วันที่ 31 มกราคม 2563 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ติดตามผลการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ณ ที่ว่าการอำเภอลาดบัวหลวง อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยาตามที่ได้มอบหมายให้กรมชลประทานและการประปานครหลวง (กปน.) โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อธิบดีกรมชลประทาน ผู้ว่าการประปานครหลวง และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ จากนั้นเดินทางไปตรวจเยี่ยมจุดปฏิบัติการผลักดันน้ำในคลองพระยาบรรลือ และจุดปฏิบัติงานขุดลอกสันดอนคลองพระยาบรรลือ พลเอกประวิตร กล่าวว่า รัฐบาลมีความห่วงใยปัญหาน้ำเค็มรุกแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะหากน้ำในแม่น้ำมีค่าความเค็มเกินเกณฑ์มาตรฐานก็จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำที่ประชาชนใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค อุตสาหกรรม และการผลิตน้ำประปาอีก วันนี้จึงได้เดินทางลงพื้นที่มาติดตามสถานการณ์ด้วยตนเองอย่างใกล้ชิด ได้สั่งการให้กรมชลประทานร่วมกับการประปานครหลวง (กปน.) เพิ่มการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง สนับสนุนการผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามสถานการณ์ และวางแผนจัดสรรน้ำเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำด้านอุปโภค บริโภค และที่สำคัญ ขอให้ทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงานร่วมกัน ภายใต้การขับเคลื่อนของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) นอกจากจะมีการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลักตอนบนแล้ว ยังผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่น้ำแม่กลองมาช่วยเหลือในพื้นที่ของแม่น้ำเจ้าพระยา 3 เส้นทาง ประกอบด้วย 1) คลองท่าสาร-บางปลา 2) คลองจรเข้สามพัน ไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีน เข้าสู่คลองพระยาบรรลือ คลองพระพิมล โดยกรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำและเครื่องสูบน้ำ จำนวน 102 เครื่อง เพื่อเร่งผันน้ำให้ไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยา และ 3) คลองประปา เข้าคลองบางกอกน้อย และไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา มาตรการในการผันน้ำนี้จะดำเนินการร่วมกับมาตรการอื่น ๆ ในการแก้ไขปัญหาค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างด้วยการบริหารจัดการอาคารชลประทานให้สัมพันธ์กับช่วยเวลาน้ำขึ้นน้ำลง โดยหน่วงน้ำในพื้นที่ด้านบนบริเวณหน้าเขื่อนทดน้ำเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาทด้วยการบริหารปิด/เปิดบานระบายให้สัมพันธ์กับช่วงเวลาน้ำขึ้น – น้ำลง สอดคล้องการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ด้านท้ายแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ฯจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งจะปิดประตูระบายน้ำในช่วงเวลาน้ำขึ้น เพื่อไม่ให้น้ำเค็มรุกเข้ามาในแม่น้ำและจะเปิดบานระบายน้ำในช่วงเวลาน้ำลงเพื่อเร่งระบายน้ำหรือการกระแทกน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาให้ไล่น้ำเค็มออกสู่ทะเลโดยเร็วอีกด้วย ดร. สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ กล่าวว่าในช่วงวันที่ 24-31 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่เกิดน้ำทะเลหนุนสูง ผลการดำเนินการตามมาตราการข้างต้นร่วมกับการทดลองใช้ปฏิบัติการกระแทกลิ่มความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา (Water Hammer Operation) โดยกรมชลประทานร่วมกับการประปานครหลวง (กปน.) พบว่า เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2563 ซึ่งเกิดน้ำทะเลหนุนสูงสุด ลิ่มความเค็มอยู่บริเวณวัดตลาดใต้ อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี ห่างจากสถานีสูบน้ำสำแลของการประปานครหลวงลงมาประมาณ 11 กิโลเมตร และจากการตรวจวัดค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสถานีสูบน้ำสำแล ณ เวลา 07.00 น.มีค่า 0.18 กรัมต่อลิตร ซึ่งเป็นคุณภาพน้ำที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ (เกณฑ์ควบคุมค่าความเค็มเพื่อการผลิตน้ำประปา อยู่ที่ไม่เกิน 0.5 กรัม/ลิตร และเกณฑ์ควบคุมเพื่อการเกษตร ไม่เกิน 2 กรัม/ลิตร) อนึ่ง ปฏิบัติการกระแทกลิ่มความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา (Water Hammer Operation) เป็นวิธีการที่กรมชลประทานและการประปานครหลวงนำมาทดลองใช้เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำจืดมาใช้ผลักดัน และเจือจางค่าความเค็มบริเวณสถานีสูบสำแล โดยกำหนดให้โรงสูบน้ำประปาสำแลหยุดสูบเป็น เวลา 2 ชั่วโมง ในช่วงเวลาน้ำลงเพื่อจะได้มีปริมาณน้ำจืดที่มากพอสำหรับผลักดันลิ่มความเค็มให้เคลื่อนตัวไปให้ไกลจากสถานีสูบน้ำสำแล โดยมีการปฏิบัติการแล้ว 3 ครั้งในช่วงระหว่างวันที่ 25-26 ธันวาคม 2562 วันที่ 9-13 มกราคม 2563 และวันที่ 24-27 มกราคม 2563 ทั้งนี้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติยังคงเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะดำเนินทุกมาตรการอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงฤดูแล้งเพื่อให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคที่ปลอดภัย