เมื่อวันที่ 3 ก.พ. นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานการประชุมแผนการรับมือเกี่ยวกับโรคที่มีค้างคาวเป็นพาหะในปศุสัตว์ พร้อมด้วยนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการกองสารวัตรและกักกัน เจ้าหน้าที่จากสำนัก ควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ และด่านกักกันสัตว์สุวรรณภูมิ ณ ห้องประชุม 1 ตึกอำนวยการ กรมปศุสัตว์
สืบเนื่องจากมีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เชื้อนี้อาจมีค้างคาวเป็นแหล่งรังโรค มีลักษณะทางพันธุกรรมที่คล้ายคลึงกับเชื้อไวรัสโคโรนาที่พบในค้างคาว 96 % ซึ่ง สถานการณ์ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคนี้เพิ่มมากขึ้น และพบการติดต่อจากคนสู่คนในประเทศไทย 1 ราย ประเทศไทยมีการเตรียมความพร้อมและดำเนินการในการป้องกัน ควบคุมและแก้ไขสถานการณ์โรคโรคติดต่ออุบัติใหม่ให้มีประสิทธิภาพจึงได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 23/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ ลงวันที่ 28 มกราคม 2563 มีรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน และอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นกรรมการและเลขานุการร่วมในคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ นั้น
กรมปศุสัตว์ได้มีการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับโรคที่เกี่ยวข้องกับโรคปอดอักเสบจาก เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ดังนี้
1.ดำเนินการเฝ้าระวังโรคที่เกิดจากค้างคาวโดยเริ่มตั้งแต่มีการระบาดของโรคไข้สมองอักเสบนิปาห์ในประเทศมาเลเซียในปี 2541 โดยทำการเก็บตัวอย่างสุกร อย่างต่อเนื่องทุกปี เน้นในพื้นที่เสี่ยง ไม่พบผลบวกนิปาห์ไวรัส และไม่พบเชื้อไวรัส MERS
2.กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินโครงการวิจัยในค้างคาว คน และปศุสัตว์ ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก USAID/FAO โดยดำ เนินการ ตั้งแต่ปี 2558 –2562 ทำการสำรวจหาหลักฐานการติดเชื้อไวรัสที่มีค้างคาวเป็นพาหะ ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และราชบุรี โดยเก็บตัวอย่างซีรัม, Nasal swab, Rectal swab, และ Urine swab ในสุกร 2,067 ตัว โค 200 ตัว และสัตว์เลี้ยง (สุนัขและแมว) 238 ตัว ส่งตรวจ PCR ที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ผลการตรวจวิเคราะห์พบไวรัสเดิมที่อยู่ในสัตว์นั้นอยู่แล้ว ไม่ได้พบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในตัวอย่างดังกล่าว
3.กรมปศุสัตว์ได้พัฒนาระบบสารสนเทศแอปพลิเคชันบนมือถือ อี สมาร์ทพลัส (E-SmartPlus) เพื่อเฝ้าระวังโรคและสามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงของฟาร์มต่อโรคที่มีค้างคาวเป็นแหล่งพาหะที่สำคัญ
4.การศึกษาทางระบาดวิทยาและพัฒนานวัตกรรม ในการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงโรค ศึกษาความรู้และทัศนคติของเกษตรกร และศึกษารูปแบบการระบาดและความรุนแรงของโรค
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้มีการเฝ้าระวังโรคที่มีค้างคาวเป็นพาหะในปศุสัตว์อย่างต่อเนื่อง ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคที่มีค้างคาวเป็นพาหะ ให้คำแนะนำแก่เกษตรกรให้มีการปรับปรุงฟาร์ม พัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่าง และจัดทำแผนการเตรียมความพร้อมรับมือโรคที่มีค้างคาวเป็นพาหะในปศุสัตว์ เพิ่มเข้าไปกับแผนรับมือโรคไข้สมองอักเสบนิปาห์ที่มีอยู่เดิม เพื่อร่วมเฝ้าระวังและป้องกันโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติต่อไป