(27ม.ค.63) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในเขตพื้นที่ จ.ชัยภูมิเป็นจังหวัดหนึ่งของภาคอีสาน ที่มีการปลูกยางพาราเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อราคายางพาราตกต่ำเกษตรกรบางรายจำเป็นต้องตัดทิ้ง เพื่อปลูกต้นไม้อื่นทดแทน แต่ยังมีเกษตรกรบางรายได้คิดต่อยอดจากวัตถุดิบใบยาง ไปทำผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมยางพารา เพื่อการจำหน่ายทางออนไลน์ สร้างรายได้อย่างไม่คาดไม่ถึง น.ส. ณัฐณิชา กลมจัตุรัส (คุณมด) เจ้าของแบรนด์ “ณัฐณิชาผ้าย้อมสีจากใบยางพารา” เล่าว่า ตนเองเป็นเกษตรกรที่หมู่บ้านชัยมงคล เป็นหมู่บ้านในอำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ที่มีการปลูกยางพาราเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากและเกษตรกรได้จับกลุ่มเป็นกลุ่มสหกรณ์กองทุนสวนยางชัยมงคลเทพสถิต จำกัด เพื่อการปลูกยางพาราจำหน่ายแบบก้อนถ้วย แต่ปัจจุบันเกษตรกรบางรายได้ตัดต้นยางทิ้ง เนื่องจากราคายางตกต่ำ จึงหันไปปลูกต้นไม้อื่นๆแทน ตนเองคิดว่าหากตัดทิ้งก็คงเสียดายมากเนื่องจากได้ปลูกเป็นจำนวนมาก จึงได้หาวิธีการต่อยอดสร้างรายได้จากต้นยางพาราให้กลุ่มเกษตรกรยางพารา จึงได้ไปปรึกษากลุ่มทอผ้าบ้านเสี้ยวน้อย อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งมีแม่มาลา เป็นประธานกลุ่มย้อมผ้าไหม ที่มีชื่อเสียงมากของจังหวัดชัยภูมิ และกลุ่มทอผ้าบ้านเสี้ยวน้อย ก็สามารถย้อมผ้าจากยางพาราได้เป็นผลสำเร็จมีสีสวยงาม เป็นเอกลักษณ์ผ้าย้อมสียางพารา สีเหมือนงาช้างสวยงาม และได้มอบให้กลุ่มทอผ้าออกแบบการทอเป็นลายตาหมากรุก (ลาดผ้าขาวม้า) จนเป็นผลสำเร็จ ปัจจุบันตนเองได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรผ้าทอลายเอกลักษณ์ตาหมากรุก (ลาดผ้าขาวม้า) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนการออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์นั้น ได้จ้างร้านที่จังหวัดขอนแก่น เป็นผู้ตัดเย็บ ทั้งกระเป๋ารูปทรงต่างๆ ถุงผ้าลดโลกร้อนที่ปัจจุบันคนนิยมมาก กระเป๋าสตางค์ เสื้อ กระโปง รองเท้า ของชำร่วยงานมงคล และอื่นๆ โดยใช้รูปแบบทางการตลาดสมัยใหม่ทางออนไลน์ ภายใต้แบรนด์ “ณัฐณิชา” หรือแฟนเพจ เฟสบุ๊คชื่อ “ณัฐณิชาผ้าย้อมสีจากใบยางพารา” นางมาลา วรรณพงศ์ (แม่มาลา) บ้านเลขที่ 6/1 หมู่ที่ 1 บ้านเสี้ยวน้อย ต.บ้านเล่า อ.เมืองชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ อายุ 60 ปี ประธานกลุ่มสตรีทอผ้าไหมบ้านเสี้ยวน้อย กล่าวว่า คุณมด ได้มาปรึกษาว่า ที่หมู่บ้านชัยมงคล ได้มีการปลูกยางพาราและกำลังจะตัดต้นทิ้ง เป็นจำนวนมาก ก็เลยเสียดายว่าเราเอามาทำประโยชน์ย้อมผ้าไหม ผ้าฝ้ายได้ไหม เพื่อสร้างรายได้และต่อยอดให้กลุ้มสหกรณ์ปลูกยางพาราได้มีรายได้ ทางกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านเสี้ยวน้อย จึงได้ทดลองย้อม โดยการนำใบยางพารา มาต้มประมาณ 15 นาที เมื่อสียางพาราออกก็เอาใบออก เหลื่อแต่น้ำสียางพารา แต่ตอนทดลองจะได้สีเดียวคือสีส้มอมสีงาช้าง จึงได้ทดสอบจากประสบการณ์การย้อมผ้าไหมโบราณ โดยการนำน้ำสนิม น้ำขี่เถ้า และน้ำปูนขาวมาใส่ลงไปก็จะได้สีของผ้าที่ย้อมใบยางพารา หลากหลายสีขึ้น เป็นเอกลักษณ์ของผ้าทอย้อมสีใบยางพาราเป็นผลสำเร็จ และมีสีสันหลากหลายงดงามเป็นหนึ่งเดียว และจึงนำมาออกแบบการทอเป็นลายเอกลักษณ์ “ลายตาหมากฮอด”(ลาดผ้าขาวม้า) และต่อมาก็มีคนสนใจสั่งให้ทางกลุ่มทอผ้าบ้านเสี้ยวน้อย เราทำผ้าย้อมสีใบยางพารา เป็นจำนวนมาก ยกเว้นการทอจะไม่สามารถทอเป็นลายตาหมากฮอด (ลาดผ้าขาวม้า) เนื่องจากเป็นลิขสิทธิ์ของคุณมด “ณัฐณิชา” ที่มีชื่อเสียงไปแล้ว ส่วนหากสนใจลายอื่นๆ สีเดียวผ้าพื้นก็สามารถสั่งกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านเสี้ยวน้อย ให้เราผลิตให้ได้