คนไทยเมื่อไปวัด นอกทำบุญแล้วอีกสิ่งหนึ่งคือการได้สักการบูชาพระบรมสารีธาตุ ไหว้พระธาตุ เพื่อรำลึกถึงองค์สมเด็จสัมมาสัมพระพุทธเจ้า และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนกระนั้นก็ดี น่าสนใจคำที่ว่า “พระบรมสารีริกธาตุ” กับคำว่า “พระธาตุ” สองคำนี้มีความหมายและแตกต่างกันอย่างไร ฉบับนี้มีเกร็ดความรู้มาฝาก นำเอาบทความ “พระธาตุ” ของคุณ วัฒนรักษ์ ได้อธิบายสองคำนี้ไว้ในคอลัมน์ปล้ำผีลุกปลุกผีนั่ง สยามรัฐรายวัน (18 ก.พ.54) มานำเสนอแบบกระชับพื้นที่“หลายคนยังคงสับสนระหว่างคำว่า “พระธาตุ” ที่หมายถึง กระดูก หรือส่วนของร่างกายต่างๆ เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง โลหิต ฯลฯ ของบุคคลที่ละสังขารไปแล้ว แต่กลับมีคุณลักษณะเป็นที่แตกต่างจากสามัญชนทั่วไป คือมีลักษณะคล้าย 'ธาตุ' ซึ่งหากมองโดยไม่สังเกตให้ดีแล้วก็คล้าย กรวด หิน แก้ว เพชร ฯลฯ กับ “พระบรมสารีริกธาตุ” ที่เป็นพระธาตุส่วนย่อยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยเฉพาะ
หากท่านสงสัยว่า “พระบรมสารีริกธาตุ” มิได้เป็นคำที่ใช้เรียก พระธาตุของพระอรหันตสาวก หรือพระธาตุเจดีย์ต่างๆ ด้วยหรือ คำตอบคงต้องบอกว่า คำนี้ถูกกำหนดใช้เฉพาะบุคคลเท่านั้น เพียงแต่เราอาจใช้คำว่า “พระบรมธาตุ” หรือ “พระสารีริกธาตุ” แทนได้ และตรงนี้เองที่ทำให้เราสับสน เพราะคำว่า พระบรมธาตุ และ พระธาตุ เราใช้ในความหมายว่าเป็นพระสถูปเจดีย์ต่างๆ ได้ เช่น พระบรมธาตุไชยา พระธาตุดอยสุเทพ พระธาตุพนม
ตามอรรถกถาสุมังคลวิลาสินี ซึ่งเป็นคัมภีร์อธิบายความพระสูตรทีฆนิกาย ในพระสุตตันตปิฎกนั้น พระอรรถกถาจารย์ได้แบ่งลักษณะของพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ นวิปฺปกิณฺณาธาตุ กับ วิปฺปกิณฺณาธาตุลักษณะของ “นวิปฺปกิณฺณาธาตุ” หากจะอธิบายให้เข้าใจกันง่ายๆ คือ พระบรมสารีริกธาตุที่ยังคงรูปร่างเดิมอยู่เป็นชิ้นเป็นอัน มิได้แตกย่อยลงไป ซึ่งความในคัมภีร์ดังกล่าวว่ามีทั้งหมด 7 องค์ ได้แก่ พระนลาฏ (กระดูกหน้าผาก) 1องค์ พระเขี้ยวแก้ว 4 องค์ และพระรากขวัญ (กระดูกไหปลาร้า) 2 องค์ ส่วน “วิปฺปกิณฺณาธาตุ” คือ พระบรมสารีริกธาตุส่วนต่างๆ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่มิได้คงรูปร่างอยู่เป็นชิ้น แต่แตกย่อยลงเป็นเป็นจำนวนมาก กระจายไปประดิษฐานตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งพระอรรถกถาจารย์ท่านได้จำแนกลักษณะและขนาดของพระบรมสารีริกธาตุชนิด วิปฺปกิณฺณาธาตุ ให้มีลักษณะย่อยลงไปอีก 3 ลักษณะ เมื่อพิจารณาจากลักษณะภายนอก คือ ขนาด เล็ก ประมาณเมล็ดพันธุ์ผักกาด ขนาดเขื่อง ประมาณเมล็ดข้าวสารหักกึ่ง มีสีดั่งแก้วมุกดาหรือดั่งมะลิตูม และขนาดใหญ่ ประมาณเมล็ดถั่วเขียวผ่ากลาง บางตำราระบุว่าพระบรมสารีริกธาตุขนาดนี้จะมีสีดั่งทองอุไร
เนื่องจากพระบรมสารีริกธาตุที่พบเกือบทั้งหมดในปัจจุบัน มีความแตกต่างจากอัฐิของบุคคลธรรมดาทั่วไปอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตามยังพบลักษณะของพระบรมสารีริกธาตุที่มีลักษณะเหมือนกระดูกคน เช่นกัน เท่าที่พบเห็นได้ตามพระธาตุเจดีย์ทั่วไป หรือตามพิพิธภัณฑสถานต่างๆ ทั่วโลก สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ พระบรมสารีริกธาตุ ลักษณะ 'พระธาตุ' และพระบรมสารีริกธาตุ ลักษณะ 'กระดูกคน'
พระบรมสารีริกธาตุ ลักษณะ 'พระธาตุ' จะพบมากในประเทศศรีลังกา ไทย จีน พม่า ฯลฯ มีลักษณะตรงหรือใกล้เคียงตามลักษณะที่ปรากฏในอรรถกถา สุมังคลวิลาสินี ในประเทศไทยมีประดิษฐานอยู่ที่พระธาตุเจดีย์ ตามวัดต่างๆทั่วไป พระบรมสารีริกธาตุ ลักษณะ 'กระดูกคน' จะพบเฉพาะเขตโบราณสถานในประเทศอินเดีย สำหรับในประเทศไทย รัฐบาลอังกฤษได้มอบให้แก่ประเทศไทย 2 ครั้ง ครั้งแรกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานอยู่ ณ เจดีย์ภูเขาทอง วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และครั้งที่ 2 รัฐบาลได้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ เจดีย์วัดพระศรีมหาธาตุฯ บางเขน
การเกิดของพระธาตุนั้น จะว่าไปก็เป็นปาฏิหาริย์อย่างหนึ่ง คือ กระดูกที่เผาไฟแล้วก็ดี หรือยังไม่เผาไฟก็ดี สามารถแปรเปลี่ยนเป็นผลึก รูปร่างต่างๆ สีสันสวยงาม คล้ายกรวด คล้ายแก้ว ไม่เพียงแต่กระดูกเท่านั้น ผม เล็บ ฟัน หรือ แม้กระทั่งชานหมากของท่านเหล่านั้น ก็พบว่าสามารถแปรเป็นพระธาตุได้เช่นกันแม้ผู้ที่มีความคิดเป็นวิทยาศาสตร์ หลายคนยังสงสัยเกี่ยวกับพระธาตุ แต่ในปัจจุบันก็มีอัฐิพระสงฆ์อยู่จำนวนไม่น้อยที่สามารถแปรเป็นพระธาตุได้ แต่ละรูปก็มีลักษณะของพระธาตุจำนวนมากมาย อีกทั้งมีปรากฏการณ์เป็นที่น่าอัศจรรย์ใจ ดังเช่นการเพิ่มหรือลดจำนวนได้เอง การเปล่งแสง การเปลี่ยนแปลงลักษณะ ฯลฯ
โบราณาจารย์ต่างๆ มักกล่าวว่า พระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุที่มีขนาดไม่ใหญ่นักนั้น สามารถที่จะลอยน้ำได้ นอกจากนี้อาจปรากฏรัศมีของน้ำรอบๆ พระบรมสารีริกธาตุอีกด้วย ทั้งนี้หากทำการลอยพร้อมๆ กันหลายๆ องค์ พระบรมสารีริกธาตุจะค่อยๆ ลอยเข้าหากันและติดกันในที่สุด ไม่ว่าจะลอยห่างกันสักเพียงใด
ด้วยสาเหตุที่กล่าวถึงคุณลักษณ์ของพระธาตุดังที่กล่าวมา คงจะเป็นเหตุให้มีผู้กล่าวว่า เมื่อมีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่ ณ ที่ใดแล้ว หากมีการถวายความเคารพเป็นอย่างดีและเหมาะสม ท่านก็สามารถที่จะดึงดูดองค์อื่นๆ ให้เสด็จมาประทับรวมกันได้ แต่หากเราได้อ่านเรื่องราวของมหาปรินิพพานแล้ว ยิ่งน่าแปลกใจที่ว่า ณ ช่วงเวลาแห่งการสิ้นสุดพุทธกาลของพระพุทธเจ้านั้น ไม่ว่าพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์จะอยู่แห่งหนตำบลใด จะลอยมารวมตัวในที่เดียวกัน แล้วเผาไหม้ตัวเองจนไม่เหลืออะไรไว้เลยทีเดียว”คราวนี้ผู้อ่านคงเข้าใจคำว่า “พระบรมสารีริกธาตุ” กับคำว่า “พระธาตุ” ในความหมายแล้ว