แนวไฟป่า...เห็นได้จากอวกาศ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า โพสต์ผ่านเฟสบุ๊คแฟนเพจระบุว่า ปีนี้สถานการณ์ไฟป่าหมอกควัน ในหลายจังหวัดมีการนำสรรพเทคโนโลยีเข้ามาจัดการกับไฟป่า ข้อมูลจุดความร้อนจากทั้งระบบ MODIS และ VIIRS ทำให้เราพอจะทราบพิกัดจุดเผาไหม้ กลายเป็นข้อมูลสำคัญที่นำไปสู่การควบคุมไฟ ภาพมุมสูงจากโดรนในตอนกลางวันเห็นกลุ่มควันเหนือผืนป่าสีเขียว ส่วนตอนกลางคืนเห็นแนวไฟป่าท่ามกลางความมืดสนิทได้อย่างชัดเจน ยิ่งช่วยยืนยันการความมั่นใจก่อนที่หน่วยผจญเพลิงจะออกเดินเท้าเข้าป่าลึกเพื่อดับไฟ แล้วแบบนี้...เป็นไปได้ไหมที่เราจะตรวจวัดแนวไฟป่าในเวลากลางวันเพื่อความแม่นยำในการจัดการไฟป่าได้ทันการณ์ สถานการณ์ไฟป่าบ้านเราตอนนี้ ต้องบอกว่ายังไม่สงบและไม่จบง่ายๆ สร้างความเหนื่อยล้าให้กับเหล่าบรรดาเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะพี่ๆนักผจญเพลิงที่ต้องเข้าป่าลุยไฟเป็นวันๆบางท่านก็ค้างคืนในป่าลึก ซึ่งก่อนจะมีคำสั่งให้ออกเดินเท้าเข้าป่านั้น เชื่อว่าจำเป็นต้องมีการตรวจสอบกันทุกช่องทาง ถึงความเป็นจริงของจุดไฟป่าดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นทั้งจากข้อมูลจุดความร้อน ภาพถ่ายมุมสูงจากโดรน ภาพถ่ายจากมือถือและคำบอกเล่าของชาวบ้านระแวกนั้น เป็นต้น เนื่องจากกำลังพลมีอยู่อย่างจำกัด แต่กำลังไฟโหมกระหน่ำมากขึ้นทุกวัน ยิ่งอยู่ภายใต้ช่วงเวลาที่คับขันความแม่นยำในการเข้าปฏิบัติหน้าที่ยิ่งเป็นสิ่งจำเป็น นอกจากกลุ่มควันหนาแล้ว ข้อมูลแนวไฟป่าเป็นอีกหนึ่งข้อมูลที่จะสามารถช่วยยืนยันความถูกต้องของจุดความร้อนและการเผาไหม้จริง สำหรับดาวเทียมในกลุ่มดาวเทียมสำรวจทรัพยากรส่วนมากจะสามารถตรวจจับคลื่นความร้อนจากแนวไฟแสดงให้เห็นบนภาพถ่ายจากดาวเทียมได้ โดยอาศัยช่วงคลื่น Short Wavelength Infrared (SWIR) ช่วงคลื่นที่อยู่นอกเหนือจากกลุ่มช่วงคลื่นที่ตามนุษย์เราใช้ในการมองเห็น เนื่องจากคุณสมบัติของช่วงคลื่น SWIR ที่สามารถเดินทางผ่านกลุ่มควันไฟได้ดีและอ่อนไหวต่อคลื่นความร้อน ทำให้ภาพถ่ายจากดาวเทียมในช่วงคลื่น SWIR จึงไม่ปรากฏกลุ่มควันไฟในภาพเลย แต่กลับเผยให้เห็นแนวไฟที่กำลังลุกไหม้อย่างชัดเจนบนเส้นขอบระหว่างพื้นที่ป่าและพื้นที่ถูกเผาไหม้ ด้วยความศักยภาพดังกล่าวภาพถ่ายจากดาวเทียมจึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยจัดการไฟป่ามาโดยตลอด นอกเหนือจากศักยภาพทะลุทะลวงหมอกควันแล้ว ช่วงคลื่น SWIR ยังมีเผยข้อมูลอีกมากมายบนภาพถ่ายจากดาวเทียม อาทิเช่น การแยกแยะวัตถุ การตรวจวัดน้ำมันที่ไหลรั่วกลางทะเล การตรวจวัดความชื้นในดิน เป็นต้น แต่อย่างที่รู้กัน ข้อมูลจากดาวเทียมหนึ่งภาพครอบคลุมพื้นที่มหาศาล แต่กว่าที่ดาวเทียมที่มีรายละเอียดภาพเพียงพอจะเห็นแนวไฟป่าได้จะโคจรผ่านพื้นที่เดิม เราต้องใช้เวลารอไม่ต่ำกว่า 5 วัน ซึ่งอาจจะไม่ทันการณ์ต่อสถานการณ์ไฟไป่ที่ต้องติดตามอัพเดทกันรายชั่วโมง นับว่าเป็นอีกหนึ่งความท้าทายในการจัดการเทคโนโลยี เพื่อเติมเต็มช่องว่างดังกล่าว ปัจจุบันมีกล้องที่สามารถถ่ายได้ในช่วงคลื่น SWIR วางจำหน่ายในท้องตลาดแล้ว (แต่ราคายังสูง) สามารถนำมาติดตั้งบนโดรน เพื่อเสริมกำลังกล้องตัวเดิมที่ติดตั้งมากับตัวเครื่อง ซึ่งส่วนมากแล้วเป็นกล้องที่ใช้ช่วงคลื่นปกติแบบเดียวกันกับตาของเราเพื่อการมองเห็น จึงทำให้เราไม่สามารถมองเห็นแนวไฟผ่านกลุ่มหมอกควันได้เมื่อบินโดรนถ่ายภาพในตอนกลางวัน นอกจากนั้นการติดตั้งกล้อง SWIR กับโดรนยังทำให้เราสามารถบินตรวจวัดแนวไฟป่าได้จากมุมสูงได้ทุกเวลาที่ต้องการและเพื่อการสั่งการปฏิบัติการดับไฟป่าได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่คลอบคลุมของภาพและค่าใช้จ่าย แนวคิดริเริ่มจากการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ สู่การประยุกต์ใช้กับอากาศยานบนโลก เพื่ออุดช่องว่างการจัดการปัญหา นับเป็นความพยายายามของมนุษย์ที่ไม่มีที่สิ้นสุดเพื่อจะเอาชนะปัญหาต่างๆ แต่ลำพังการทำงานร่วมกันระหว่างดาวเทียมและโดรน คงจะไม่สามารถยุติปัญหาไฟป่าได้ลง สิ่งที่สำคัญกว่าเทคโนโลยีก็คือความเป็นหนึ่งเดียวและจิตสำนึกร่วมกันของคนในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะทำให้การปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่น PM 2.5 ผ่านพ้นไปได้เร็วไว