ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง เมื่อเอ่ยถึงอำเภอเบตง เมืองชายแดนใต้สุดชายแดนของประเทศไทย นึกถึงข้าวมันไก่เบตง ด้วยเพราะเนื้อไก่เบตง เหนียวนุ่ม หนังไก่สีเหลืองทอง ต่างจากไก่สายพันธุ์อื่น ในขณะที่ไก่เบตงมีสายพันธุ์จีน (ชาวจีนนำมาเลี้ยง) อีกเลี้ยงแบบอิสระ ทำให้เนื้อไก่แน่น ไก่เบตงจึงเป็นอาหารรสเลิศสำหรับชาวเบตงและเลื่องชื่อไปทั่วประเทศด้วย ดังนั้น มาเบตงต้องชิมไก่เบตง เบตงเป็นเมืองเล็กๆ แต่เป็นอำเภอขนาดใหญ่ของจังหวัดยะลา ในมุมภูมิประเทศมีลักษณะเป็นหัวหอกยื่นเข้าไปในประเทศมาเลเซีย (มีด่านชายแดนต่อเนื่องเข้าสู่รัฐเปรักของมาเลเซีย) ตั้งอยู่ในแนวเทือกเขาสันการาคีรี มีเนื้อที่ประมาณ 1,328 ตารางกิโลเมตร ด้วยสภาพพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลราว 1,600 เมตร ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงจึงทำให้เบตงมีอากาศดี มีหมอกตลอดปี ดังคำขวัญประจำอำเภอที่ว่า “เมืองในหมอก ดอกไม้งาม ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน” อีกผู้คนทางสังคม วัฒนธรรมและศาสนา ไทยพุทธ-มุสลิม ดำเนินวิถีชีวิตร่วมกันสันติสุข เบตงในมุมท่องเที่ยว มีทั้งธรรมชาติ ขุนเขาทะเลหมอก บ่อน้ำร้อน ไม้ดอกเมืองหนาว ด้านทางวัฒนธรรม มีแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น อย่างที่กำลังกล่าวถึงคือ “อุโมงค์ปิยะมิตร หรือ อุโมงค์เบตง” สถานที่ที่อดีตขบวนการโจรคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) สร้างขึ้นเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ในที่นี้พาไปรู้จักอุโมงค์เบตงนี้กัน โดยฐานข้อมูล/ภาพ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จ.ยะลา อุโมงค์เบตง ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 2 บ้านปิยะมิตร ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา มีความน่าทึ่งในการขุดเจาะ โดยฝีมือของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เมื่อปี พ.ศ. 2519 - 2520 อยู่บนเนินเขาปกคลุมด้วยป่าทึบบริเวณตะเข็บแนวชายแดนไทยและมาเลเซีย มีความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร กว้างประมาณ 5 – 6 ฟุต ใช้กำลังขุดประมาณ 50 คน ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน มีทางเข้า – ออก 9 ทาง ปัจจุบันเหลือเพียง 6 ทาง ตลอดอุโมงค์จะพบเห็นร่องรอยของการดำเนินชีวิตที่ยังคงหลงเหลืออยู่ เช่น ห้องนอนที่มีเตียงดินก่อติดกับผนัง อุปกรณ์ในการสู้รบ และเครื่องไม้เครื่องมือในการเดินป่า รวมทั้งห้องบัญชาการรบ ซึ่งจุคนได้ถึง 200 คน บริเวณภายนอกอุโมงค์ซึ่งเคยเป็นลานกว้างสำหรับฝึกกำลังพล มีการจัดนิทรรศการสำหรับให้ความรู้นักท่องเที่ยวด้วย ปัจจุบันชาวหมู่บ้านปิยะมิตร 1 – 2 ผู้ที่เคยเข้าร่วมขบวนการโจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายาในอดีต ได้หันกลับมาเข้าร่วมพัฒนาชาติไทย ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและเข้าร่วมโครงการปลูกไม้ดอกเมืองหนาว ในพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เพื่อส่งเสริมรายได้อีกทางหนึ่ง ในส่วนของหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ยะลา กรมศิลปากรได้ดำเนินการเก็บข้อมูล บันทึกความทรงจำของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยและผู้ที่เกี่ยวข้อง อยู่ร่วมเหตุการณ์ในอดีต เก็บข้อมูลและภาพถ่ายสถานที่ สิ่งแวดล้อม วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ ของใช้ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุโมงค์ปิยะมิตรหรืออุโมงค์เบตง ตลอดจนวิถีชีวิตในปัจจุบันของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เพื่อจัดทำเป็นเอกสารจดหมายเหตุ บันทึกแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เป็นบทเรียนให้คนรุ่นนี้และรุ่นที่โตเป็นหนุ่มสาวในวันข้างหน้าได้ศึกษาเรียนรู้ รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมรดกวัฒนธรรมที่สำคัญของท้องถิ่นอีกด้วยไปเที่ยวยะลา ควรได้แวะไปดูอุโมงค์ปิยะมิตรหรืออุโมงค์เบตงสักครั้ง