รมว.คมนาคม ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการว่าด้วยการศึกษาและการให้บริการผ่านโครงข่ายโทรคมนาคมในระบบ 5G ระหว่างบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กับ กสทช. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการว่าด้วยการศึกษาและการให้บริการผ่านโครงข่ายโทรคมนาคมในระบบ 5G ระหว่างบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)(ทอท.) กับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.)โดยมี นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. และนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เป็นผู้ลงนาม พร้อมด้วย นาวาอากาศโท สุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. เป็นสักขีพยาน เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2563 ณ อาคารผู้โดยสารขาเข้า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการว่าด้วยการศึกษาและการให้บริการผ่านโครงข่ายโทรคมนาคมในระบบ 5G ระหว่าง ทอท . กับ สำนักงาน กสทช. ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของการสร้างความร่วมมือข้ามอุตสาหกรรม ระหว่างอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและอุตสาหกรรมการบิน นำไปสู่การปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานของประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งท่าอากาศยานส่วนใหญ่ทั่วโลกมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สร้างระบบนิเวศของสนามบินอัจฉริยะ (Smart Airport Ecosystem) เพื่อรองรับการให้บริการผู้โดยสาร โดยการพัฒนานวัตกรรมการให้บริการ ระบบการรักษาความปลอดภัยการเดินทาง รวมทั้งการรับมือกับความท้าทายด้านอื่น ๆ เช่น ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่มีความสลับซับซ้อน การรบกวนการบินจากโดรนหรือวัตถุอื่น ๆ ความแออัดบนน่านฟ้า ปัญหามลพิษทางอากาศ และการบำรุงรักษาระบบและเครื่องบินให้อยู่ในสภาพดีตามมาตรฐานการบิน ซึ่งการให้บริการด้านการบินต้องมีความแม่นยำและทันเวลา และตรวจสอบติดตามเพื่อให้เกิดความมั่นใจ และมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการให้บริการที่สะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย และสามารถตอบสนองในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทันที รวมทั้งมีระบบการแจ้งเตือนและมีระบบการแพทย์ที่พร้อมให้บริการกรณีฉุกเฉิน ท่าอากาศยานจึงมีความจำเป็นที่ต้องมีการปฏิรูป โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับประยุกต์ใช้เพื่อดำเนินการและพัฒนา Smart Airport Ecosystem เพื่อให้เกิดศักยภาพของระบบต่าง ๆ ภายในท่าอากาศยาน รวมทั้งหากนำมาใช้ด้านโลจิสติกส์ในการคมนาคมขนส่งรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางราง ทางน้ำ และทางบก จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง การนำระบบ 5G มาใช้ในท่าอากาศยานจะทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ รวมทั้งการอำนวยความสะดวกผู้โดยสาร และการให้บริการได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและอุตสาหกรรมการบิน จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการพัฒนาสนามบินอัจฉริยะอย่างเต็มรูปแบบต่อไป.