เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 4 ก.พ.63 นายธวัชชัย ใบเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ภาค 2 เป็นประธานเปิดการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 ณ โรงแรมธาราฮิลล์ จังหวัดอุทัยธานี เพื่อนำเสนอ ร่างแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำสะแกกรัง พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย คณะกรรมการลุ่มน้ำ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สื่อมวลชน และประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรัง เข้าร่วมประชุมกว่า 100 คน นายธวัชชัย ใบเจริญ ผอ.สทนช. ภาค 2 กล่าวว่า ขณะนี้ สทนช. และทีมที่ปรึกษา ที่ประกอบด้วย คณาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำ (ร่าง) แผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำสะแกกรัง ที่สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) เสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งจัดลำดับความสำคัญตามหลักเกณฑ์ที่ผ่านความเห็นชอบจากการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 1 รวมทั้งสิ้น 254โครงการ ประกอบด้วย แผนระยะเร่งด่วน (พ.ศ.2563-2565) จำนวน 81 โครงการ เป็นโครงการที่แก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่แล้งซ้ำซาก จำนวน 54 โครงการ อาทิ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองโพธิ์ (ระยะที่ 1) โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยระบำ เป็นต้น แผนระยะสั้น (พ.ศ.2566-2570) จำนวน 24 โครงการ เป็นโครงการที่แก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่แล้งซ้ำซาก จำนวน 23 โครงการ อาทิ โครงการระบบส่งน้ำอ่างเก็บน้ำคลองโพธิ์ (ฝั่งซ้าย) โครงการอ่างเก็บน้ำหุบหวายโป่ง แผนระยะปานกลาง (พ.ศ.2571-2575) จำนวน 59 โครงการ เป็นโครงการที่แก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่แล้งซ้ำซาก จำนวน 55 โครงการ แผนระยะยาว (พ.ศ.2576-2580) จำนวน 90 โครงการ เป็นโครงการที่แก้ไขปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก จำนวน 1 โครงการ ทั้งนี้ ภายหลังจากการรับฟังความคิดเห็นแล้วเสร็จในทุกพื้นที่ สทนช. จะได้นำความคิดเห็นที่ได้รับมาปรับปรุง ผลการศึกษาให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่มากยิ่งขึ้น และคาดว่าจะสามารถส่งมอบแผนหลัก การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ ที่จัดลำดับความสำคัญแล้ว ให้คณะกรรมการลุ่มน้ำเสนอความเห็น และให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติให้ความเห็นชอบ ตามลำดับ หากโครงการมีความพร้อมก็สามารถดำเนินการได้ทันที อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และปัญหาคุณภาพน้ำ ที่เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุดได้อย่างรวดเร็ว และตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง หวังให้เป็นต้นแบบต่อยอดขยายผลไปใช้เป็นทิศทางในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำอื่นๆ ต่อไป