แห่งเดียวในโลก งดงาม ยิ่งใหญ่!! ผู้ว่าฯ หนองคาย เปิดงานมหกรรม แสง สี เสียง บุญเบิกฟ้า บูชาพระธาตุรวงข้าวเจดีย์ และของดีจังหวัดหนองคาย ด้าน นายก อบจ.หนองคาย มอบเงินสนับสนุน 1,850,000 บาท วันที่ 27 มกราคม 2563 เวลา 17.30 น. ณ บริเวณสนามหน้าที่ว่าการอำเภอสระใคร จังหวัดหนองคาย นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานเปิดงานมหกรรม แสง สี เสียง บุญเบิกฟ้า บูชาพระธาตุรวงข้าวเจดีย์ และของดีจังหวัดหนองคาย ประจำปี 2563 ที่อำเภอสระใครจัดให้มีขึ้นในระหว่างวันที่ 26 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ 2563 ทั้งนี้ นายยุทธนา ศรีตะบุตร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย ยังได้มอบเงินสนับสนุน 1,850,000 บาท มีนายณัฐวัสส์ วิริยานภาภรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ,นายสุชน ภัยธิราช รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ,นายศุภกร มูลสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ,นางวัชรินทร์ จิตรวิเศษ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดหนองคาย ,หัวหน้าส่วนราชการ ,ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชนและนักท่องเที่ยวร่วมในพิธีจำนวนมาก นายเตชิต ทรงบุญศาสตร์ นายอำเภอสระใคร กล่าวว่า อำเภอสระใคร เป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิที่สำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิใน ตำบลบ้านฝาง ได้รับรางวัลการประกวดจากทั้งระดับจังหวัดและระดับประเทศอย่างต่อเนื่องทุกปี ชาวอำเภอสระใคร จึงได้มีแนวความคิดในการจัดงานบุญเบิกฟ้า บูชาพระธาตุรวงข้าวเจดีย์ขึ้น เพื่อเป็นการตอบแทนคุณและบูชาพระพุทธเจ้าและพระแม่โพสพ เพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของชาวอีสานที่สืบต่อกันมาแต่โบราณกาล และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของอำเภอสระใคร และจังหวัดหนองคาย “เนื่องจากข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทย อาชีพทำนาหรือปลูกข้าวเป็นอาชีพหลักของคนไทยที่ถูกเรียกขานเป็น กระดูกสันหลังของชาติ ซึ่งพิธีกรรมหนึ่งที่ชาวนาไทยถือปฏิบัติคู่กับการทำนามาตั้งแต่โบราณ คือ การบูชาพระแม่โพสพ พระคันธารราษฎร์พระพุทธรูปแห่งความอุดมสมบูรณ์ของธัญพืชธัญญาหารต่างๆ และเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา แด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะตระกูลของพระพุทธเจ้านั้นมาจากชาวนา แม้แต่พระเจ้าสุทโทธนะ พระราชบิดายังมีชื่อที่แปลว่าพระเจ้าข้าวขาว และพระพุทธเจ้าเองก็เป็นหน่อเนื้อแห่งวงศ์ตระกูลข้าวอันอุดมสมบูรณ์” นายอำเภอสระใคร กล่าว นายอำเภอสระใคร กล่าวต่อว่า ในการจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว และการกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดหนองคาย เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์พื้นที่แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพของประเทศไทยสู่กระแสนิยม เชื่อมโยงแหล่งผลิตข้าวสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายและเพิ่มมูลค่าข้าวตามนโยบายของรัฐบาล ส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชุมชนข้าวไทย เพื่อให้คนในพื้นที่อำเภอสระใคร ได้เห็นคุณค่าของข้าวไทยที่ดีกว่าข้าวอื่นๆทั่วโลก เพื่อเป็นการดำรงรักษาวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของชาวสระใคร โดยได้จัดให้มีกิจกรรมต่างๆมากมายตลอดทั้ง 9 วัน 9 คืน เช่น การแสดงแสงสีเสียงประกอบม่านน้ำพุ การแสดงพุนานาชาติ พระธาตุรวงข้าวฯ ที่เป็นไฮไลท์ของงานฯ ที่มีความกว้าง 7 เมตร สูงถึง 32 เมตร ใช้มัดข้าวนับแสนมัด รวงข้าวนับล้านรวงประดับตกแต่ง หนึ่งเดียวในโลก ที่ประดับตกแต่งไฟ มีหุ่นไม้ไผ่สานยักษ์ที่ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ปีนี้มีทั้งหมด 9 ตัว และอีกส่วนที่ถือว่าเป็นไฮไลท์อีกอย่างหนึ่ง คือ อุโมงค์ข้าวตอกแตก ที่ทุกหมู่บ้านได้ร่วมกันร้อยโคมข้าวตอกแตก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร ความยาว 1 เมตร 20 เซนติเมตร นำมาทำ และยังมีขบวนรถบุพชาติ ซึ่งจะประกอบไปด้วยขบวนพระธาตุรวงข้าวองค์จำลองอีกด้วย นายอำเภอสระใครกล่าวอีกว่า กิจกรรมสำคัญภายในงานประกอบด้วย บุญเบิกฟ้า ที่จะมีการทำบุญสู่ขวัญข้าว การหาบฝุ่นลงนา เวียนเทียนเข้าเปลือกเป็นการขอขมาพระแม่โพสพและบูชาพระพุทธเจ้า และมีการเสี่ยงทายถึงความอุดมสมบูรณ์ที่จะเกิดขึ้นในแต่ละปี ผู้ที่เข้ามาร่วมงานยังจะได้ชมพระธาตุรวงข้าว ถือเป็นหนึ่งเดียวและเป็นอันซีน ของประเทศไทย มีที่อำเภอสระใครเพียงแห่งเดียว ในประเทศไทยและในโลก องค์พระธาตุมีความกว้าง 7 เมตร สูงถึง 32 เมตร ใช้มัดข้าวนับแสนมัด รวงข้าวนับล้านรวงประดับตกแต่ง นอกจากนี้ยังมีขบวนรถบุพชาติพระธาตุรวงข้าวจำลองจากหมู่บ้านต่าง ๆ กว่า 10 ขบวนที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ที่มีความยิ่งใหญ่อลังการ และยังมีกิจกรรมการแสดงและกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย เตรียมงานทั้งหมดมาประมาณ 5 เดือน เริ่มตั้งแต่ลงเสาเข็มองค์พระธาตุรวงข้าว การลงแขกดำนา การลงแขกหว่านปุ๋ย การลงแขกเกี่ยวข้าว และมีการมอบข้าวที่เกี่ยวเสร็จไปให้ชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านนำไปจัดเตรียมเป็นมัดข้าว และขอรับการบริจาคข้าวจากประชาชนชาวสระใคร ตามจิตศรัทธา ก่อนจะนำมารวมกันที่อำเภอ และร่วมกันนำมัดข้าวขึ้นประดับตกแต่งที่องค์พระธาตุรวงข้าว ซึ่งแรงงานที่ร่วมกันเตรียมงานและสร้างพระธาตุรวงข้าวนั้น เป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน จิตอาสา และประชาชนชาวอำเภอสระใคร ที่ออกมาช่วยกันเตรียมงาน สำหรับ องค์พระธาตุรวงข้าว ถือเป็นหนึ่งเดียวในจังหวัดหนองคาย หนึ่งเดียวในประเทศไทย และหนึ่งเดียวในโลก นอกจากนี้ยังมีประตูสวรรค์ ที่ทำเป็นเสาโทริอิ แบบญี่ปุ่น ที่ตั้งอยู่โดยรอบ เป็นการผสมผสานวัฒนธรรมอีสาน บูรณาการกับวัฒนธรรมโลก นอกจากนี้สวนนงนุช ยังเข้ามาช่วยจัดสวนบริเวณพื้นที่รอบ ๆ องค์พระธาตุรวงข้าวให้มีความยิ่งใหญ่สวยงาม ที่ถือเป็นไฮไลท์อีกอย่างหนึ่งของการจัดงานคือ หุ่นสานไม้ไผ่ขนาดใหญ่ ปีนี้มีการสร้างใหม่ จำนวน 9 ตัว ความสูงไม่ต่ำกว่า 4 เมตร สร้างตามความเชื่อโบราญของคนอีสาน เป็นการสร้างหุ่นประจำทิศ เช่นพญานาค ราชสีห์ พญาควาย และพญาช้าง เป็นต้น หลังเสร็จงานฯ ก็จะจัดแสดงต่อไปจนถึงเดือนมีนาคม 2563 ก่อนจะรื้อลง แล้วนำมัดข้าวแจกจ่ายให้กับประชาชนในอำเภอสระใคร ทุกครัวเรือน ถือเป็นสิ่งมงคล เก็บไว้ในบ้านเรือนของตนเอง นายรณชัย จิตรวิเศษ กล่าวว่า จังหวัดหนองคาย ได้มีนโยบายในเรื่องของการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่เป็นลักษณะของวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตของชุมชน ซึ่งในช่วงฤดูหนาวจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดหนองคาย เป็นจำนวนมาก ถือเป็นช่วงที่สภาวะอากาศที่หนาวเย็นและมีทะเลหมอกเกิดขึ้น ส่วนงานมหกรรม แสง สี เสียง บุญเบิกฟ้า บูชาพระธาตุรวงข้าวเจดีย์และของดีจังหวัดหนองคาย ประจำปี 2563 ที่จะจัดให้มีขึ้นที่อำเภอสระใคร เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวในลักษณะของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมประเพณี ซึ่งอำเภอสระใคร ได้จัดขึ้นแล้ว 1 ครั้งอย่างยิ่งใหญ่ มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ครั้งนี้จะเป็นการจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จังหวัดจึงได้สนับสนุนให้จัดยิ่งใหญ่ขึ้น และจะจัดสนับสนุนงบประมาณในการจัดงานให้ยิ่งใหญ่มากขึ้นทุกปีไม่แพ้งานเทศกาลออกพรรษาบั้งไฟพญานาค ที่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วประเทศ. ภัทรวินทร์ ลีปาน หนองคาย