เกษตรฯ หนุนชาวสวนทุเรียนผนึกกำลังสร้างเครือข่าย มุ่งเน้นคุณภาพเตรียมจัดงาน "Durian to Go by สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออก" พัฒนาทุเรียนไทย ก้าวไกลสู่สากล" 27-29 ก.พ.นี้ ณ อบจ.จันทบุรี เมื่อวันที่ 3 ก.พ. นายชาตรี บุญนาค รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวภายหลังแถลงข่าวการจัดงาน Durian to Go by สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออก “พัฒนาทุเรียนไทย ก้าวไกลสู่สากล” ร่วมกับ นายวิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นายดำรงฤทธิ์ หลอดคำ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 และนายธีรภ้ทร อุ่นใจ นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออก ณ บริเวณสวนทุเรียนของเกษตรกร นายพีรเพลิน ทับที่สุด หมู่ 10 ต.ซึ้ง อ.ขลุง จ.จันทบุรีว่า งานดังกล่าวกำหนดจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-29 กุมภาพันธ์ 2563 ณ บริเวณลานขนถ่ายสินค้า องค์การบริการส่วนจังหวัด อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี โดย “ทุเรียน” ถือเป็นราชาผลไม้ไทยที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของประเทศ มีความสำคัญต่อภาคเกษตรไทยช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเป็นอย่างมาก จากสถานการณ์การขยายตัวของพื้นที่การปลูกทุเรียนในประเทศมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 20 และมีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 15-20 มีการขยายพื้นที่ปลูกเกือบทั่วประเทศ ประมาณ 45 จังหวัด ประกอบกับประเทศจีนรับซื้อผลผลิตทุเรียนไทยร้อยละ 80 โดยตลาดส่งออกทุเรียนของไทยพึ่งพาตลาดจีนประเทศเดียว (ประมาณร้อยละ 80 ของผลผลิตทั้งหมด) ได้มีการเริ่มกำหนดมาตรการการส่งออกการซื้อขายที่เข้มงวดมากขึ้น และสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนแปลงมีผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพผลผลิตทุเรียน ดังนั้น จึงคาดได้ว่าอาจจะเกิดปัญหาในอนาคตกับทุเรียนไทยแน่นอน กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้ประสานงานให้มีการจัดตั้ง “สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทย” ขึ้น เพื่อให้สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยเป็นสื่อกลางการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทุเรียนอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการรวมกลุ่มเกษตรกรที่มีความสามารถโดดเด่นเป็นเกษตรกรต้นแบบที่ดี (Best Practice) เพื่อสร้างต้นแบบการพัฒนาและบริหารจัดการทุเรียนด้วยความสามารถของเกษตรกรเอง โดยมีภาครัฐเป็นฝ่ายให้การสนับสนุน ซึ่งได้มีการจัดตั้งสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยและคัดเลือกคณะกรรมการชาวสวนทุเรียน เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2562 โดยมีนายฉัตรกมล มุ่งพยาบาล เป็นนายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยคนแรก และได้คัดเลือกคณะกรรมการสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนจาก 6 ภาค ดังนี้ 1.คณะกรรมการสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคกลาง 2.คณะกรรมการสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันตก 3.คณะกรรมการสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออก 4.คณะกรรมการสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5.คณะกรรมการสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ และ6.คณะกรรมการสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคเหนือ สำหรับเป้าหมายการดำเนินงาน คือ พัฒนาคุณภาพผลผลิตทุเรียนให้ได้การรับรองมาตรฐานการผลิต GAP พัฒนาความเข้มแข็งของกลุ่มและเชื่อมโยงผู้ผลิตและผู้ส่งออกเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและมีตลาดรองรับล่วงหน้าแน่นอน สร้างมาตรฐานผลผลิตทุเรียนเดียวกันทั้งประเทศเพื่อให้สามารถกำหนดราคาซื้อขายร่วมกับพ่อค้า สร้างการยอมรับและความเชื่อมั่นให้กับผู้ส่งออก/ผู้บริโภค (มีอำนาจในการกำหนดราคาด้วยตนเอง) รวมถึงกำหนดและควบคุมแผนการผลิตให้กระจายตัวครอบคลุมตลอดปี ตลอดจนผลักดันและขยายผลการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่โดยเชื่อมโยงกับหน่วยงานวิชาการอย่างจริงจัง มีภาครัฐร่วมสนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งการผลิต การใช้ระบบ IT และเกษตรสมัยใหม่ ให้เป็นต้นแบบของการพัฒนาระบบการจัดการทุเรียนไทยที่เป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม กรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ซึ่งเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนและพัฒนาเกษตรกร มุ่งหวังให้มีการเตรียมการรองรับการกระจายผลผลิตทุเรียนในอนาคต และสร้างความเข้มแข็งองค์กรเกษตรกร เพื่อขับเคลื่อนการผลิตและการตลาดทุเรียนให้ได้คุณภาพ เกษตรกรที่ผลิตทุเรียนจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการผลิต โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยผลิตทุเรียนให้มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน มีการวางแผนที่ดีลดความเสี่ยงการผลิตสินค้ามากเกินความต้องการ ถือเป็นการพัฒนาเกษตรกรรมของประเทศด้วยนวัตกรรมการผลิต และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ตามนโยบายเกษตร 4.0 ของประเทศอย่างเป็นเอกภาพ ด้านนายดำรงฤทธิ์ หลอดคำ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จ.ระยอง กล่าวว่า พื้นที่ปลูกทุเรียนของภาคตะวันออกมีมากกว่า 700,000 ไร่ ปริมาณผลผลิตมากกว่า 500,000 ตัน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการคัดเลือกคณะกรรมการสมาพันธ์ฯ จากเกษตรกรชาวสวนทุเรียนจาก 6 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ จันทบุรี ตราด ระยอง ชลบุรี ปราจีนบุรี และนครนายก มีเป้าหมายคือ เพื่อพัฒนาทุเรียนภาคตะวันออกอย่างเป็นระบบครบวงจร รวมทั้งพัฒนาชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออกให้เป็น Smart Farmer โดยวางกลยุทธ์ไว้ 5 ด้าน ดังนี้ 1.พัฒนาคณะกรรมการและสมาชิกสมาพันธ์ฯ ให้มีทักษะ ความรู้ความชำนาญ ในเรื่องเทคโนโลยีและการบริหารจัดการให้เท่าเทียมกัน 2.ส่งเสริมและพัฒนาการผลิตและผลิตภัณฑ์แปรรูปทุเรียน ให้เข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ การจัดการเก็บเกี่ยวทุเรียนให้ถูกระยะ การผลักดันเข้าสู่ระบบมาตรฐาน GAP การเพิ่มมูลค่าทุเรียน ตลอดจนขยายผลงานวิจัยสู่การปฏิบัติ 3.ส่งเสริมด้านการตลาด การสร้างแบรนด์ของสมาพันธ์ฯ เพื่อรับรองคุณภาพ 4.การสร้างความเข้มแข็งสมาพันธ์ฯ ด้วยการพัฒนาและจัดการชาวสวนทุเรียนด้วยตนเอง และ5.เผยแพร่ประชาสัมพันธ์การจัดงานของสมาพันธ์ฯ อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีการเปิดรับสมาชิกเครือข่ายสมาพันธ์ฯ เพื่อให้ชาวสวนทุเรียนเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาขับเคลื่อนอย่างมั่นคง ขณะที่นายธีรภัทร อุ่นใจ นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออก กล่าวถึงกิจกรรมการจัดงาน "Durian to Go by สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออก" ที่จะจัดขึ้นช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ว่า จะมีการเปิดตัวสมาพันธ์ฯ อย่างเป็นทางการ พร้อมกับเปิดรับสมาชิกเพื่อขยายเครือข่ายเพิ่มเติม การเสวนาเรื่อง พัฒนาทุเรียนไทย ก้าวไกลสู่สากล การจัดนิทรรศการวิชาการจากหน่วยงานราชการและภาคเอกชน การจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์การเกษตร และวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการจัดกิจกรรมอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่ การควบคุมป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าทุเรียนอย่างเป็นระบบ การรณรงค์ไม่ตัดทุเรียนอ่อนก่อนระยะเก็บเกี่ยว และการเลือกดูทุเรียนคุณภาพ เป็นต้น จึงขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมงานได้ตั้งแต่วันที่ 27-29 กุมภาพันธ์นี้ ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี อ.เมือง จ.จันทบุรี