ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง : พาไปชมโบสถ์คริสต์บ้านซ่งแย้ จ.ยโสธร อาคารสถาปัตย์ไม้ใหญ่ที่สุดเมืองไทย จังหวัดยโสธรมีสถานที่เที่ยวทางวัฒนธรรมอยู่หลายแห่ง หนึ่งในนี้คือโบสถ์คริสต์สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง มีโอกาสไปเดินเที่ยวชมและถ่ายภาพโบสถ์คริสต์ที่สร้างด้วยไม้ทั้งหลังที่ว่านี้ของวัดคาทอลิกอัครเทวดามีคาแอล ซ่งแย้ ตั้งอยู่ที่บ้านหนองซ่งแย้ หมู่ 2 ตำบลคำเตย อำเภอไทยเจริญ จังหวัดยโสธร โดยโบสถ์ไม้หลังนี้ได้จัดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวตามนิยาม Unseen in Thailand เป็นโบสถ์ไม้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ว่าอย่างนั้น แรกเห็นโบสถ์ไม้หลังนี้ นอกจากทึ่งแล้วยังอดคิดต่อไม่ได้ว่านำไม้ใหญ่และเล็กนับร้อยต้นจากไหนมาสร้าง เพราะตัวโบสถ์มีขนาดกว้างและใหญ่ทีเดียว อีกสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในพื้นที่วัดยังปลูกสร้างด้วยไม้อยู่จำนวนไม่น้อยเช่นกัน กระนั้นก็ดีพอจะทราบที่มาของการสร้างโบสถ์ไม้ของคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก วัดอัครเทวดามีคาแอล ซ่งแย้ หรือคนในชุมชนเรียก วัดซ่งแย้ จากข้อมูลแผ่นป้ายนำมาบอกเล่าสังเขป พ.ศ.2451 หมู่บ้านหนองซ่งแย้เวลานั้นเป็นหมู่บ้านเล็กๆ กลางดงป่าทึบ มีชาวบ้านเพียง 5 ครอบครัวที่ได้อพยพเข้ามาจากหมู่บ้านอื่นเข้ามาอยู่ใหม่ ด้วยเพราะถูกขับไล่เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบเข้าสิง ซึ่งช่วงเวลานั้นบาทหลวงเดชาแนลและบาทหลวงอัมโบรซีโอเป็นเจ้าวัดประจำบ้านเซซ่ง ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร มาเยี่ยมและเห็นว่าบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านซ่งแย้ดีมาก จึงขอให้ชาวบ้านสร้างที่พักอาศัยชั่วคราวขึ้นหนึ่งหลัง เพื่อไว้สอนและประกอบพิธีทางศาสนา ซึ่งบ้านพักหลังนี้เป็นโรงสวดหรือวัดคาทอลิกอัครเทวดามีคาแอล หลังแรกของกลุ่มคริสต์ชนซ่งแย้ ต่อมาชาวบ้านจากหมู่บ้านอื่นๆ ได้อพยพมาอาศัยเพิ่มขึ้น เมื่อเวลาผ่านไปจึงมีการขยายโรงสวดวัดให้ใหญ่ขึ้นกว่าหลังเดิมเพื่อรองรับกิจศาสนา ทำให้หมู่บ้านแห่งนี้กลายเป็นหมู่บ้านประชาคมชาวคริสต์ สำหรับการสร้างโบสถ์นี้สร้างมาแล้วสี่ครั้งซึ่งเป็นหลังปัจจุบัน เวลานั้นวัดได้เกณฑ์ชาวบ้านหาไม้มาสร้าง เพราะหลังเก่าเริ่มชำรุด แต่ยังไม่ได้ลงมือสร้างเนื่องจากมีปัญหาด้านกิจการศาสนา กระทั่งปี พ.ศ. 2490 วัดได้ให้ชาวบ้านตระเตรียมไม้มาสร้างโบสถ์อีกครั้ง เป็นไม้ที่อยู่ในละแวกแถวนั้น ได้แก่ ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้สัก ไม้จิก โดยโบสถ์ไม้หลังนี้มีลักษณะกึ่งสถาปัตยกรรมไทยและมีขนาดใหญ่ ขนาดกว้าง 16 เมตร ยาว 57 เมตร ใช้เสาทั้งใหญ่และเล็กจำนวน 227 ต้น ใช้ไม้มุงหลังคาจำนวน 8 หมื่นแผ่น พื้นแผ่นกระดานไม้แดงและไม้ตะเคียนขนาดใหญ่ ม้านั่งไม้จุคนได้กว่าพันคน มีช่างจากจังหวัดอุบลราชธานีคอยควบคุมงาน มีการปรับปรุงช่องแสงประดับกระจกสีสวยงามแปลกตา จัดเป็นโบสถ์คริสต์สร้างด้วยไม้ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย (แผ่นป้าย, วิกิพีเดีย) นอกจากโบสถ์สร้างด้วยไม้แล้ว ยังมีหอระฆังสูงสร้างแบบวัดไทยทั่วไปแยกอยู่ต่างหาก อย่างไรก็ดี เสาไม้ของตัวโบสถ์มีการผุกร่อน เสาบางต้นถูกปลวกกัดแทะเสียหาย จึงจัดหาเสาไม้ใหม่มาแทนเสาไม้เดิม ทำการยกตัวโบสถ์ให้สูงขึ้นเพื่อให้ตัวโบสถ์ดูสง่างาม เสริมด้วยการหล่อเสาเทคานคอดิน คอนกรีตเสริมเหล็กฝังดินแทนไม้ เพื่ออนุรักษ์โบสถ์ไม้ให้คงสภาพเป็นมรดกของชุมชน เป็นศูนย์รวมปฏิบัติศาสนกิจของคริสต์ศาสนิกชน และกิจกรรมทางวัฒนธรรมชุมชนซ่งแย้ ทั้งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของจังหวัดยโสธร