หนึ่งในภารกิจหลักของสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา (สจด.) ตามแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงานสถาบันในการจัดการศึกษาแบบ “เรียนคู่งาน งานคู่เรียน” เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ตอบสนองความต้องการด้านวิชาชีพของสถานประกอบการ ชุมชนและสังคม มีเป้าหมายการพัฒนาที่สําคัญ คือ การถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนที่รับผู้ที่ทำงานแล้วเข้าศึกษาในสถาบันฯ และได้รับการรับรองวุฒิการศึกษาเพิ่มขึ้นตามที่แต่ละคนเข้าศึกษา นอกจากนั้นยังมีโครงการบริการวิชาการต่างๆ ที่สถาบันฯให้บริการวิชาการแก่หน่วยงาน ประชาชนในชุมชนและสังคมให้มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ทั้งในพื้นที่สถาบันฯ และ สถานที่ของหน่วยงานหรือสถานประกอบการหรือชุมชนตามความต้องการด้านวิชาชีพของสถานประกอบการ ชุมชน และสังคม รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือกับ ดร.พีระพล พูลทวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ผศ.ไพศาล บุรินทร์วัฒนา อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุวรรณภูมิ (มทร.ส) และ รศ.ดร.วีระพล ทองมา รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเเม่โจ้ (มจ.) ในการวางระบบการศึกษาทางวิชาการ วิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่วิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ เป็นหนึ่งภารกิจในการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์สถาบันให้เป็นรูปธรรม เกิดประโยชน์สูงสุดต่อนักเรียน นักศึกษาและการศึกษาไทย เพื่อตอบสนองแผนพัฒนาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ด้านการผลิต พัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา แผนการศึกษาแห่งชาติ ด้านการผลิตและพัฒนากำลังคน การวิจัย และนวัตกรรมเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อนำไปสู่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ทั้งนี้ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาจะเป็นหนึ่งหน่วยงานที่ร่วมพัฒนากำลังคน เพิ่มพูนความรู้สมรรถนะและประสบการณ์วิชาชีพของบุคลากรทางการศึกษา พัฒนาหลักสูตรด้านอาชีวศึกษาและเทคโนโลยีในการผลิตกำลังคนอาชีวะให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ สนับสนุนการศึกษา ค้นคว้า วิจัยและบริการทางวิชาการ พัฒนาสื่อการเรียนการสอนให้มีคุณภาพมาตรฐานสากล รวมไปถึงการพัฒนาหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ถ่ายทอดองค์ความรู้พัฒนาทักษะคามสามารถด้านการเรียนการสอนแบบโครงงานเป็นฐาน (Project Based Learning) ให้คำปรึกษาในการพัฒนานวัตกรรม โครงงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมติดตามความคืบหน้าและแก้ไขปัญหาร่วมกับ สอศ. การร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาครั้งนี้จึงเป็นอีกก้าวหนึ่งในการสร้างเยาวชนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 ที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะมีบทบาทมากขึ้นในการดำรงชีวิต.