“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจ เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ ต่อ สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 จำนวนทั้งสิ้น 1,376 คน ระหว่างวันที่ 21-25 ม.ค.ที่ผ่านมาหลัง คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา เนื่องจากสถานการณ์ยังคงน่าเป็นห่วง พบปริมาณเกินมาตรฐานที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน พบว่า ร้อยละ ติดตามข่าว สถานการณ์ฝุ่นทุกวัน ขณะที่ ร้อยละ 35.03 ติดตามบ้างบางวัน โดยที่ ร้อยละ 84.30 รู้ว่าสาเหตุเกิดจากตัวเอง โรงงานอุตสาหกรรม ท่อไอเสียรถยนต์ ขณะที่ ร้อยละ 94.45 กังวล PM2.5 กระทบสุขภาพ ระบบทางเดินหายใจ , ร้อยละ 22.65 กระทบเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ส่วนวิธีการป้องกันร้อยละ 96.00 ระบุสวมหน้ากากอนามัย ร้อยละ 35.84 ลดการทำกิจกรรมนอกบ้าน อยู่บ้านมากขึ้น หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีฝุ่น ทั้งนี้ เมื่อถามถึงการแก้ปัญหาของรัฐบาล ร้อยละ 33.77 อยากให้ออกมาตรการต่าง ๆ บังคับใช้อย่างจริงจัง เช่น จำกัดปริมาณรถส่วนบุคคล ให้ใช้รถสาธารณะ ห้ามเผาไฟ, ร้อยละ 31.36 ตรวจจับรถทุกประเภทที่มีควันดำ กำหนดเวลาวิ่งของรถบรรทุก และ ร้อยละ 26.97 ฉีดน้ำ พ่นละอองน้ำ ทำฝนหลวง อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ เกือบ 100 % ไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะแก้ไขสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ได้ โดยแบ่งเป็น ร้อยละ 52.90 ไม่มั่นใจเลย และ ร้อยละ 40.70 ไม่ค่อยมั่นใจ เพราะไม่มีมาตรการที่เป็นรูปธรรมชัดเจน แก้ปัญหาล่าช้า มีเพียง ร้อยละ 4.80 ค่อนข้างมั่นใจมาก และ ร้อยละ 1.60 มั่นใจมาก ขณะที่ ศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (pm2.5) ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร ประจำวันที่ 26 ม.ค. 63 เวลา 07.00 น. พบว่าค่าเฉลี่ย ช่วง 24 ชั่วโมง ตรวจวัดได้ 10-31 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร พบว่าไม่เกินมาตรฐาน ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์สภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีเมฆบางส่วน ฝน 10% ของพื้นที่ ด้าน นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ดัชนีคุณภาพอากาศของสถานีตรวจวัดของกรุงเทพมหานครเช้าวันนี้ไม่เกินค่ามาตรฐานในทุกพื้นที่ ส่วนใหญ่อยู่ในระดับ คุณภาพอากาศดีมาก – ดี ประชาชนสามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งและการท่องเที่ยวได้ตามปกติ อย่างไรก็ตามกรุงเทพมหานครขอให้ประชาชนเฝ้าระวังและรักษาสุขภาพของตนด้วยการหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (pm2.5) หากจำเป็นต้องไปในพื้นที่ดังกล่าวให้ใส่หน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น pm2.5 หากมีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้งโดยเฉพาะ ผู้สูงอายุ เด็กและผู้ป่วยทางเดินหายใจ และใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากเกิดความจำเป็น หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์ พร้อมทั้งขอความร่วมมือประชาชนทุกคนช่วยกันลดการทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดประมาณฝุ่นละออง