สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์
พระกรุวัดเงิน คลองเตย กรุงเทพฯ เป็นพระเครื่องที่ทรงพุทธคุณสูง และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมาตั้งแต่อดีต แต่ “วัดเงิน” ซึ่งเป็นสถานที่ค้นพบนั้น ณ ปัจจุบันไม่ปรากฏให้เห็นกันแล้ว เนื่องจากกลายเป็นที่ตั้งของ “การท่าเรือแห่งประเทศไทย” เรียกได้ว่าถ้าไม่ใช่ผู้เฒ่าผู้แก่คงจะไม่ทราบมาก่อนว่า ณ บริเวณท่าเรือคลองเตยเคยเป็นที่ตั้งของวัดมาก่อน
ประวัติผู้สร้าง
จากการพิจารณาเนื้อหามวลสารแล้ว สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระที่สร้างขึ้นในราวสมัยรัชกาลที่ 4 หรือรัชกาลที่ 5 ศิลปะสกุลช่างราษฎร์ ยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น และน่าจะเป็นระดับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน, หรือเจ้าขุนมูลนาย เนื่องจากเป็นการสร้างพระจำนวนมาก
แต่นักสะสมรุ่นเก่าบางท่านก็เชื่อว่าน่าจะมีการสร้าง 2 ครั้ง ด้วยขนาดและเนื้อหาขององค์พระมีความแตกต่างกัน ในช่วงแรกที่ค้นพบพระนั้น ไม่มีผู้สนใจ จนมาถึงช่วงสงครามอินโดจีนและสงครามโลกครั้งที่ 2 ปรากฏผู้บูชา “พระกรุวัดเงิน คลองเตย” ไม่ว่าจะเป็นพิมพ์ทรงใด ล้วนประจักษ์ในพุทธคุณทั้งสิ้น จึงเริ่มเป็นที่นิยมสะสมกว้างขวางขึ้นมาถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะพิมพ์ที่สมบูรณ์และค่อนข้างหายากสนนราคาค่อนข้างสูง
การค้นพบ
พระกรุวัดเงิน คลองเตย มาแตกกรุในปี พ.ศ.2490 ขณะทำการรื้อถอนพระเจดีย์ในวัดช่วงเวนคืน ปรากฏพระเนื้อผงบรรจุอยู่ในพระเจดีย์หลายองค์ มีพิมพ์ทั้งหมดกว่า 50 พิมพ์
เนื้อหามวลสาร
องค์พระส่วนใหญ่เป็นพระเนื้อผง ผสมว่านเกสรดอกไม้ ซึ่งวรรณะจะออกสีขาว ยกเว้น พิมพ์พระปิดตา จะเป็นเนื้อผงผสมใบลาน วรรณะออกไปทางน้ำตาลปนดำ และสามารถแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ พระเนื้อแกร่ง และ พระเนื้อแก่ปูน
“พระเนื้อแกร่ง” ภาษาวงการพระเรียก “เนื้อจัด” มีความแกร่งแน่น หนึกนุ่ม ผิวขององค์พระจะคล้ายกันมากกับพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมกรุเก่า จะปรากฏรอยลานตัวหนอน ส่วน “พระเนื้อแก่ปูน” เนื้อองค์พระจะค่อนข้างขาวจัด การเกาะตัวของเนื้อมวลสารไม่แน่นเหมือนแบบแรก เนื่องจากมีตัวประสานน้อย ลักษณะเนื้อขององค์พระจะร่วน แห้ง นํ้าหนักเบา และหลุดร่อนได้ง่าย จึงต้องใช้ความระมัดระวังในการสัมผัส
พุทธลักษณะ
องค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางสมาธิก็มี ขัดเพชรก็มี ปางมารวิชัยก็มี ฯลฯ อยู่ในกรอบรูปแบบต่างๆ กันหลายลักษณะ โดยมักเรียกขานชื่อพิมพ์ตามพุทธลักษณะขององค์พระ อาทิ พิมพ์สังกัจจายน์ มีหู, พิมพ์สังกัจจายน์ ไม่มีหู, พิมพ์หน้าฤๅษี, พิมพ์ซุ้มกอฐานสูง, พิมพ์ซุ้มกอฐานเตี้ย, พิมพ์พระคง, พิมพ์สังฆาฏิ, พิมพ์ห้าเหลี่ยม มารวิชัย, พิมพ์เล็บมือ มารวิชัย, พิมพ์เล็บมือ สมาธิ, พิมพ์ป่าเลไลยก์ และ พิมพ์ประธาน เป็นต้น ส่วนพิมพ์ที่มีคนรู้จักกันมากและได้รับความนิยมที่สุดก็คือ พระพิมพ์พระสังกัจจายน์ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 พิมพ์ คือพิมพ์มีหู และพิมพ์ไม่มีหู พุทธลักษณะคล้ายกันมากผิดกันที่มีหู และไม่มีหูเป็นที่สังเกตได้ชัดเจน พิมพ์มีหูก็จะมีมูลค่าสูงกว่าพิมพ์ไม่มีหู แต่ก็หายากทั้ง 2 พิมพ์ และมีมูลค่าสูง
พุทธคุณ
ปรากฏพุทธคุณเด่นด้านโชคลาภและเมตตามหานิยม จนมีคำกล่าวว่า “แขวนพระวัดเงินไม่ต้องกลัวจนเงิน” นอกจากนี้ยังมีแคล้วคลาดนิรันตรายอีกด้วย
การพิจารณา
เนื่องจากเป็นพระที่ถูกบรรจุในกรุพระเจดีย์ จึงปรากฏคราบกรุเกาะตามพื้นผิวขององค์พระ องค์พระที่อยู่ช่วงบน คราบกรุตอนบนจะมีลักษณะคล้าย “ฟองเต้าหู้” สีเหลืองอมนํ้าตาล ทั่วทั้งองค์พระหรือเป็นบางส่วน และบางจุดจะปะทุฟูตัว ส่วนองค์พระที่อยู่ใต้ๆ ลงไป องค์พระจะดูสะอาด มีคราบกรุจับน้อยมาก บางองค์แทบไม่มีเลย ปัจจุบันหาพระแท้ๆ ยากเช่นกัน ครับผม