นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม ได้หารือและติดตามความคืบหน้าการจัดทำเอกสารของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของไทย เพื่อเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกยูเนสโก โดยเบื้องต้นมีความเห็นตรงกันว่า ให้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำเอกสารและรวบรวมข้อมูลของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของไทยทั้งที่ได้รับการบรรจุอยู่ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น(Tentative List) และอยู่ในขั้นตอนการจัดทำเอกสารเพื่อเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก รวมทั้งจัดทำเอกสารและข้อมูลของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่จะเสนอเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น ทั้งตั้งเป้าหมายจะเสนออย่างน้อยปีละ 1 รายการ รวมทั้งให้เร่งรัดที่อยู่ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นแล้วขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก สำหรับความคืบหน้าเส้นทางวัฒนธรรมพิมาย และศาสนาสถานที่เกี่ยวข้องปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ เพื่อเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เบื้องต้นคณะทำงานอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำเอกสารและหารือกับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อปรับรูปแบบการเขียนเอกสารให้มีความครบถ้วนและสมบูรณ์สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของยูเนสโก ในส่วนของอนุสรณ์สถาน แหล่งต่างๆ และภูมิทัศน์วัฒนธรรมของเชียงใหม่ นครหลวงของล้านนาที่มีอายุกว่า 700 ปี อยู่ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นปี 2558 จะเสนอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก แบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.ภูมิทัศน์วัฒนธรรมของผังเมืองเก่าเชียงใหม่ 2.กำแพงเมืองและคูเมืองชั้นในของเชียงใหม่ 3.กำแพงเมืองและคูเมืองชั้นนอกของเชียงใหม่ 4.กลุ่มโบราณสถานภายในกำแพงเมือง 5.กลุ่มโบราณสถานภายนอกเมือง และ 6.สิ่งก่อสร้างในสมัยหลังทางด้านตะวันออกของกำแพงเมืองเชียงใหม่ ซึ่งขณะนี้เร่งจัดทำเอกสารให้สมบูรณ์และสอดคล้องกับเกณฑ์ที่ 2 , 3 และเกณฑ์ที่ 4 ของยูเนสโก วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช อยู่ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นปี 2557 อยู่ระหว่างเร่งรัดจัดทำเอกสารให้สอดคล้องกับเกณฑ์ที่ 2 , 4 และเกณฑ์ที่ 6 เพื่อเสนอต่อยูเนสโกโดยเร็วที่สุด และพระธาตุพนม จ.นครพนม เพื่อบรรจุไว้ในบัญชีเบื้องต้น ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำเอกสารและแผนบริหารจัดการ โดยทางจังหวัดตั้งเป้าหมายจะเสนอต่อยูเนสโกปี 2562 ทั้งนี้ ยูเนสโกได้กำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาคุณค่าที่โดดเด่นเป็นสากลด้านวัฒนธรรมของแหล่งมรดกโลกประกอบด้วย 6 เกณฑ์ ได้แก่ เกณฑ์ที่ 1.เป็นการแสดงถึงอัจฉริยภาพทางการออกแบบผังเมืองที่ใช้ภูมิปัญญาโบราณแหล่งที่ตั้งเมืองในบริเวณที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ เกณฑ์ที่ 2.เป็นการแสดงถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงคุณค่าของมนุษย์ตามกาลเวลาหรือในวัฒนธรรมด้านใดด้านหนึ่งของโลกในการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรม หรือทางเทคโนโลยี ศิลปะ เกณฑ์ที่ 3 มีลักษณะของการสืบทอดทางวัฒนธรรมที่เจริญรุ่งเรืองสืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน เกณฑ์ที่ 4 เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของประเภทอาคาร กลุ่มสถาปัตยกรรม หรือเทคโนโลยี ซึ่งแสดงถึงช่วงเวลาที่สำคัญช่วงหนึ่งหรือหลายช่วงในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เกณฑ์ที่ 5 เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นทางวัฒนธรรมของมนุษย์ ขนบธรรมเนียมประเพณี แบบสถาปัตยกรรมวิธีการก่อสร้าง การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งเสื่อมสภาพได้ง่ายจากผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงตามเวลา และสังคมวัฒนธรรม และเกณฑ์ที่ 6 มีความสัมพันธ์โดยตรงหรือเห็นได้ชัดเจนกับเหตุการณ์ หรือประเพณีที่ยังคงอยู่ หรือความคิด หรือความเชื่อต่องานศิลปกรรม และวรรณกรรมที่มีความโดดเด่นเป็นสากล