สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เดินหน้าจัดทำ “โครงการประกวดผลงานนวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาพ : THAIHEALTH INNO AWARDS” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 หลังประสบความสำเร็จจากการบ่มเพาะ “นักนวัตกรรุ่นใหม่” พร้อมชวนสังคมไทยร่วมสนับสนุนผลงานนวัตกรรมต่อยอดพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ ชูตัวอย่าง 2 ผลงานนวัตกรรมรางวัล “ชนะเลิศ-รองชนะเลิศ” ของ “วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี” ที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาของชุมชน และสามารถสร้างเสริมสุขภาพให้กับสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรม ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ และรักษาการผู้อำนวยการสำนักวิชาการและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. เชื่อมั่นในพลังคนรุ่นใหม่ จึงได้จัดทำโครงการประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ในกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายและนักเรียนสายอาชีพ โดยมีครูและอาจารย์เป็นที่ปรึกษาเข้าร่วมในโครงการ จากโจทย์หลักคือ ความต้องการเปลี่ยนสังคมรอบตัวด้วยแนวคิดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อแก้ปัญหาหรือส่งเสริมสุขภาพของชุมชน หรือในเชิงประเด็นทางสังคมที่สามารถขยายผลในวงกว้างได้ แท่งแบริเอร์รูปแบบต่างๆ “โครงการประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ เราไม่ได้มุ่งหวังเพียงแค่การประกวดเพื่อให้ได้ชิ้นงานนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ แต่มุ่งหวังที่จะสร้าง “เมล็ดพันธุ์นักนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ” ที่เกิดขึ้นทั้งลูกศิษย์และครูนอกเหนือจากการผลิตเมล็ดพันธุ์ของนักนวัตกรรุ่นใหม่ การเรียนรู้ด้วยการลงมือทำจากที่เยาวชนได้ร่วมกันเข้าร่วมโครงการนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ย่อมถือเป็นการฝึกทักษะสำคัญที่ตลาดแรงงานโลกต้องการ เช่น ทักษะการคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ การทำงานร่วมกัน การรู้จักประเมินและตัดสินใจ ความฉลาดทางอารมณ์ การยืดหยุ่นทางความคิด และยิ่งเป็นนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาชุมชนย่อมเป็นการฝึกให้มีใจรักในบริการ ซึ่งเป็นทักษะที่ตลาดแรงงานทั่วโลกต้องการ ในปี 2563 จากที่ World Economic Forum ได้รวบรวมไว้” ทีมสี่หสายสายช่างกับผลงานนวัตกรรมด้านความปลอดภัย โดยผลงาน “เสาหลักนำทางจากยางพารา” จากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี เป็นผลงานที่ได้รับรางวัล ชนะเลิศในระดับอาชีวศึกษา จากการประกวดผลงานนวัตกรรมฯ ครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นผลงานจากไอเดียของ “ทีมสี่สหายสายช่าง” ที่เกิดขึ้นจากสองแนวคิดหลักคือ เพื่อบรรเทาความรุนแรงของอุบัติเหตุบนท้องถนนจากการเฉี่ยวชนกับเสาหลักกั้นทางซึ่งทำจากปูน และความต้องการที่จะสร้างมูลค่าและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่มีปัญหาราคาตกต่ำ ปัจจุบันผลงาน เสาหลักนำทางจากยางพาราเป็นหนึ่งในนโยบายของจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่ให้จัดทำถนนเสาหลักยางพารา 1,156 ต้น เพื่อนำร่องเส้นทางลดอุบัติเหตุ และส่งเสริมผลผลิตยางพาราในชุมชน พร้อมกับได้รับ รางวัลผลงานเด่นด้านความปลอดภัยทางถนน จากนายกรัฐมนตรี ในปี 2562 โดยศูนย์ความปลอดภัยทางท้องถนน โดยปัจจุบันได้ต่อยอดพัฒนาชิ้นงานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยบนท้องถนนเพิ่มขึ้น อาทิ “แท่งแบริเออร์” กั้นทาง และ “ยางกั้นล้อรถ หรือ wheel stop” ของช่องจอดรถ ธรรมนูญ รุจิญาติ นายธรรมนูญ รุจิญาติ หรือ “หรั่ง” นักศึกษา ปวส. ปี 1 ตัวแทนของทีมสี่สหายสายช่างกล่าวว่า หลังจากที่พัฒนาตัวเสาหลักที่ทำขึ้นจากยางพาราเพื่อป้องกันและบรรเทาความรุนแรงของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นแล้ว ก็วิเคราะห์ต่อว่าจะเพิ่มระบบความปลอดภัยให้มากขึ้น โดยติดตั้งระบบ GPS และ Application แจ้งเตือนจุดหรือพื้นที่เกิดเหตุ โดยเชื่อมกับ Line ของมูลนิธิหรือหน่วยกู้ภัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้อย่างทันท่วงที จึงทำให้ผลงานได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดในครั้งแรก “หลังจากปีแรกก็คิดว่าควรจะพัฒนาชิ้นงานเพื่อสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนในรูปแบบอื่นๆ ที่ใช้วัตถุดิบจากยางพาราได้ จึงเป็นที่มาของการออกแบบเป็นแท่งแบริเออร์ยางพารา ที่มีคุณสมบัติเหมือนกับเสาหลักนำทางคือทนทาน มีน้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายง่าย ช่วยลดความรุนแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุ โดยมีการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ มีเซ็นเซอร์ตรวจจับตัวรถและความเร็ว และติดตั้งไฟไซเรนต์ เพื่อเพิ่มความปลอดภัย รวมไปถึงการพัฒนาเป็นยางกันล้อรถในช่องจอด ซึ่งผลงานทั้งหมดจะช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางได้หากมีการผลิตและนำไปใช้งานจริงบนถนน” ด้านผลงานที่ได้รับรางวัล รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง “อุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการสระผมผู้ป่วยและผู้สูงอายุที่นั่งเก้าอี้รถเข็น” ซึ่งเป็นผลงานของนักศึกษาทีม “เมืองคนดี” ก็ประสบผลสำเร็จในการนำไปใช้งานจริงกับกลุ่มเป้าหมายในสถานประกอบการ โดยมีผู้สนใจสั่งซื้อไปใช้งานเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถานพยาบาลเอกชนที่ให้บริการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ สาธิตการสระผมผุู้สุงอายุ นายสรวิศ สิกธรรม หรือ “เต้” นักศึกษา ปวส. ปี 1 ตัวแทนนักประดิษฐ์ทีมเมืองคนดี เล่าว่าเกิดไอเดียการออกแบบอุปกรณ์นี้ จากการที่มีสมาชิกในครอบครัวของตนเองซึ่งเป็นผู้สูงอายุต้องประสบปัญหาในการเคลื่อนย้ายตัวผู้ป่วยเข้าห้องน้ำเพื่ออาบน้ำหรือสระผม ประกอบกับประเทศไทยกำลังก้าวไปสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ จึงช่วยกันพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ขึ้นมาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ดูแลผู้ป่วยที่ต้องนั่งรถเข็น และป้องกันอุบัติเหตุจากการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากเตียงไปยังห้องน้ำได้ “ความพิเศษของเครื่องนี้คือมีความสะดวกต่อการใช้งานง่าย มีน้ำหนักเบา มีความปลอดภัยทั้งผู้ใช้งานและผู้ป่วยโดยใช้ไฟฟ้า 12 โวลต์ การปรับตำแหน่งเพื่อเอนนอนก็ใช้ระบบมอเตอร์ไฟฟ้าที่นุ่มนวลทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกหวาดกลัว โดยสามารถใช้กับผู้ป่วยที่ต้องนั่งรถเข็นหรือไม่สะดวกในการเคลื่อนย้าย สามารถรับน้ำหนักได้มากถึง 150 กก. หลังจากนี้ก็กำลังคิดกันต่อว่าจะพัฒนาให้เครื่องนี้ให้มีขนาดกะทัดรัด มากยิ่งขึ้น และสามารถใช้งานได้เมื่อเกิดกระแสไฟฟ้าดับ” นางวาสนา วิชัยดิษฐ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสุราษฎร์การบริบาล ที่นำ “อุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการสระผมผู้ป่วยและผู้สูงอายุที่นั่งเก้าอี้รถเข็น” ไปใช้งานในสถานประกอบการของตนเอง กล่าวว่า อุปกรณ์นี้มีความแข็งแรง ใช้งานได้ง่ายเพราะไม่ต้องเคลื่อนย้ายตัวผู้ป่วยออกจากรถเข็น “อุปกรณ์นี้สามารถช่วยแก้ปัญหาเวลาสระผมผู้สูงอายุได้ดีมาก สามารถทำได้พร้อมกันทีละหลายๆ คน และใช้เวลาไม่นานสำหรับการสระผม ซึ่งผู้สูงอายุก็ไม่เหนื่อยในการเคลื่อนย้าย เพียงแค่เข็นรถเข็นเข้าไปที่เครื่องมือนี้แล้วก็พร้อมสระผมได้ทันที และตัวเครื่องออกแบบมาให้เกือบเอนราบและมีที่รองน้ำทิ้ง ทำให้ไม่เลอะใบหน้าเวลาสระผม” วาสนา วิชัยดิษฐ์  (เสื้อฟ้า) ยืนยันว่าใช้งานได้ดีจริง “สถาบันการศึกษาต่างๆ มีขีดความสามารถในการสร้างสรรค์และพัฒนาต้นแบบนวัตกรรม แต่ทำอย่างไรที่จะขยายผลนวัตกรรมเหล่านี้ออกไปในวงกว้างมากขึ้น ทาง สสส.ก็จะพยายามทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างภาคธุรกิจกับสถาบันการศึกษาและนักนวัตกรรุ่นใหม่ เพื่อมาร่วมกันสนับสนุนและผลักดันผลงานของคนไทยไปสู่การผลิตและเกิดประโยชน์ทั้งในด้านการสร้างเสริมสุขภาพ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศ ซึ่งผลงานทั้ง 2 ชิ้นของวิทยาลัยเทคนิคสุราษฏร์ธานีเป็นเครื่องยืนยันถึงความแตกต่างได้อย่างชัดเจนว่า การสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากการมองเห็นปัญหาและมองที่ผู้ใช้ประโยชน์ ทำให้ผลงานไม่ได้หยุดและขึ้นหิ้งอยู่แค่ภายในรั้วของวิทยาลัย แต่ถูกนำไปใช้ได้จริงภายนอก ดังนั้นในระยะยาวการประชาสัมพันธ์ผลงานและการต่อยอดนวัตกรรมถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง” ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา กล่าวสรุป สำหรับ “โครงการประกวดผลงานนวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาพ : THAIHEALTH INNO AWARDS ครั้งที่ 2” ได้ดำเนินการรับสมัครและคัดเลือกผลงานมาตั้งแต่ปลายปี 2562 โดยในปีนี้มีเยาวชนจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งระดับมัธยมและอาชีวศึกษาทั่วประเทศ ร่วมส่งผลงานส่งเข้าประกวดอย่างล้นหลามกว่า 132 โครงการ โดยมีผลงานที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจนเข้าสู่รอบสุดท้าย จำนวน 18 ผลงานที่โดดเด่น ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จะจัดให้มีเวทีเพื่อนำเสนอผลงานของนักนวัตกรรุ่นใหม่ทั้ง 18 ทีม พร้อมทั้งจัดงานประกาศผลรางวัลการประกวดผลงานนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ : THAIHEALTH INNO AWARDS ครั้งที่ 2 ในวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ที่จะถึงนี้.