วันนี้ (6 ก.พ.63) ที่โรงแรมรามาการ์เด้น นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาโครงการระวังป้องกันภัยทางไซเบอร์และการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ในหัวข้อ “ภัยไซเบอร์ในอนาคตกับการรับมือของ DSI” ระหว่างวันที่ 6 - 7 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 08.30 น. - 16.30 น.ที่ ห้องทิวลิป โรงแรมรามาการ์เด้น เพื่อระดมความคิดจากนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ประกอบการ ร่วมกันมองภาพอนาคต เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ในการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร เครื่องมือ และพัฒนากระบวนการสืบสวนสอบสวนให้พร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี นายไตรยฤทธิ์ กล่าวว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษได้เล็งเห็นพัฒนาการของเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนโลกในอนาคต หรือที่เรียกว่า Disruptive Technology ที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิต การประกอบธุรกิจและทิศทางเศรษฐกิจของโลก แต่สิ่งที่ตามมาคือภัยคุกคามทางไซเบอร์ใหม่ ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อบุคคล องค์กร หรือความมั่นคงระดับชาติ ซึ่งอาชญากรเปลี่ยนรูปแบบการกระทำความผิดโดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดมากขึ้น ทำให้ยากต่อการติดตามค้นหาร่องรอยที่อาชญากรทิ้งไว้ หากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายปรับกลยุทธ์ พัฒนาองค์ความรู้ให้กับบุคลากรในหน่วยงาน ก็จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีความรู้เท่าทันอาชญากรและสามารถกระทำการโต้ตอบได้อย่างทันท่วงที หรือสามารถสกัดกั้นการกระทำความผิดของอาชญากรได้ กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักของกรมสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนความผิดทางเทคโนโลยีและสารสนเทศ จึงได้กำหนดจัดสัมมนา โครงการระวังป้องกันภัยทางไซเบอร์และการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ในหัวข้อ “ภัยไซเบอร์ในอนาคตกับการรับมือของ DSI” ขึ้นดังกล่าว การจัดสัมมนาครั้งนี้ มุ่งหวังให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ จำนวน 80 คนมีศักยภาพรู้เท่าทันเทคโนโลยี 5G เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI เทคโนโลยี IoT (Internet of Things) เทคโนโลยี Blockchain รวมทั้ง Big Data และภัยทางไซเบอร์รูปแบบต่าง ๆ ในอนาคต โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เว็บมาสเตอร์ จำกัด และเลขาธิการสมาคมไทยบล็อกเชน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท INET: INTERNET THAILAND PUBLIC COMPANY LIMITED เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “เทคโนโลยีสมัยใหม่กับการรับมือภัยไซเบอร์” และหัวข้อ “อาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและสารสนเทศ" โดยผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย ส่วนวันที่7 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นการสัมมนาหัวข้อ "เทคโนโลยีเพื่อกระบวนการยุติธรรม" โดยผู้ทรงคุณวุฒิจากสมาคมเทคโนโลยีดิจิทัล ​นายไตรยฤทธิ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลได้มีการประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เพื่อป้องกันหรือรับมือกับสถานการณ์ด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ส่งผลกระทบหรืออาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการให้บริการ การประยุกต์ใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ต โครงข่ายโทรคมนาคม อันกระทบต่อความมั่นคงของชาติและความมั่นคงทางเศรษฐกิจซึ่งได้เตรียมการจัดตั้งคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติเพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แล้ว ปัจจุบันภัยคุกคามทางไซเบอร์มีจำนวนที่เพิ่มสูงขึ้นและทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็นภัยคุกคามที่เกิดจากการใช้/เผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เป็นจริงหรือไม่เหมาะสม (Abusive Content) เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของบุคคล หรือสถาบัน เพื่อก่อให้เกิดความไม่สงบ หรือข้อมูลที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น ลามก อนาจาร หมิ่นประมาท และรวมถึงการโฆษณาขายสินค้าต่าง ๆ ทางอีเมล์ ที่ผู้รับไม่ได้มีความประสงค์จะรับข้อมูลโฆษณานั้น ๆ (Spam) หรือภัยคุกคามที่เกิดจากการฉ้อฉล ฉ้อโกง หรือการหลอกลวงเพื่อผลประโยชน์ (Fraud) สามารถเกิดได้ในหลายลักษณะ เช่น การลักลอบใช้งานระบบ หรือทรัพยากรทางสารสนเทศที่ไม่ได้รับอนุญาต เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ของตนเอง หรือการขายสินค้า หรือซอฟต์แวร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ รวมถึงภัยคุกคามที่เกิดกับระบบที่ถูกบุกรุก/เจาะเข้าระบบได้สำเร็จ (Intrusions) และระบบถูกครอบครองโดยผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น ซึ่งส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายทั้งต่อระดับปัจเจกชน และระดับประเทศ ซึ่งนานาประเทศต่างให้ความสำคัญในการดำเนินงานเพื่อรับมือกับปัญหาภัยคุกคามดังกล่าวอย่างมาก กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงจำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันกำหนดวิธีการ แนวทางในการปฏิบัติงานร่วมกัน อันเป็นการสนับสนุนการทำงานด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ให้เกิดการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมคอมพิวเตอร์อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน