ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต “อาภรณ์อันงดงามแห่งหัวใจของผู้หญิง ย่อมอยู่ที่สำนึกคิดภายในอันเปิดกว้างและล้ำลึกต่อปฏิกิริยาของโลกแห่งการดำรงอยู่ที่ไม่หวั่นไหวต่อข้อห้ามและกฎเกณฑ์แห่งจารีตนิยมใดๆ...เพราะแท้ที่จริงผู้หญิงคือความงดงามของโลก...คือผู้ให้กำเนิดชีวิตในนามของจิตวิญญาณแห่งความเป็นไปอันลึกซึ้ง/ภาวะในความเป็นผู้หญิงจึงสถิตอยู่กับความทรงจำอันเป็นนิรันดร์ ดุจสิ่งปลูกสร้างอันถาวรของทุกชาติทุกภาษา ดุจดอกไม้หอมของกาลเวลาที่โอบประคองโลกด้วยอ้อมกอดของความรัก.../ลีลาของผู้หญิงก่อร่างขึ้นมาด้วยรูปรอยนี้..เพียงว่าพวกเธอส่วนใหญ่มักจะกลายเป็นอาหารของความเห็นแก่ตัวของผู้ชายในทุกยุคทุกสมัย...ด้วยการถูกหยามหมิ่นศักดิ์ศรีและดูแคลนความเป็นตัวตนอยู่ตลอดเวลา/สภาวะอันจำยอมของผู้หญิงที่ถูกระบุว่าเป็นเพศที่อ่อนแอกว่า/จึงทำให้ทั้งความเป็นชีวิตและสถานะแห่งความเป็นชีวิตกลายเป็นรูปเงาแห่งตัวตนของประวัติศาสตร์ที่เปราะบางๆ/ทั้งๆที่ผู้หญิงทุกๆคนล้วนมีสถานะอันชวนยกย่องด้วยศักยภาพแห่งชีวิตมากมาย และด้วยความจริงที่เป็นจริงในภาวะความคิดแห่งตน/เหตุนี้..เรื่องราวของผู้หญิงที่ไม่สยบยอมต่อลัทธิความคิดที่หมิ่นแคลนสถานะและบทบาทของพวกเธอในนามแห่งวรรณกรรมและศิลปะการแสดงที่ถูกสร้างสรรค์ในแต่ละเรื่องจึงถูกจับตาดู...ด้วยการใคร่ครวญต่อภาวะสำนึกแห่งแก่นสารของเรื่องๆนั้นอย่างจดจ่อ พิถีพิถัน และด้วยมุมมองเชิงวิพากษ์อย่างเปิดเปลือยอยู่ซ้ำๆ/นั่นคือนัยแห่งวิสัยทัศน์ของโลกสมัยที่ถือเอาว่า...สรรพสิ่งแห่งความเป็นชีวิตไม่ว่าสิ่งใดในสิ่งใดก็ตามจักต้องมีความเท่าเทียมกันด้วยบทพิสูจน์แห่ง...ความเป็นรากเหง้าอันจริงแท้ของความเป็นชีวิตและจิตวิญญาณที่เป็นบทสะท้อนของโลกแห่งความมีความเป็นโดยมิอาจปฏิเสธได้” นัยแห่งนวนิยาย “สี่ดรุณี” (Little Lady) ณ เบื้องต้นได้สื่อผ่านการเรียนรู้และรับรู้ต่อโลกออกมาเป็นเวลานานกว่าศตวรรษ/เป็นเรื่องราวเชิงการประพันธ์ที่มีรากเหง้าแห่งแก่นสารสาระมาจากโครงสร้างชีวิตของผู้ประพันธ์เองในฐานะของความเป็นผู้หญิงและพี่น้องผู้หญิงอีกสามคน... “ลุยซา เมย์ อัลคอตต์” (Louisa May Alcott)...นักเขียนชาวอเมริกา จากเพนซิลวาเนีย/ผู้มีชีวิตอยู่ระหว่างปี ค.ศ.1832-1888/ และหากนับเนื่องถึงปีนี้เธอจะมีอายุได้ 188 ปี/.... “สี่ดรุณี” ถูกเขียนขึ้นที่บ้านของเธอในเมืองคอนคอร์ด รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา/โดยใช้สถานที่นี้เป็นฉากแสดงของเรื่องด้วย/นวนิยายเรื่องนี้เริ่มต้นถูกตีพิมพ์ออกมาเป็นสองตอนในระหว่างปีค.ศ.1868-1869/โดยเล่าเรื่องราวของพี่น้องสี่สาวอันประกอบด้วย..เม็ก/โจ/เบธ/และเอมี่ มาร์ช/มันคือภาพสะท้อนในวัยเยาว์ของอัลคอตต์กับบรรดาพี่น้องของเธอที่ถือเป็นแรงบันดาลใจสำคัญต่อการสร้างสรรค์สาระเรื่องราวของนวนิยายทั้งหมด หนังสือภาคแรกที่ออกมาขายประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นทั้งด้านการวิจารณ์และรายได้จากยอดจำหน่าย...จึงได้ตีพิมพ์ภาคที่สองออกมาอย่างรวดเร็วต่อเนื่องและประสบความสำเร็จยิงกว่า/ต่อมาในปีค.ศ.1880 จึงได้มีการรวมเข้าด้วยกันเป็นเล่มเดียว/หลังจากนั้น”อัลคอตต์”ก็ได้เขียนนวนิยายภาคต่ออีกสองเรื่องคือ “Little Men” ในปี ค.ศ.1871 และ Jo’s Boys ในปีค.ศ.1886 โดยลำดับ “อัลคอตต์” จัดวางการดำเนินเรื่องในนวนิยายของเธอด้วยการใช้ตัวละครเป็นหลักใหญ่/ทุกตัวละครสำคัญสื่อลักษณะของบุคลิกออกมาอย่างชัดแจ้ง เป็นตัวของตัวเองทั้งด้วยอิทธิพลของค่านิยมแห่งยุคสมัย/และทัศนะที่ย้อนแย้งในความเป็นบุคคล /สีสันและความมีชีวิตชีวาของตัวตัวละครจึงทั้งติดตาและติดตรึงอยู่กับความทรงจำของผู้อ่านวรรณกรรมเรื่องนี้ในทุกยุคทุกสมัย รวมทั้งบทบาทผ่านการแสดงทั้งละครเวที ภาพยนตร์ ตลอดจน”แอนิเมชั่น”ก็เป็นศิลปะแห่งประดิษฐกรรมที่สื่อสารออกมาอย่างสมจริงและมีชีวิตชีวาเสมอ “มากาเร็ต”พี่สาวคนโตอายุ16 ปี เป็นคนสวย รูปร่างท้วม ดวงตากลมโต ผิวขาวสะอาดตา มีผมดกเส้นละเอียด สีน้ำตาลเข้ม ริมฝีปากเรียวบางเป็นสีแดง มีมือที่ขาวสะอาด อันเป็นสิ่งที่เธอพึงพอใจมาก “โจเซฟิน” น้องคนรองอายุ 15 ปี ผิวคล้ำ ตัวผอมสูง ว่ากันว่าเธอมีลักษณะคล้ายลูกม้า..แขนขาดูยาวเก้งก้าง และเธอชอบเม้มปากอยู่เสมอ มีดวงตาสีเทาดวงกลมโตและมีแววตาดูเฉลียวฉลาด แต่หลายๆขณะบุคลิกของเธอกลับดูขรึมขลังและดุดันจริงจัง ทั้งตัวของเธอมีเพียงเส้นผมที่ดกยาวของเธอเพียงเท่านั้นที่ดูเป็นสิ่งสวยงามประดับกาย/เธอหลังโกง และมีมือและเท้าที่ใหญ่เกินงาม/เธอทั้งไม่สนใจและใส่ใจในเสื้อผ้าอาภรณ์หรือเครื่องแต่งตัว เครื่องประดับใดๆ/และที่สำคัญเธอไม่พอใจความเป็นชีวิตของเธอที่กำลังเติบโตเป็นสาว/เธอปรารถนาและใฝ่ฝันที่จะเป็นนักเขียน “เอลิซาเบธ” เด็กสาวอายุ13ปี/ มีดวงตาอันสุกใส/แก้มแดงเนียนเรียบ เช่นเดียวกับผมที่ดูเรียบงาม//เธอมีกิริยาที่เรียบร้อย ท่าทางดูสงบเสงี่ยมและขี้อาย/ท่าทีเป็นคนรักสงบจนบิดาเรียกเธอว่าเป็น “ผู้รักสงบ” ซึ่งถือเป็นชื่อที่เหมาะสมยิ่ง/เพราะเธอเลือกใช้ชีวิตอย่างสงบ และเลือกที่จะสื่อสัมพันธ์กับคนอื่นเพียงสองสามคนเฉพาะในหมู่พี่น้องเท่านั้น “เอมี่” น้องคนสุดท้องแม้เธอจะมีอายุเป็นเด็กสุด แต่กลับมีสถานะและบทบาทมากที่สุดในครอบครัวคนหนึ่ง เธอมีผมสีทองยาวประบ่า ผิวสีขาวและดวงตาสีฟ้า/รูปร่างสะโอดสะองสวยสง่า...เธอเป็นคนสวยและชอบทำตัวเป็นสาวเกินวัย/แต่กลับเป็นคนที่ระมัดระวังในกิริยามารยาทมากที่สุด ปฐมบทแห่งบุคลิกที่ถูกจัดวางมาแบบนี้เมื่อถูกนำไปผสานกับรูปรอยความคิดของพี่น้องทั้งสี่สาวมันจึงประกอบสร้างขึ้นเป็นลักษณะเฉพาะของตัวละครที่มีความหมายเป็นที่จดจำและมีส่วนทำให้วิถีแห่งชีวิตของตัวละครเหล่านี้บังเกิดแง่มุมที่น่าสนใจต่อการตีความเพื่อก่อเกิดเป็นบรรทัดฐานแห่งเจตจำนงอันควรจะเป็นของผู้หญิงที่ควรจะเป็นในทุกยุคทุกสมัยอย่างยิ่ง “ผู้หญิงมีความฝัน มีความสามารถ และมีความสง่างาม ฉันเบื่อคนที่เอาแต่พูดว่า...ผู้หญิงมีไว้เพื่อรักเท่านั้น”...นี่คือคำประกาศของโจ...ในฐานะตัวละครเอกของเรื่อง เงาสะท้อนแห่งชีวิตจริงของชีวิตและจิตใจอันแท้จริงของผู้ประพันธ์ ที่ไม่อยากเติบโตและต้องเป็นผู้หญิงที่สังคมมีอิทธิพลต่อการกำหนดท่าทีอย่างปราศจากศักดิ์ศรีที่ดิ้นไม่หลุด... “ไม่มีใครทำตามใจตัวเองได้โดยเฉพาะ ผู้หญิง...แกต้องหาคู่แต่งงานที่รวยๆ”นั่นเป็นเหมือนคำสั่งของป้ามาร์ช ป้าของเธอ..ที่เน้นย้ำวัฒนธรรมทางจารีตในยุคสมัยให้พวกเธอได้ประจักษ์/และหากไม่เป็นไปตามนี้เธอก็ต้องหาเงินให้ได้มากที่สุด..เพื่อจะเป็นหญิงที่ร่ำรวยที่ไม่ต้องแต่งงานในชีวิต...ซึ่งบทบาทเช่นนี้ได้แสดงให้ชาวโลกได้เห็นผ่านความเป็นผู้หญิงมากมายแม้แต่ในความเป็น “หญิงไทย” ที่รับเอาอารยธรรมในเชิงความคิดและปฏิบัติตามจารีตของตะวันตกเข้ามานับแต่ยุคสมัยปลายรัชกาลที่5เป็นต้นมา/เส้นทางเดินที่ถูกขีดไว้เช่นนี้คือปมปัญหาของเรื่องราวแห่งชีวิตจริงและเรื่องราวที่ถูกผูกเรื่องเพื่อเน้นย้ำถึงความเป็นชีวิตของผู้หญิงที่ถูกหมิ่นแคลนในส่วนของการยอมรับในบทบาทและสถานะของศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ “เขียนให้กระชับ ฉูดฉาดถ้าตัวเอกเป็นผู้หญิง ตอนจบเธอต้องได้แต่งงาน หรือไม่ก็ตาย”นั่นเป็นถ้อยคำแห่งความขมขื่นอีกส่วนหนึ่งที่เธอได้รับจากวงการนักเขียน/จากบรรณาธิการที่กำหนดข้อสรุปในแนวทางการเขียนให้กับเธออย่างหมิ่นแคลนหัวใจลูกผู้หญิงจนยากจะยอมรับได้ ปรารถนาต่างๆมากมายล้วนกลายเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับความเป็นหญิงไปเสียหมดโดยเฉพาะอารมณ์แห่งความทะเยอทะยานที่มนุษย์ส่วนใหญ่พึงมีเพื่อเป็นจุดเร่งเร้าต่อการขับเคลื่อนความก้าวหน้าของชีวิต..ก็มักจะถูกยับยั้งและปรามาสว่าเป็นสิ่งที่ผู้หญิงไม่ควรกระทำซึ่งก็ทำให้ความฝันอันเป็นที่สุดของเอมี่/ต้องถึงขั้นแหลกสลายลงไปในที่สุด “ความทะเยอทะยานไม่ใช่สมบัติของผู้หญิง...มันไม่สมควรจะมี” นั่นเป็นคำสอนย้อนจริตของความเป็นมนุษย์ที่แท้...ที่จะไม่สามารถเติบใหญ่ในทางจิตวิญญาณได้เลยหากยังจมปลักอยู่ในอารมณ์เช่นนี้...พร้อมๆกับสัญชาตญาณอันเดือดพล่านที่เป็นจุดอ่อนสู่วิสัยแห่งการทำลายล้างของเหล่าบรรดาผู้หญิงซึ่ง”อัลคอตต์”ได้แสดงเงื่อนไขของจุดอ่อนตรงส่วนนี้ผ่านอารมณ์แห่งการกระทำของผู้หญิงออกมา ท่ามกลางความเกลียดชัง ริษยา หุนหันพลันแล่น และไร้ซึ่งความตระหนักในเชิงเหตุผล/อันถือเป็นจุดตายทั้งเป็นแห่งชีวิตที่เป็นวิกฤตแห่งสายสัมพันธ์ของตัวละครในนวนิยายเรื่องนี้ที่ชวนพินิจพิเคราะห์และเศร้าโศกยิ่ง บทตอนแห่งความไม่ได้ดั่งใจ/ทำให้เอมี่กระทำต่อโจด้วยการทำลายหัวใจของโจอย่างรุนแรง/เธอทำลายในสิ่งที่รักที่สุดของผู้เป็นพี่...เป็นความรุนแรงแห่งอารมณ์ของผู้หญิงที่เหมือนดั่งว่าจะมีกันทุกคนอยู่ที่ว่า..แต่ละคนนั้นจะควบคุมกันไว้ได้อย่างไร “น้องรู้ว่ามันอยู่ที่ไหน บอกมาเดี๋ยวนี้เทียวเดี๋ยวจะเจ็บตัวนะ”โจเอ็ด พลางจับตัวเอมี่เขย่า “เอ็ดไปสิ ถึงจะเอ็ดจนคอแตกตาย ก็ไม่ได้หนังสือบ้าๆนั้นกลับคืนมาอีก”เอมี่ร้องตอบอย่างตื่นเต้นเช่นเดียวกัน “ทำไมล่ะ” “เผาไฟหมดแล้ว” “อะไรกัน!หนังสือที่พี่แต่งพี่รักราวชีวิต ที่พี่ขะมักเขม้นเขียนอย่างลำบากยากเย็น และตั้งใจว่าจะให้เสร็จก่อนคุณพ่อกลับมา ..เอาของพี่ไปเผาไฟจริงๆรึ เอมี่?”โจพูด หน้าตาซีดเซียว ตาลุกวาว ยึดแขนเอมี่ไว้แน่น “ฉันเผาหมดแล้ว ก็ฉันบอกพี่แล้วไงว่าพี่จะต้องเสียใจ ที่เอ็ดฉันเมื่อวานนี้..ฉัน...” เอมี่ พูดต่อไปไม่ได้อีก เพราะโจโกรธจนลืมตัวจับเอมี่เขย่าเสียจนฟันกระทบกัน และร้องด้วยความโกรธและเสียใจว่า..”เด็กวายร้าย!ฉันเขียนเรื่องอีกไม่ได้แล้ว และฉันจะไม่ยอมยกโทษให้เลยจนตลอดชีวิต” ปะทุอารมณ์ตรงส่วนนี้ของตัวละครสำคํญทั้งสอง ถือเป็นสัจจะของการมีชีวิตอยู่ อารมณ์ร่วมที่เป็นอยู่จริงของ “โจ” ก็คือภาวะความขัดแย้งระหว่าง “อัลคอตต์” กับน้องสาวที่ยากจะลืมเลือนจากผลพวงแห่งความเป็นอารมณ์ของผู้หญิง ที่ยากจะลดทอนและเยียวยา.../ภาพสะท้อนนี้คือ..ตัวตนของผู้ประพันธ์ที่เธอต้องแบกรับรอยแผลเป็นแห่งชีวิตภายใต้กายร่างและหัวใจของผู้หญิงที่ต้องเผชิญหน้ากัน ด้วยรสชาติของพายุอารมณ์ที่ไม่อาจเลี่ยงพ้น/สถานการณ์ที่บ้านและครอบครัวที่ไม่มีผู้ชายเป็นหลักยึด/ด้วยพ่อต้องถูกเกณฑ์ไปสู่สนามรบ/อะไรก็เกิดขึ้นได้ในสมรภูมิรบแห่งสัญชาตญาณระหว่างลูกๆ ภรรยา และบรรดาญาติๆของพวกเธอ/และนี่คือวิถีธรรมชาติที่ผู้หญิงต้องเรียนรู้บทบาทอันควรจะเป็นในชีวิตของเธออย่างระมัดระวังและเป็นที่เข้าใจ “อ.สนิทวงศ์” แปลหนังสือเล่มนี้ออกมาสำเร็จและตีพิมพ์เป็นเล่มแรกในชีวิตนักแปลของเธอ เมื่อเดือนพฤศจิกายนค.ศ.1953 ในบรรดาวรรณกรรมแปลอันหลากหลายของเธอ/มันเกิดขึ้นและดำเนินไปด้วยศรัทธาและเชื่อมั่นในสถาบันครอบครัวเป็นที่ตั้ง “ครอบครัวใดที่บิดามารดารักใคร่ปรองดองกัน เอาใจใส่เลี้ยงดูบุตร ธิดาเป็นอย่างดี ครอบครัวนั้นย่อมมีความผาสุกราบรื่น..ดั่งเช่นครอบครัวมาร์ชในเรื่องนี้” และนี่คือปณิธานแห่งความตั้งใจของผู้แปลที่ทำให้นวนิยายเรื่องนี้ดำรงอยู่กับกาลเวลาอย่างมีคุณค่าได้มากว่าศตวรรษแล้ว..มันคือพิมพ์เขียวแห่งความตระหนักรู้ที่จะทำให้ผู้หญิงของโลกได้มองเห็นทาบเงาของตนเองในกระจกเงาของชีวิต/ก่อนที่การผจญภัยในเลือดเนื้อแห่งจิตวิญญาณที่ยากลำบากต่อการเอาชนะเพื่อการมีชีวิตรอดบนเวทีชีวิต..จะเกิดขึ้นกระทั่งเกิดความรู้สึกรักในความหมายอันเป็นนิรันดร์ของมัน “เมื่อทุกคนได้นั่งเป็นหมู่เช่นนั้น ม่านของเราก็ได้ปิดลง..บังภาพของเม็ก โจ เบ็ธ และเอมี่ไว้/แต่จะเปิดขึ้นใหม่หรือไม่นั้น..ก็ต้องแล้วแต่การที่ท่านผู้อ่านนิยมชมชอบฉากแรกของบทละครแห่งชีวิตภายในครอบครัว ซึ่งมีชื่อว่า “สี่ดรุณี” นี้หรือไม่????”