คนข้างวัด / อุทัย บุญเย็น ได้ฟังคุณ “คำ ผกา” (นักวิพากษ์สังคมและการเมือง) ซึ่งเป็นชาวพุทธรุ่นใหม่ พูดเรื่องการเกิดใหม่ แบบความรู้ของชาวพุทธทั่วๆ ไป ก็เอะใจ เอะใจว่า “คำ ผกา” ก็มีความรู้ทางพุทธศาสนาอยู่บ้าง แม้จะไม่ลงลึกในความรู้นั้นก็ตาม เหตุที่ได้พูดถึงเรื่องการเกิดใหม่ เพราะมีนักการเมืองสุภาพสตรีท่านหนึ่งแสดงความรู้สึกว่า การเกิดเป็นผู้หญิง ลำบากหลายอย่าง เล่นการเมืองเหนื่อยกว่าผู้ชาย ท่านตัดพ้อว่า “อยากเกิดเป็นผู้ชาย” คำ ผกา แม้จะไม่มีความรู้ทางพุทธศาสนา (ซึ่งเหมือนชาวพุทธทั่วๆ ไป) ได้กล่าวแย้งว่า ตายแล้วไม่รู้ว่าจะได้เกิดอีกหรือเปล่า หรือว่า เกิดแล้วไม่รู้ว่าจะได้เกิดเป็นคนหรือไม่ แม้จะเป็นคำพูดที่ไม่ได้ตั้งใจนัก แต่ก็แสดงถึงความรู้แบบชาวพุทธ ซึ่งอาจจะยินได้ฟังสมัยเป็นเด็กก็เป็นได้ พุทธศาสนา สอนเรื่องกรรมหรือสังสารวัฏฏ์ คือการเวียนว่ายตายเกิดด้วยผลของกรรม เป็นศาสนาที่ยอมรับหรือเชื่อว่าตายแล้ว มีการเกิดอีก แต่ก็ไม่สอนว่ามี “จิต” แยกต่างหากจากชีวิต แต่ชาวพุทธทั่วไปก็เชื่อว่ามี “จิต” หรือ “วิญญาณ” ไปเกิดใหม่ แม้แต่พระสงฆ์องค์เจ้าก็เชื่อว่ามีจิตหรือวิญญาณไปเกิดในภพใหม่ถึงกับใช้คำว่า “ดวง” กับ จิตหรือวิญญาณ เมื่อจิตหรือวิญญาณไปเกิดใหม่ ก็เป็น “ดวง” ลอยไป เชื่อว่า จิตหรือวิญญาณเมื่อออกจากร่าง ก็ลอยไป เป็นดวงเหมือนดวงไฟ แต่ในทางพุทธศาสนาสอนว่า จิตไม่ได้เป็นดวง แต่มีความถี่เป็นขณะ มีลักษณะเป็นพลังงาน เหมือนกระแสไฟฟ้า มีความ “สืบเนื่อง”แต่ละขณะ เมื่อไปเกิดใหม่ จิตก็ไปเกิดทันที ไม่มีการล่องลอยหาที่เกิด กล่าวกันว่า เมื่ออสุจิของบิดาผสมกับไข่ของมารดาได้ที่ จิตก็ไปเกิดทันที การไปเกิดใหม่ในครรภ์มารดานั้น เรียกว่า “ปฏิสนธิ” คำนี้แหละเมื่อใช้กับจิตหรือวิญญาณ จึงเรียกว่า ปฏิสนธิ หรือปฏิสนธิวิญญาณ หมายถึงจิตหรือวิญญาณที่ไปเกิดใหม่ ในทางพุทธศาสนาเรียกชีวิตทุกชีวิต ทั้งในโลกนี้และในโลกอื่น ไม่ว่าจะเป็นชีวิตชั้นสูงอย่างเทวดา พรหม หรือสัตว์ชั้นต่ำอย่างสัตว์เดรัจฉาน หรือแม้แต่พวกที่เกิดในอบายภูมิ (สัตว์นรก เปรต อสุรกาย ที่เราเรียกว่า ผี) ว่า “สัตว์” ทั้งสิ้น แม้แต่พระพุทธเจ้าเมื่อเกิดในภพหรือในชาติกำเนิดต่างๆ ก็เป็นสัตว์ประเภทหนึ่ง เรียกว่า “โพธิสัตว์” (คำว่า “สัตว์” เป็นภาษาสันสกฤต ภาษาบาลีหรือภาษามคธใช้คำว่า “สัตตะ” ซึ่งแปลว่า ผู้ยังติดข้องอยู่ในภพ-ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่นั่นเอง) ชาติกำเนิด หรือ ชนิดของสัตว์ในโลก มีมากมาย ตั้งแต่ใหญ่สุดอย่างไดโนเสาร์หรือช้าง จนกระทั่งเล็กสุดอย่างหนอนและตัวอะมีบาต่างๆ ชนิดที่ว่า มีสัตว์น้อยใหญ่มากมาย นับไม่ถ้วน จิตหรือวิญญาณไปเกิดเป็นสัตว์เหล่านั้น ซึ่งเลือกไม่ได้ คำ ผกา จึงกล่าวว่า ตายแล้วไม่รู้ว่าจะได้เกิดมาเป็นคนอีกหรือไม่ เพราะจิตหรือวิญญาณอาจจะไปเกิดเป็นสัตว์ประเภทต่างๆ จนนับไม่ถ้วนนั้น อย่าว่าแต่จะเลือกเกิดเป็นมนุษย์ผู้ชายเลย เรื่องนี้น่าคิด พระพุทธเจ้าตรัสว่า “กรรมย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลาย” (กมฺมํ สตฺเต วิภชติ) จำแนก คือจัดสรรให้ไปเกิดในภพต่างๆ สุดแต่กรรมจะนำไป ในเรื่อง “อจินไตย” (ที่เขียนถึงวันก่อน) ข้อที่เกี่ยวด้วยกรรม พระพุทธเจ้าใช้คำว่า “กัมมวิปากะ” (ในคำว่า กัมมวิปากวิสัย”) คือไม่ได้บอกว่า ไม่ให้คิดเรื่องกรรม (การกระทำทางกาย วาจา และใจ) แต่กล่าวว่า ผลของกรรม (กัมมวิปากะ) เป็นเรื่องเหนือวิสัยของความคิดนึก ในอจินไตย 4 อย่างนั้น มีข้อหนึ่ง คือ “พุทธวิสัย” ก็เป็นเรื่องที่เหนือวิสัยของความคิดนึก แต่ก็ไม่วายที่มีผู้พยายามคิดค้น-คิดนึกอยู่ เช่นเรื่อง “ปฏิจจสมุปบาท” ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้งยิ่งนัก แต่มีบางท่านพยายามอธิบายตามความเข้าใจของตน ทำให้ดูเป็นเรื่องที่เข้าใจได้หรือเข้าใจได้ง่าย มีพระอาจารย์บางท่าน เห็นว่า คำอธิบายในปฏิจจสมุปบาทไม่แจ่มแจ้งพอ ได้เพิ่มข้อธรรมอีกข้อหนึ่ง เข้าไว้ในปฏิจจสมุปบาทของพระพุทธเจ้าผลก็คือ ทำให้ข้อธรรมที่เพิ่มเข้ามานั้น กลายเป็น “จิต” หรือ “อาตมัน” ของศาสนาฮินดู โดยไม่รู้ตัว เพื่อนของผมคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าพระอาจารย์ท่านนั้นพูดผิดทำไมคำสอนของท่านจึงอยู่มาได้กว่าร้อยปีแล้ว ผมได้แต่นึกในใจว่า ความเคารพนับถือว่าผู้กล่าวเป็นครูบาอาจารย์ก็เป็นอันตรายเหมือนกัน เพราะไม่มีใครกล้าเถียงท่าน ก็เลยคิดว่า คำสอนของท่านถูกแล้ว ศาสนาฮินดู คือ ลัทธิพราหมณ์นั้น เกิดก่อนพระพุทธเจ้านับเป็นพันๆ ปี ถามว่าทำไม่อยู่มาได้ ก็เพราะเชื่อตามๆ กันมา เชื่อว่ามี “อาตมัน” หรือ “จิต” หรือ “วิญญาณ” แยกต่างหากจากขันธ์ 5 เมื่อตายไปก็ไปรวมกับ “ปรมาตมัน” (หรือ “พระพรหม”) เชื่อตามๆ กันมาอย่างนั้นเป็นพันๆ ปีแล้ว เมื่อพระพุทธเจ้าสอนใหม่ว่า ไม่มีจิตหรือวิญญาณอย่างนั้น (แต่มีในสภาวะอื่น) คนก็แตกตื่น กว่าจะทำความเข้าใจใหม่ว่า จิตหรือวิญญาณ เป็น “อนัตตา” ก็เหนื่อยเหมือนกัน เพราะคำสอนเรื่องอนัตตานั้น ทวนกระแสความเข้าใจเดิมของผู้คนมานานแสนนาน วันนี้ ขอแจกแจงธรรมะเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท ของพระพุทธเจ้าให้อ่านชัดๆสักครั้งหนึ่ง ปฏิจจสมุปบาท (ตามคำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก) มี 12 ประการ คือ 1.มีอวิชชา จึงมี สังขาร 2.มีสังขาร จึงมี วิญญาณ 3.มีวิญญาณ จึงมี นามรูป (ขันธ์ 5) ผมเห็นว่า ปฏิจจสมุป 3 ข้อนี้ เป็นคำอธิบายการเกิดใหม่ หรือระหว่าง ชาติหนึ่งกับอีกชาติหนึ่ง เพราะ “วิญญาณ” (ในปฏิจจสมุปบาท) ไม่น่าจะเป็นอันเดียวกับวิญญาณ ในขันธ์ 5 (หรือ “นามรูปในปฏิจจสมุปบาท”) ต่อจาก นามรูป (ในปฏิจจสมุปบาท) จึงช่วยอธิบายความเป็นไปของชีวิตในโลกนี้และความเป็นไปของสังคม (ตามที่บางท่านชอบอธิบายไปในแนวทางนี้) ข้อธรรมในปฏิจจสมุปบาท มีต่อไปว่า 4 มีนามรูป จึงมี สฬายตนะ (อายตนะทั้งภายในและภายนอก อย่างละ 6) 5 มีสฬายตนะ จึงมี ผัสสะ (การสัมผัสกันหรือถึงกันระหว่างอายตนะภายในกับอายตนะภายนอก 6 มีผัสสะ จึงมีเวทนา (ความรู้สึก) 7 มีเวทนา จึงมี ตัณหา (ความอยาก) 8 มีตัณหา จึงมี อุปาทาน (ความยึดถือ) 9 มีอุปาทาน จึงมี ภพ (ที่ไปเกิด) 10 มีภพ จึงมีชาติ (การเกิดเป็นสัตว์) 11 มีชาติ จึงมีชรามณะ (ความแก่และความตาย) จะเห็นได้ว่า ชรามรณะ เป็นปฏิจจสมุปบาทข้อสุดท้าย (ข้อที่ 12 ) จึงเรียนว่า ปฏิจจสมุปบาท 12 หลังจากตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าทรงสาธยายทบทวนปฏิจจสมุปบาท กลับไปกลับมา (ทั้งสายเกิดและสายดับ) วันหนึ่ง เมื่อพระอานนท์ได้ฟัง ก็เห็นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก ได้กราบทูลความเข้าใจของตน พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่าอย่าพูดอย่างนั้น ตรัสว่า ปฏิจจสมุปบาทเป็นเรื่องลึกซึ้ง เข้าใจได้ยากอย่างยิ่ง เพราะไม่รู้ในปฏิจจสมุปบาท สัตว์ทั้งหลายจึงเวียนว่ายตายเกิดกันอยู่ หลุดพ้นไปไม่ได้ ฟังคำอธิบายของพระเถระบางท่าน เมื่อตรองตาม ก็เข้าใจได้ และดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ก็เอะใจในพระดำรัสที่ตรัสกับพระอานนท์ดังกล่าว ก็เลยคิดว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องปฏิจจสมุปบาทนั้น เป็นคำอธิบายทั้งเรื่องสังสารวัฏฏ์และเรื่องกรรม (โดยเฉพาะเรื่องผลของกรรม) ซึ่งเกินวิสัยที่จะใช้เพียงความคิดนึกของปุถุชน (ที่ตั้งตนเป็นอริยะ) ทั้งหลาย และเมื่อศึกษาเรื่องขันธ์ 5 (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ให้ดี ก็ยิ่งจะเห็นว่า จิตหรือวิญญาณในคำสอนของพระพุทธเจ้ามีสภาวะเป็นอย่างไร ที่ท่านสอนว่า จิตเป็นอนัตตา (ไม่เป็นอัตตาหรืออาตมัน) นั้นเป็นอย่างไร ในปฏิจจสมุปบาท แยก “วิญญาณ” ที่เกิดจาก “สังขาร” ไว้ต่างหาก-แยกจากวิญญาณในนามรูป (ขันธ์ 5 ) นั่นเป็นคำอธิบายที่ทำให้เห็นได้ชัดว่า การไปเกิดในภพใหม่นั้นเป็นอย่างไร การเห็นแจ้งอย่างนี้เป็น “ญาณทัสสนะ” เป็นการเห็นและเข้าใจด้วยฌาน (ใช้ฌานเป็นเครื่องมือ) คำอธิบายธรรมะของพระพุทธเจ้าเพียงด้วยความคิดนึกเอาเอง (เช่น อธิบายปฏิจจสมุปบาทว่า เป็นเรื่องที่เป็นไปในชาติเดียว) เป็นคำ อธิบายที่ดูแคลนปัญญาตรัสรู้ “โพธิ” ของพระพุทธเจ้า อย่างน่าพิจารณา จึงเอะใจในคำกล่าวของ “คำ ผกา” ที่กล่าวถึงสังสารวัฏฏ์ หรือการเวียนว่ายตายเกิดแบบชาวพุทธ ซึ่งแม้จะกล่าวอย่างไม่ตั้งใจก็ตาม แต่ก็กล่าวด้วยความจำหรือด้วยสามัญสำนึกที่ประทับอยู่ในใจของเธอ