คนข้างวัด / อุทัย บุญเย็น คงเคยได้ยินคำพูดที่ว่า “ด้วยความเคารพ” แล้วมักจะตามด้วยคำด่า คำโจมตี หรือคำพูดที่แสดงความไม่พอใจหรือคำวิพากษ์วิจารณ์ แต่ก็พูดว่า “ด้วยความเคารพ”??? คำว่า เคารพ เป็นภาษาไทย ที่แปลงมาจากภาษาสันสกฤต (ในบาลีเป็น คารวะ) สระเอา (เ-า) ไม่มีในภาษาบาลี เมื่อมาเป็นภาษาไทย อักษรบางตัวก็เปลี่ยนแปลงให้เข้ากับลิ้นคนไทย เคารฺวในภาษาสันสกฤต ถูกเอา วฺ เป็น พ จึงเป็นเคารพ แต่ในภาษาบาลี คารวะ ยังเป็น คารวะ ไม่แปลงเป็น คารพ เมื่อใช้ในภาษาไทย เคารพ และ คารวะ มีความหมายเหมือนกัน ในภาษาไทยหมายถึงการแสดงออกด้วยกิริยานอบน้อม เช่น ก้มศรีษะให้ หรือ คำนับ หรือแม้แต่ก้มไหว้ ก้มกราบ การแสดงความเคารพด้วยวาจา ก็ทำได้ ด้วยการพูดที่สุภาพ อ่อนน้อม แสดงฐานะที่ต่ำกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ ไม่รู้ว่า เริ่มขึ้นเมื่อใด ที่คำพูดว่า “ด้วยความเคารพ” จึงเป็นที่นิยมพูดในหมู่คนไทย เป็นคำพูด (ออกเสียง) ที่สุภาพ อ่อนโยน แต่ในเนื้อหาที่พูด เหมือนเป็นคำพูดตามหลังคำว่า “ขอโทษ” นั่นแหละ คำว่า “ขอโทษ” ยังเป็นการขออภัย หรือขออโหสิกรรมหรือขอให้ยกโทษให้ ให้รู้ตัวล่วงหน้า ต่างจากคำพูดที่ว่า “ด้วยความเคารพ” นั้น เข้าใจว่า คำพูดที่ว่า “ด้วยความเคารพ” นั้น เป็นที่นิยมพูดในหมู่นักการเมืองมาก่อน โดยเฉพาะ การพูดของนักการเมืองในการประชุมสภาฯ ในการประชุมสภาฯ มีคำพูดหนึ่งที่เราได้ยินอยู่ประจำ คือ “ท่านประธานฯที่เคารพ” คำว่า “ท่านประธานฯ” หมายถึง ส.ส.ท่านหนึ่งที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานการประชุม ซึ่งอาจจะเป็น ส.ส. ธรรมดา (มักจะเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาฯ) คนหนึ่ง แม้ ส.ส. ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคนนั้น จะไม่เป็นที่ “เคารพ” แต่อย่างใด แต่ก็เป็นธรรมเนียมให้ ส.ส. ที่ลุกขึ้นพูดต้องใช้คำว่า “ท่านประธานฯ ที่เคารพ” อยู่นั่นเอง คำว่า “เคารพ” เป็นภาษาอื่นที่เอามาใช้ในภาษาไทยเราใช้พูด จนนึกว่าเป็นภาษาไทยคำหนึ่ง มีอีกหลายคำ ที่มาจากภาษาอื่น เราเอามาใช้โดยไม่ได้แปล เช่นคำว่า “ศรัทธา” “สมาธิ ฯลฯ หรือแม้แต่คำว่า “ศีล” และ “ธรรม” ก็เป็นคำในภาษาบาลี-สันสกฤต ซึ่งยังไม่ได้แปลเป็นไทย คำว่า “สติ” เป็นอีกคำหนึ่งในภาษาบาลีหรือในภาษาของพุทธศาสนา ที่ยังไม่ได้แปลเป็นไทย แต่เราก็ใช้พูดจนคิดว่าตรงกับความหมายของคำนั้นๆ บางคำ ความหมายก็เพี้ยนไป เช่นคำว่า “ประมาท” เราใช้ในความหมายว่า “พลั้งพลาด” หรือ “เผอเรอ” เมื่อพูดว่ ทำการใดๆ ด้วยความพลาดพลั้ง หรือด้วยความเผอเรอ หมายถึงทำด้วยความประมาท ในความหมายเดิม ประมาท หมายถึง ไม่มีสติ (เห็นไหมว่า แม้แต่การมีสติ เราก็ใช้วิธีทับศัพท์พูด คือใช้คำว่า “สติ” อยู่นั่นเอง) อันที่จริง ภาษาไทยพอจะมีคำที่แสดงความหมายของภาษาอื่นได้พอสมควร อย่างคำว่า สติ ภาษาไทย (ภาคกลาง) อาจจะใช้คำว่า “รู้สึกตัว” ก็ได้ แต่ก็จะไม่ตรงนักเท่ากับคำว่า สติ คำว่า สติ ถ้าพูดด้วยภาษาไทย (อีสาน) เห็นจะมีความหมายที่ใกล้เคียงกว่า คือ คำว่า “ฮู่เมือ” คำว่า ฮู่เมือคงเท่ากับคำว่า “รู้สึก” ในภาษาไทย (ภาคกลาง) แต่คำว่า รู้สึก ก็เป็นความหมายของคำว่า “เวทนา” ในภาษาบาลี ซึ่งเวทนาและสติ คนละความหมายกัน ในภาษาไทย (อีสาน) หรือภาษาลาว มีหลายคำที่สื่อความหมายได้ดีกว่าภาษาไทยภาคกลาง เช่นคำว่า ฮู่เมือ ถ้าตามด้วยคำว่า คิง(กาย) ก็หมายถึง ความรู้สึกทางกาย (แต่ก็เป็นความของ “เวทนา”?) เคยฟังพระเทศน์เรื่องสติ กับ เวทนา ท่านอธิบายความแตกต่างกันได้อย่างน่าฟัง ท่านเทศน์เรื่อง เวทนา และสติ ได้เป็นชั่วโมง ทำให้เข้าใจได้ว่า ภาษาธรรมะ (ในภาษาบาลี) ที่ยังไม่ได้แปล มีอีกเยอะ คำว่า “ศรัทธา” เป็นคำทับศัพท์บาลี-สันสกฤต ความหมายแท้ๆ คือ ความเชื่อมั่น-ความมั่นใจ แต่เราใช้สับสนกับคำว่า “ปสาทะ” ที่แปลว่า ความเลื่อมใส เมื่ออุปติสสะ (สารีบุตร) เห็นกิริยาอาการของพระอัสสชิขณะเดินบิณฑบาต ก็เกิดความเลื่อมใส (ปสาทะ) ก่อน เมื่อได้ฟังธรรม จึงเกิดศรัทธา เกิดศรัทธาแล้วจึงขอบวช ทุกวันนี้ คนไทยแยกไม่ออกระหว่าง ปสาทะ กับ ศรัทธาในหมวดธรรม หรือในคำสอนของพระพุทธเจ้า มักจะมี “ศรัทธา” มากกว่า “ปสาทะ” การมีศรัทธา ยากกว่าการมีปสาทะ ศรัทธา ไม่ใช่มีได้ง่ายๆ แม้แต่ในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ก็ใช้คำว่า “ศรัทธา” (คือ “ตถาคตโพธิสัทธา”) คนที่จะมีศรัทธาใน (ปัญญาชนิดโพธิ)การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เป็นคนที่เข้าถึงธรรมชั้นสูงประเภทหนึ่ง แม้แต่คำว่า “บูชา” ในภาษาไทย ก็เป็นคำบาลี เราใช้ในความหมายว่า เอาดอกไม้ธูปเทียนไปนบไหว้ แต่ความจริงบูชา มีความหมายว่า “สำนึกในคุณค่า” เมื่อเราจะทำการบูชาสิ่งใดก็แปลว่า เราสำนึกในคุณค่าของสิ่งนั้น จึงแสดงออกด้วยการบูชา คำว่าบูชา จึงหมายถึงทั้งนบไหว้ด้วยดอกไม้ธูปเทียน ทั้งการปฏิบัติที่ดีต่อสิ่งนั้นๆ แต่ปัจจุบัน คำว่าบูชาเราคิดถึงแต่ดอกไม้ธูปเทียนเป็นหลัก แม้แต่คำว่า “ปฏิบัติบูชา” เราก็ออกเสียงว่า ปติบัต-บูชา (หมายถึงการเอาดอกไม้ธูปเทียนไปนบไหว้) แทนที่จะเป็นการปฏิบัติที่ดีต่อสิ่งนั้นๆ เป็นสำคัญ เคยฟัง (และเคยอ่าน) มาว่า พระพุทธเจ้าเป็นคนไทย เกิดในแผ่นดินไทยนี่แหละ บางท่านแสดงสถานที่ต่างๆ ในประเทศไทยเป็นตุเป็นตะ ว่าเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าอย่างไร ได้แต่นึกถามในใจว่า แล้วคำศัพท์ต่างๆ ในคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นภาษาบาลี-สันสกฤตละมาจากไหน ทำไม่จึงมีแต่ภาษาแขก ไม่เป็นภาษาไทยหรือภาษาลาว และทำไมภาษาในพระไตรปิฎก ไม่ว่าจะเป็นพระไตรปิฎกของประเทศใดๆ ก็ล้วนแต่ใช้คำในภาษาบาลี-สันสกฤต ทำไมจึงไม่เป็นภาษาไทย? หรือทำไมจึงไม่เป็นภาษาของชาวสุวรรณภูมิ? มานึกดูแล้ว ก็เห็นว่า มีความจำเป็นต้องใช้วิธี “ทับศัพท์”ในการใช้ภาษาต่างๆ คำว่า “ต้มยำกุ้ง” เป็นชื่ออาหารในภาษาไทยเมื่อคนชาติอื่นเรียกอาหารประเภทนี้ ก็จำเป็นต้องใช้คำว่า “ต้มยำกุ้ง” จึงจะสื่อความหมายได้ตรง เคยเห็นแขกในโรงแรมที่อินเดียพยายามทำอาหารให้เป็นต้มยำกุ้ง แม้รสชาติจะไม่เป็นต้มยำกุ้ง แต่เขาก็เรียกว่า “ต้มยำกุ้ง” อยู่นั่นเอง เคยเห็นคำแปลพระไตรปิฎกบาลีของฝรั่ง บางคำเขาพยายามแปลให้เป็นภาษาอังกฤษ ก็ดูแปลกๆ เช่นแปลคำว่า “พระพุทธเจ้า” เป็น “Lord Buddha” หรือแปลคำว่า “เทวดา” ว่า “God” เราก็รู้สึกแปลกๆ ในที่สุด สมัยหลังๆ มานี้ ฝรั่งเองก็ยอมรับคำว่า “Smadhi” ต่างจากคำว่า “Meditation หรือต่างจาก “Concentration” คำพูด หรือ ภาษานั้น ไม่ใช่ของคนชาติใดชาติหนึ่ง มีวิวัฒนาการ เคยพูดในถิ่นหนึ่ง อาจไปพูดในอีกถิ่นหนึ่งได้ เมื่อพูดจนติดปาก สื่อสารเข้าใจกันได้ดี ก็เป็นที่นิยมพูด บางคำก็มีความหมายเปลี่ยนไปได้ แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันในระดับหนึ่ง ภาษาไทยของคนสมัยใหม่ คงจะเปลี่ยนไปอีกมาก แต่ก็จะไม่อิงบาลี-สันสกฤตอย่างสมัยก่อน ภาษาบาลี-สันสกฤตนั้น มาเป็นภาษาไทยเพราะพุทธศาสนาเป็นด้านหลัก เราจึงเห็นคำบาลี-สันสกฤตในภาษาไทยเป็นจำนวนมาก แต่สมัยต่อไปนี้ ภาษาทางดิจิตอลและคอมพิวเตอร์จะเข้ามามาก โดยเฉพาะจะเข้ามาพร้อมกับ “มือถือ” เป็นอันมาก คำว่า “ดราม่า” (Drama) แปลว่าอะไรแน่ เราก็ไม่รู้ แต่ก็พูดกันติดปากทั่วไปแล้ว บางทีก็ใช้แทนคำว่า “มหากาพย์” บางทีก็ใช้แทนคำว่า หนัง-ละคร (น่าจะหมายถึงเรื่องที่เสกสรรค์ปั้นแต่งขึ้นนั่นแหละ) ไม่ใช่แต่ภาษาจะไหลเลื่อนจากถิ่นหนึ่งสู่ถิ่นหนึ่งเท่านั้นระหว่างลัทธิหรือระหว่างศาสนา ภาษาก็ไหลเลื่อนเข้าหากันได้ เช่นคำว่า “นิพพาน” เป็นคำในศาสนาฮินดู หรือ ลัทธิพราหมณ์มาก่อน สันสกฤต อาจจะใช้คำว่า “นิรวาณ” หรือ “นิรพาณ” หรือ “นฤพาณ” พระพุทธเจ้าเอามาเป็น “นิพพาน” (ดับทุกข์-ดับกิเลส) ในพุทธศาสนา เป็นต้น เมื่อก่อนเคยต่อว่าพระสงฆ์องค์เจ้าที่พูดคำมีบาลี-สันสกฤตคำ ฟังไม่รู้เรื่อง สมัยนี้ ฟังคนสมัยใหม่พูดไทยปนอังกฤษจนเวียนหัว และส่วนใหญ่ คนพูดเองก็ไม่รู้ความหมายของคำพูดอย่างแท้จริง แต่ก็ฟังกันได้?