"ตั้งแต่มาเป็นนักการเมือง หรือมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า หลายๆ ประเทศในภูมิภาคนี้ นักการเมืองที่สนใจ หรือให้ความสำคัญกับการต่างประเทศมีไม่มาก แต่ว่าตั้งแต่เป็น สส.สมัยแรกๆ จะมีการรวมตัวของนักการเมืองรุ่นเดียวกันที่ไปคุยร่วมกัน เรื่องที่เกี่ยวข้องกับอาเซียน ที่น่าสนใจคือ ทุกปีจะต้องมีการจัดกิจกรรมในส่วนของการโต้วาที ในหัวข้อเกือบทุกปีจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ ASEAN WAY " "นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของประเทศไทย ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งมีโอกาสได้ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์ การเมืองระหว่างประเทศ และความร่วมมือระหว่างประเทศตที่มีวิวัฒนาการอย่างน่าสนใจเริ่มต้นกล่าว ก่อนที่จะมีมองมุมต่อการรวมกลุ่มกันของ10 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในโอกาสครบรอบ 50 ปี อาเซียน ที่ปัจจุบันได้กลายมาเป็น "ประชาคมอาเซียน" เรียบร้อยแล้ว "วิถีอาเซียนเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่" ทำไมในหมู่นักการเมืองรุ่นเดียวกันจึงถกเรื่องนี้ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ส่วนหนึ่งเพราะ มีคนที่มองว่า กรอบความร่วมมืออาเซียน กับวิถีอาเซียนเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของภูมิภาคนี้ ยึดถือปฏิบัติกันมาต่อเนื่องมาโดยตลอดหลายสิบปี ก็มีความสำเร็จระดับหนึ่ง แต่อีกด้านหนึ่งก็ยังมีคนที่มีความเห็นต่างว่า ความร่วมมือในกรอบของอาเซียน ดูๆไปแล้วไม่ได้ครอบคลุมเลย ไม่สามารถผลักดันไปสู่การรวมตัวของประเทศที่เป็นสมาชิกได้อย่างแน่นแฟ้นใกล้ชิด เหมือนกันภูมิภาคอื่นๆ นายอภิสิทธิ์เริ่มจากการมองย้อนกลับไปถึงการก่อตั้งอาเซียน ซึ่งเป้าหมายที่แท้จริงแล้วเป็นเรื่องการดูแลปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องความมั่นคง ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้กำลังเจอภัยคุกคามของการขยายตัวของโลกคอมมิวนิสต์ ดังนั้นต้องมารวมตัวกัน เพื่อผนึกกำลังให้สามารถฟันฝ่าภัยคุกคามตรงนี้ไปได้ และสามารถที่จะพัฒนา เศรษฐกิจ และการเมืองของตัวเองอย่างต่อเนื่องไปได้ ซึ่งถ้ามองย้อนกลับไปแบบนี้ ก็ต้องถือว่าอาเซียนประสบความสำเร็จบรรลุเป้าหมายของผู้ก่อตั้ง และแม้แต่มีการต่อสู้ความขัดแย้งที่สุดแล้วอาเซียนก็ได้มีการขยายจำนวนสมาชิกโดยได้บรูไน เวียดนาม ลาว เมียนมา และกัมพูชามาเป็นสมาชิกภายหลัง แม้ตอนนี้จะยังขาดติมอร์ตะวันออก แต่ในความเชื่อส่วนตนแล้ว คิดว่าไม่ช้าไม่นานก็จะต้องให้ติมอร์ตะวันออกเข้ามาเป็นสมาชิกให้ครบจนได้ นี่ก็เป็นอีกที่เห็นได้ว่าเป็นความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมรูปธรรม "ประเด็นเขตการค้าเสรี" ที่นายอภิสิทธิ์ เปรียบเทียบกับการรวมตัวกันของสหภาพยุโปร (อียู) ซึ่งตามประวัติศาสตร์แล้ว ก็เริ่มมาจากความร่วมมือด้านการค้า เรื่องเศรษฐกิจก่อน แล้วมาทำเขตการค้าเสรี แล้วมาเป็นตลาดร่วม แล้วก็มาเป็นอียู ขณะที่อาเซียนเองก็คล้ายๆ กัน เมจากเขตการค้าเสรีตั้งแต่ปี 2535 ลดภาษีนำเข้าระหว่างกันเหลือ 0 จากนั้นก็มาสู่วิสัยทัศน์การเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งประกอบด้วย 3 เสาหลัก ซึ่งหลังจากที่มีวิสัยทัศน์นี้ออกมาก็ได้มีการปรับปรุงกฎบัตรอาเซียน เริ่มให้ความสำคัญของสำนักเลขาธิการ และกลไกในการติดตามว่าประเทศสมาชิกสามารถปฏิบัติตามข้อตกลงต่างๆ ได้แค่ไหน มีการให้คะแนน ตรวจสอบกัน ก็จะเห็นวิวัฒนาการความเข้มแข็งในการรวมตัวกันไปเป็นลำดับ อย่างไรก็ตาม หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หากจะมองอาเซียน ที่เป็นประชาคมในวันนี้ว่า จะมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้สร้างความเป็นหนึ่งของคนในภูมิภาคนี้ให้ดีขึ้น และก็ทำให้ภูมิภาคนี้มีบทบาทสำคัญในประชาคมโลกด้วย ก็คงต้องมาตอบคำถามว่าสิ่งที่ทำอยู่ในขณะนี้เพียงพอหรือไม่ สิ่งที่เป็นแผนวางไปในข้างหน้ามีความคืบหน้า ก้าวหน้าแค่ไหน และอะไรบ้างที่ต้องทำเพิ่ม ด้าน "อาเซียนกับการมีบทบาทในเวทีโลก" แม้ที่ผ่านมาหลายครั้งอาเซียนถูกตำหนิ หรือประชดประชัน ว่าไม่ค่อยมีบทบาทมากนัก แต่นายอภิสิทธิ์ก็ยังมองเห็นความสำเร็จในประเด็นนี้ เช่น อาเซียนมีบทบาทในการสร้างเวทีสำคัญอย่าง ASEAN Regional Forum สามารถมีบทบาทในการเป็นเวทีให้หลายๆ ฝ่ายที่มีความขัดแย้ง ไม่ใช่ระดับแค่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เป็นระดับเอเชีย ระดับโลก ซึ่งทุกวันนี้ ในแต่ละปีไม่ได้มีการประชุมสุดยอดอาเซียนอย่างเดียว แต่มีการประชุมอาเซียนกับคู่เจรจา ทั้งกรอบอาเซียน +3 อาเซียน+6 ที่ถือว่าเป็นเวทีที่มีความสำคัญมาก เพราะหลายประเทศได้เกิดความร่วมมือจากเวทีนี้ อาเซียนใช้เวทีเหล่านี้ดึงดูดมหาอำนาจเข้ามา "สมัยที่เป็นนายกฯ ประสบความสำเร็จเรื่องหนึ่ง คือ สามารถทำให้อาเซียนไปร่วมการประชุมในเวที จี20ได้ด้วย ซึ่งเป็นเวทีของประเทศเศรษฐกิจใหญ่ 20 ประเทศ แต่ช่วงนั้นได้พบกับผู้นำอังกฤษ ที่ดำรงตำแหน่งประธานจี20 ประกอบกับเวลานั้นโลกกับประสบวิกฤติเศรษฐกิจ จึงได้บอกว่า ภูมิภาคอาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีประสบการณ์ในการผ่านวิกฤติทางเศรษฐกิจมาก่อนจากวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ทางนั้นจึงสนใจ และเชิญให้อาเซียนเข้าไปมีส่วนร่วมในการประชุม จี 20ด้วย" ดังนั้นในแง่มุมของความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคง การกระชับความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจ การมีบทบาทบนเวทีโลก ก็ถือว่ามีความก้าวหน้าทั้งสิ้น นายออภิสิทธิ์ ยังเล่าต่อว่า ครั้งไปประชุมอาเซม (ASEM) เมื่อปี 2554 มีผู้นำในกลุ่มประเทศในยุโรปสนใจเข้ามาสอบถามว่า จะมีส่วนร่วมในการมาประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit) ได้อย่างไร ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมองอาเซียนแบบไม่ให้ความสำคัญ จึงนับว่ามีความเปลี่ยนแปลงมาก ซึ่งเขามองเห็นแล้วว่าอาเซียนนอกจากจะมีการจัดตั้งประชาคมขึ้นมาแล้ว ยังมีข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับคู่เจรจา ทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย นั่นคือความสำเร็จ ทว่าก็ต้องดูว่าความสำเร็จเหล่านี้จะไปได้ขนาดไหน เพราะแม้จะบอกว่าเอฟทีเอ เป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว แต่ตัวเลขของการค้าขาย การลงทุนในภูมิภาคนี้จริงๆ จะพบว่า ผู้ประกอบการเฉพาะประเทศที่สามารถใช้สิทธิให้กรอบข้อตกลงของเขตการค้าเสรีอาเซียน แต่ไม่ได้ใช้หรือไม่คิดจะใช้ ยังอยู่ในสัดส่วนที่สูงมาก แสดงว่า เขายังมองไม่เห็นความสำคัญ หรือประโยชน์ของตรงนี้ หรืออาจจะมองว่าการจะมาใช้สิทธิมันยุ่งยากเกินไป ไม่คุ้มกับที่จะเข้ามา นี่ก็เป็นตัวชี้วัด หรือสัญญาณอย่างหนึ่งที่บอกว่า เราจำเป็นต้องปรับปรุงการทำงาน "ตอนที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ตอนนั้นได้เข้าสู่แผนการเป็นประชาคม จึงได้ผลักดันวาระสำคัญที่เรียกว่า การเชื่อมโยง (Connectivity) เพราะการเชื่อมโยง คือการที่จะทำให้การรวมตัวของ 10 ประเทศทางเศรษฐกิจเป็นรูปธรรรม จับต้องได้ ข้อตกลงทั้งหลายก็เป็นเพียงข้อตกลงในกระดาษ ถ้าการเชื่อมโยงจริงไม่เกิดขึ้น ประโยชน์ที่จะได้จากข้อตกลงเหล่านั้นก็จะไม่เกิดขึ้น" ปัญหาหนึ่งที่ทำให้การเชื่อมโยงที่เป็นรูปธรรมระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าอย่างที่ควรจะเป็น หรือทำได้ดีกว่าแม้การเชื่อมโยงในภูมิภาคนั้นมีการศึกษากันมาเป็นสิบปีแล้วว่า เครือข่ายถนน เครือข่ายราง โทรคมนาคมจะต้องเชื่อมโยงกันอย่างไร ก็คือ "รัฐบาลของประเทศสมาชิกไม่ได้นำเอาแผนการ ข้อตกลง หรือวิสัยทัศน์เหล่านั้นไปเป็นตัวกำหนดนโยบาย" อย่างโครงการรถไฟความเร็วสูง ที่เมื่อเริ่มต้นเจรจาถูกคิดในมุมมองโครงการอาเซียน - จีน ที่จะมีรถไฟวิ่งจากจีนตอนล่างไปถึงสิงคโปร์ แต่จากวันนั้นมาถึงวันนี้ผ่านมา 6 ปี รัฐบาลไทยเปลี่ยน โครงการรถไฟความเร็วสูงจากที่เคยบอกจะไปเชื่อกับลาวกับจีนที่หนองคาย รัฐบาลต่อมาก็บอกว่าขอให้ความสำคัญกับกรุงเทพ - เชียงใหม่ก่อน ตรงนี้เห็นว่ามุมมองอาเซียนหายไปไหนจากมิติของการพัฒนา พอเปลี่ยนรัฐบาลกลับมาพูดเรื่องรถไฟสายนี้ใหม่ แต่ก็ยังเน้นโครงการนี้เสมือนเป็นโครงการภายในประเทศอยู่ดี นี่คือตัวอย่างที่ต้องตระหนักว่า ความเป็นประชาคมอาเซียนจะเดินหน้าไปได้ กระบวนการความคิดภายในประเทศสมาชิกจะต้องมีความเปลี่ยนแปลงทั้งหมด เช่นนั้นแล้วต่างคนก็ต่างจะให้ความสำคัญกับพัฒนาการภายในประเทศของตัวเองมากกว่าที่จะให้ความสำคัญกับการเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน ประเด็น "ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาเซียน" อดีตนายกฯ คนนี้มองว่า ถ้าจะให้น้ำหนักกับอาเซียนในฐานะเป็นกลุ่มประเทศที่รวมตัวกัน คงไม่มีความชัดเจนในจุดยืนของตัวเองในหลายเรื่อง อย่างช่วงที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน ก็พยายามผลักดัน เช่น เรื่องสิทธิมนุษยชน โดยมีการตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของอาเซียนขึ้นมา แต่อำนาจก็จำกัดมาก หรือจะบอกว่าอาเซียนไม่สนใจเรื่องประชาธิปไตย ไม่สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนเลยเหมือนอย่างที่โลกตะวันตกชอบตำหนิ ก็ไม่ค่อยเป็นธรรมนัก เพราะยืนยันว่า ช่วงที่เมียนมามีปัญหา อาเซียนมีบทบาทค่อนข้างมากในการพยายามที่จะช่วยสนับสนุนให้เมียนมาก้าวเข้าสู่การเป็นประชาธิปไตย เพียงแต่วิธีที่ใช้แตกต่างจากโลกตะวันตกที่มักจะออกมาแถลงการณ์ ประณาม แต่วิถีอาเซียนก็คือ การประชุมทุกครั้งนั้นมีการสอบถามติดตามสถานการณ์ตลอด 50 ปี อาเซียน ถ้ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงกรอบวิธีคิดในการทำงาน ยังก้าวเดินหน้าต่อไปแบบเดิมเช่นนี้ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า อาเซียนจะเดินหน้าไปมากกว่านี้ไม่ได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือว่า ถ้าอาเซียนต้องการรวมตัวแน่นแฟ้นกว่านี้ สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นก็คือ ประชาชนในภูมิภาคนี้ต้องมีความรู้สึกอย่างเดียวกันว่าเป็นพลเมืองอาเซียนมีส่วนร่วมในกิจการของอาเซียน มีส่วนร่วมในการกำหนดจุดยืนของประชาคมอาเซียน แต่ก็ต้องยอมรับว่า ยังคงอีกไกลจากภาวะนั้นพอสมควร เพราะทุกวันนี้ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากที่สุดก็คือทำให้คนรับรู้ว่ามีอาเซียนอยู่ ส่วนความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนยังมีไม่มากเทียบกับอียู ซึ่งหากเปรียบเทียบที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศสมาชิกอียู อย่างกรีซ เพื่อที่จะให้ยังเป็นส่วนหนึ่งของยูโรโซน กรีซต้องตดงบประมาณอย่างทารุณมากๆ สำหรับคนในประเทศ ขณะเดียวกันผู้เสียภาษีอย่างในเยอรมนี ฝรั่งเศส ต้องยอมเสียภาษีเพื่ออุ้มให้สถาบันการเงิน และรัฐบาลกรีซอยู่ได้ ถ้าความรู้สึกของการเป็นพลเมืองยุโรปไม่มี กรีซคงต้องหลุดไปแล้ว ถ้ามีปัญหาคล้ายๆ กันนี้ในอาเซียน วันนี้คงไม่สามารถมั่นใจได้ว่า หากบางประเทศต้องยากลำบาก บางประเทศต้องเสียสละบ้าง ทุกชาติ ทุกคนจะยังยอมรักษาความเป็นอาเซียนอยู่หรือไม่