นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประธานการประชุมคณะอนุกรรมการการท่องเที่ยวโดยชุมชน ภายใต้คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่วมกันในหลักการการทบทวนแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2563 - 2565 พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น แผนปฏิบัติการการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน โดยในรายละเอียดของการดำเนินงานตามแผนจะเพิ่มเติมความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนทุกระดับ เพื่อผลสัมฤทธิ์ตอบเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นเอกภาพในทิศทางเดียวกันของ 24 หน่วยงานภายใต้คณะอนุกรรมการการท่องเที่ยวโดยชุมชน ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษาและองค์กรชุมชน จากต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งแผนนี้จัดทำโดยความร่วมมือของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการการท่องเที่ยวโดยชุมชน และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยภาพรวมของแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวจัดทำขึ้นภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยการสัมภาษณ์และจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น รวมถึงเวทีผู้ทรงคุณวุฒิด้านการท่องเที่ยว ซึ่งที่ประชุมได้รับรองผลการประเมินมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชนครั้งแรกของประเทศไทย ประจำปี 2562 จำนวน 19 ชุมชนทั่วประเทศ อาทิ ชุมชนเมืองโบราณทวารวดี-อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ชุมชนตะเคียนเตี้ย จังหวัดชลบุรี ชุมชนท่องเที่ยวแหลมสัก จังหวัดกระบี่ และชุมชนพระบาทห้วยต้ม จังหวัดลำพูน เป็นต้น ทั้งนี้ตรามาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ถึงมาตรฐาน มีคุณค่าและสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนอย่างแท้จริง นอกจากนั้น กรมการท่องเที่ยว ภายใต้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยังได้ประกาศกำหนดเขตพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวในท้องถิ่นหรือชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ครั้งที่ 1 จำนวน 4 ชุมชน และ ครั้งที่ 2 จำนวน 22 ชุมชน เพื่อให้มัคคุเทศก์ซึ่งได้รับการยกเว้นคุณสมบัติทำหน้าที่มัคคุเทศก์ เช่น ปราชญ์ชาวบ้าน นักสื่อความหมาย เจ้าบ้านน้อย ในท้องถิ่น ได้เป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่น หรือ ไกด์ท้องถิ่น ที่ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป โดยพื้นที่ที่ได้รับการประกาศ ทางกรมการท่องเที่ยวจะเข้าไปช่วยอบรมเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ให้แก่ผู้ที่จะเป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่นหรือชุมชน เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้อง การบริการนักท่องเที่ยว การต้อนรับนักท่องเที่ยวภาษาต่างประเทศ เป็นต้น ทั้งนี้ นายโชติ กล่าวต่อว่า การทำงานอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องของคณะอนุกรรมการการท่องเที่ยวโดยชุมชน ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจาก 24 หน่วยงาน ซึ่งมาจากหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนจากต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยกระบวนการต่อไป ก็จะได้ร่วมกันบูรณาการการนำแผนไปสู่การปฏิบัติของทุกภาคส่วนพร้อมงบประมาณ โดยนำเสนอคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) เห็นชอบ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบดำเนินการตามแผนต่อไป