามกลางสังคมโซเชียลปัจจุบันที่มีมือถือเป็นทุกสิ่งทุกอย่างข่าวสารถึงกันหมดเรียกว่าเป็นกล้อง CCTV เคลื่อนที่ที่ทรงพลังมาก เพราะสังคมแต่ก่อนเป็นสังคมปิดตอนนี้เปิดแล้ว ส่ออาการโรคเลื่อนเพราะการแบ่งเขตเลือกตั้ง ล่าสุด กกต.แจ้งเรื่องแนวทางการแบ่งเขตเลือกตั้งท้องถิ่นแก้ไขระเบียบ กกต.ใน 2 ประการ คือ ประการแรก จำนวนราษฎรในแต่ละเขตที่ใกล้เคียงกัน คือไม่เกินร้อยละสิบของอัตราค่าเฉลี่ยจำนวนราษฎรหนึ่งเขต เช่นเทศบาลตำบล มีประชากร (ใช้คำว่าราษฎร) 5,000 คน หาร 2 ก็เขตละ 2,500 คน เกินได้ 5% ลดน้อยได้ 5% (รวมช่วงห่าง 10%) ดังนั้นราษฎรในเขตจะต้องอยู่ที่ 2,250 -2,750 คน ซึ่งคลาดเคลื่อนอยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 10 ตามระเบียบข้อ 13 วรรคสอง (ค) ตามที่แก้ไขใหม่ ประการที่สอง การสรรหาผู้แทนในคณะกรรมการแบ่งเขตระดับจังหวัด ตามบทเฉพาะกาล (ระเบียบฯ ข้อ 232) สรุปคือ ผู้แทน อบจ. 1 คน ผู้แทน ทน. ทม.และผู้แทน ทต.ให้เลือกกันเองเหลือ ทน. 1 คน ทม. 1 คน ทต. 1 คน ล่าสุดมีข่าวไม่ดีในการแส “ข่าวเลื่อนการแบ่งเขต” ออกไปน่าจะมีผลว่า ผู้ได้ประโยชน์คือใคร เพราะการแบ่งเขตเลือกตั้งสามารถดำเนินการได้ทันตามกรอบเวลาที่กำหนด และส่วนใหญ่เขตเลือกตั้งคงเดิม ยกเว้นกรณี อบต.ยุบรวมควบรวม หรือ เทศบาลที่มีบ้านจัดสรรเพิ่มจำนวนมาก ทำให้มียอดประชากรเพิ่มในบางหมู่บางชุมชนต้องเปลี่ยนแปลงเขตใหม่ เทคนิคของเจ้าหน้าที่ทำให้ยุ่งเข้าไว้ทำให้ดูว่ามีงานมากเข้าไว้ เพื่อจะได้ผลงานได้งบมากขึ้นน่าจะใช้ไม่ได้สำหรับภารกิจการเลือกตั้ง อปท.ครั้งนี้ อย่างไรก็ตามขั้นแรกให้เอา “กกต.อปท.” (ท้องถิ่น) ออกมาโชว์ก่อนก็ยังดี เผื่อจะลดกระแสกดดันต่างๆลงบ้าง มันสวนกระแสเชื่อมั่นของคน อปท. ว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้น่าจะไร้ปัญหาไม่น่าจะลากยาว เพียงรอ ครม. เป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้งท้องถิ่นเท่านั้น เพราะ กกต. เตรียมแบ่งเขตการเลือกตั้งแล้วเสร็จต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 การสรรหา กกต.อปท. ภายใน 11 มีนาคม 2563 ต้องเสร็จ ด้วยงบประมาณ 7,800 ล้านพร้อม ผู้ตรวจการเลือกตั้งต้องมาปฏิบัติหน้าที่ท้องถิ่นด้วย ปรัชญาเบื้องหลังที่มาของ “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” (ผตล.) วาระ 5 ปี มีข้อสงสัยว่าแนวคิดนี้มีที่มาอย่างไร พอจับความได้ว่า ในเบื้องต้นเพื่อแก้ไขการใช้อิทธิพลของ กกต. ประจำพื้นที่ที่มีความใกล้ชิดกับผู้สมัครหรือผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ มักมีการช่วยเหลือกันเกื้อกูลกัน (ฟอกตัว) โดยกำหนดให้ให้มีการแต่งตั้ง ผตล. แบ่งกลุ่มจังหวัดๆ ละ 7-8 จังหวัด โดยมีผู้เห็นต่างท้วงติงบ้างจนกระทั่งตราเป็นกฎหมายพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยผู้ตรวจการเลือกตั้ง พ.ศ. 2561 ได้กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการคัดเลือกและการแต่งตั้ง รวมถึงบทบาทหน้าที่ของผู้ตรวจการเลือกตั้งไว้ เป็นข้อสังเกตว่า ผลการศึกษาวิจัยเมื่อคราวการเลือกตั้งที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ผู้ศึกษาวิจัยเสนอ ให้แก้ไขให้เปลี่ยนผู้ตรวจการเลือกตั้งกลับไปเป็นระบบ “กกต.จังหวัด” เช่นเดิม โดยให้มี ผตล. แค่ช่วงการเลือกตั้ง และ ให้ยกเลิกระเบียบยิบย่อยของ กกต.ต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรค สาเหตุสำคัญน่าจะมีที่มาจากการขาดประโยชน์ และขาดศักยภาพ ผตล. จะใช้คนผิวเผินช่วงสั้น คงยุ่งยาก เข้าไม่ถึงข้อมูลจริง การสืบค้นข้อมูลทำได้ยาก การยกเลิก ผตล.ที่ต้องมีการแก้ไขกฎหมายจึงยากกว่า การจัดการอบรมเพื่อเตรียมการเลือกตั้งของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ผ่านมา สถ. เป็นเพียงการประชุมประชาสัมพันธ์ชี้แจงเตรียมการล่วงหน้า มิได้ดำเนินการเชิงปฏิบัติการแต่อย่างใด ทำให้การอบรมมักไม่ได้ผล สิ้นเปลืองงบประมาณเพราะจัดการประชุมอบรมโดยที่การเลือกตั้งยังไม่มีความแน่นอน โดยเฉพาะระเบียบกฎหมาย หรือความพร้อมด้านต่าง ๆ เพราะ อำนาจจัดการการเลือกตั้งเป็นของ กกต. ส่วน สถ. มิได้มีอำนาจแต่อย่างใด การตั้งกองการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นส่วนราชการภายในของ สถ. หามีอำนาจหน้าที่ไม่ สถานะไปรษณีย์ผู้แจ้งข่าวก็ไม่ใช่ เพราะ กกต. สามารถแจ้งตรงต่อ ผวจ. ได้ เป็นไปได้ว่าตั้งกองการเลือกตั้งท้องถิ่นมาเพื่อหวังใน “การประชุมอบรมชี้แจงการเลือกตั้งท้องถิ่น” เพราะสามารถใช้งบประมาณของ อปท. ได้เต็ม ๆ หัวข้อนี้ลงไว้เผื่อว่า สถ. จะได้ช่วยกันคิดวางแผนแก้ไข Timeline การเลือกตั้งท้องถิ่นได้บ้าง