สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page โพสต์ภาพพื้นผิวดวงอาทิตย์ที่คมชัดที่สุด โดยระบุ “29 มกราคม 2563 มูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐฯ (NSF) เผยภาพถ่ายพื้นผิวดวงอาทิตย์ความละเอียดสูงสุดในประวัติศาสตร์ จากกล้องโทรทรรศน์สุริยะ DKIST กล้องโทรทรรศน์สุริยะ DKIST หรือกล้องโทรทรรศน์สุริยะแดเนียล เค อิโนอุเอะ (Daniel K. Inouye Solar Telescope) เป็นกล้องโทรทรรศน์ขนาด 4 เมตร ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟฮาเลยากาลา (Haleakala) หมู่เกาะฮาวาย สูงจากระดับน้ำทะเล 3,000 เมตร สร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา เป็นกล้องโทรทรรศน์สำหรับศึกษาดวงอาทิตย์ที่มีขนาดใหญ่และทันสมัยที่สุดในโลก # ภาพพื้นผิวดวงอาทิตย์ที่ชัดเจนที่สุด ภาพนี้เป็นภาพแรกที่ได้จากกล้อง DKIST สามารถสังเกตการณ์พื้นผิวดวงอาทิตย์ได้อย่างที่ไม่เคยมีกล้องใดทำได้มาก่อน เผยให้เห็นลักษณะของ “ฟองพลาสมาเดือด” กล่าวคือ พลังงานความร้อนที่ผลิตอยู่ด้านในดาวจะส่งผ่านออกสู่ชั้นนอกสุดด้วย เกิดเป็นจุดสว่างขึ้น จากนั้นจะเย็นตัวลงและไหลลงสู่ชั้นที่ต่ำกว่า เกิดเป็นเส้นสีดำ กระบวนการดังกล่าวทำให้พื้นผิวดวงอาทิตย์แบ่งเป็นเซลล์อย่างชัดเจน แต่ละเซลล์มีขนาดประมาณ 30 กิโลเมตร ปกคลุมอยู่ทั่วทั้งดาว เรียกว่า “แกรนูล” (Granule) เบื้องต้นนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าจุดสว่างที่เกิดขึ้นที่ใจกลางแกรนูลแต่ละเซลล์อาจเป็นแหล่งส่งผ่านพลังงานสู่ชั้น “โคโรนา” บรรยากาศชั้นนอกสุดของดวงอาทิตย์ ส่งผลให้ชั้นดังกล่าวมีอุณหภูมิสูงนับล้านองศาเซลเซียส รวมถึงอาจช่วยอธิบายกระบวนการเกิด “การลุกจ้าบนดวงอาทิตย์” (Solar Flare) ได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังศึกษาได้ถึงต้นตอของอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้าปะทุออกมาจากพื้นผิว ซึ่งเป็นอนุภาคที่สามารถสร้างความเสียหายต่อดาวเทียมที่โคจรอยู่รอบโลก รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บนพื้นโลกได้ ดังนั้นหากเราเข้าใจอนุภาคดังกล่าวมากขึ้น จะช่วยให้การเตือนภัยก่อนเกิดพายุสุริยะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากปัจจุบันสามารถเตือนภัยได้ล่วงหน้าเพียง 48 นาทีเท่านั้น #ดาราศาสตร์ เกมที่ไม่มี #โหมดง่าย ให้เลือก หากเปรียบงานวิจัยดาราศาสตร์เป็นเกม ๆ หนึ่ง ดาราศาสตร์จะเป็นเกมที่ไม่มี “โหมดง่าย” ให้ผู้เล่นได้เลือก ดังเช่นการศึกษาดวงอาทิตย์ ถึงแม้ว่าดวงอาทิตย์จะเป็นดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด แต่ก็ไม่ใช่ดาวฤกษ์ที่ศึกษาง่ายที่สุด เพราะหากกล้อง DKIST เป็นเพียงกล้องโทรทรรศน์ขนาด 4 เมตรคล้ายกล้องดูดาวทั่ว ๆ ไป เมื่อส่องไปยังดวงอาทิตย์จะทำให้กล้องเสียหายได้ กำลังในการรวมแสงของกระจกขนาด 4 เมตรสามารถเผาไหม้วัสดุที่อยู่บริเวณจุดโฟกัสของกล้องได้ทันที รวมถึงเป็นกล้อง “ดูดาว” เพียงไม่กี่ตัวที่ทำงานในเวลากลางวัน จึงจำเป็นจะต้องมีระบบหล่อเย็นที่เป็นท่อความยาวถึง 11 กิโลเมตร รวมถึงเทคโนโลยีด้าน “Adaptive Optics” การปรับรูปกระจกในช่วงเวลาต่าง ๆ ตามความแปรปรวนในชั้นบรรยากาศโลก เพื่อลดผลจากความแปรปรวนดังกล่าวได้ 2563 สู่ #ยุคใหม่แห่งการศึกษาดวงอาทิตย์ ในปีนี้ นอกจากกล้อง DKIST จะพร้อมปฏิบัติภารกิจแล้ว องค์การนาซาและองค์การอวกาศยุโรปมีแผนจะส่งยานสำรวจดวงอาทิตย์ “Solar Orbiter” ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้อีกด้วย เมื่อยานดังกล่าวพร้อมปฏิบัติงาน จะผนวกกำลังเข้ากับยานสำรวจดวงอาทิตย์พาร์กเกอร์ (Parker Solar Probe) ที่ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในปี 2561 และจะกลายเป็น 3 อุปกรณ์ยุคใหม่ที่ร่วมมือกันไขความลับของดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุดดวงนี้ อ้างอิง :https://www.nsf.gov/news/news_summ.jsp?cntn_id=299908 เรียบเรียง : ธนกร อังค์วัฒนะ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.