วันที่ 31 ม.ค.2563 นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการดำเนินโครงการ Safe Zone School (CCTV) เพื่อป้องกันและสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้โรงเรียน ครู นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2557 ได้มีการร้องเรียนและมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 56 ราย นั้นทาง สพฐ. ได้หารือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด กรมบัญชีกลาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือแนวทางปฏิบัติและการพิจารณา โดยเมื่อเดือนตุลาคม 2562 สพฐ. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทั้งระดับส่วนกลางและระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดย สพฐ. ไม่มีแผนงานงบประมาณในการจัดซื้อกล้อง CCTV เพิ่มเติม จึงจะดำเนินการในส่วนของการปรับปรุงซ่อมแซมระบบ CCTV ให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่เสมอ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีคำพิพากษาถึงชั้นที่สุด ซึ่งในการจัดซื้อซอฟต์แวร์สิทธิ์การใช้งานให้เป็นอำนาจของ สพฐ. โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุด และต้องสอดคล้องกับหลักการใน 4 ข้อ คือ 1) คุ้มค่า 2) โปร่งใส 3) มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และ 4) ตรวจสอบได้ แม้จะซื้อซอฟต์แวร์สิทธิ์การใช้งานเพิ่มเติมอีก 10 License โดยไม่มีกล้องมารองรับ เนื่องจากเดิม สพฐ. จัดสรรงบประมาณในการจัดซื้อกล้องในแต่ละแห่งเพียงแค่ 6 กล้อง จึงไม่เกิดประโยชน์กับทางราชการและไม่มีความคุ้มค่า ประกอบกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้ยืนยันว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องซื้อโปรแกรมสิทธิ์การใช้งานเพิ่มเติม ซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับทางราชการ ไม่มีความคุ้มค่า อีกทั้งยังไม่มีประสิทธิภาพต่อการใช้งานของระบบกล้อง CCTV ในโครงการฯ ที่เพิ่มขึ้น จึงเสนอเรื่องดังกล่าวให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาพิจารณา ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้พิจารณาสั่งการ ให้ยกเลิกและระงับนโยบายที่ให้ใช้งบประมาณ 64 ล้านบาทเศษ จัดซื้อระบบเพิ่มเติม และให้ดำเนินการสอบสวนวินัยร้ายแรงข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 56 รายนั้น ให้ดำเนินการต่อไปให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว และให้เป็นไปด้วยความยุติธรรม โปร่งใสตรวจสอบได้ จนกว่าจะมีการพิจารณาของ ป.ป.ช. และคำพิพากษาของศาลถึงชั้นที่สุด ในการนี้ เลขาธิการ กพฐ. ได้สั่งการให้แต่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อเตรียมความพร้อม รวบรวมข้อเท็จจริง เพื่อสนับสนุนข้อมูลในการพิจารณาของ ป.ป.ช. และศาลสูงสุด ต่อไป