วงกมธ.ศึกษารธน.ฝ่ายค้านหนุนแนวคิดปชป.แก้ม.256 เปิดทางปลดล็อค ตั้งธงเสร็จ120 วัน เกรงสังคมกล่าวหาซื้อเวลาด้าน"บัญญัติ"ตั้ง 3 แนวทางแก้ ขณะที่อดีตกรธ.แนะฟังความคิดเห็น -ทุกฝ่ายยอมรับได้
เมื่อวันที่ 24 ม.ค. การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้พิจารณากรอบการทำงานและกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ภายหลังกรรมาธิการวิสามัญฯหลายคนได้แสดงความคิดเห็นว่าการทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯมีความล่าช้า
นายดำรงค์ พิเดช ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย อภิปรายว่า ถึงเวลาแล้วที่กรรมาธิการฯต้องมีการกำหนดแนวทางการทำงานที่ชัดเจน เพราะที่ผ่านมามีแต่การแสดงความคิดเห็นกันไปมาระหว่างคณะกรรมาธิการวิสามัญฯเท่านั้น เช่นเดียวกับ นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ กรรมาธิการวิสามัญฯจากพรรคเพื่อไทย เสนอว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญฯต้องเพิ่มวันประชุมจากเดิมที่มีเพียงหนึ่งวันต่อสัปดาห์
จากนั้นนายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะอนุกรรมาธิการวิเคราะห์ศึกษาบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น รายงานว่า อนุกรรมาธิการเห็นแล้วว่าจะนำประเด็นว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 มาพิจารณาเป็นประเด็นแรก และจะเร่งส่งผลการศึกษาให้กับกรรมาธิการในการประชุมครั้งต่อไป
ต่อมาเปิดโอกาสให้กรรมาธิการได้แสดงความคิดเห็น โดยนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญควรตั้ง 2 ประเด็น 1.ความเป็นไปได้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมายถึงโอกาสจะได้รับความร่วมมือและการต่อต้าน 2.ระยะเวลา ถ้าแก้ไขได้เร็วมากที่สุดเท่าไหรก็เป็นประโยชน์มากเท่านั้น เพราะหลายเรื่องคงรอสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ไม่ได้แล้ว สำหรับแนวทางการพิจารณาการแก้ไขควรตั้งประเด็น 3 เรื่องคือ 1.สิทธิประโยชน์ในรัฐธรรมนูญที่ควรได้รับการแก้ไข เมื่อนำรัฐธรรมนูญ 60 เทียบกับปี 40 และ 50 เห็นชัดว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันด้อยกว่ามาก ดังนั้นหากประเด็นไหนด้อยกว่าก็กลับไปใช้เนื้อหาของรัฐธรรมนูญในอดีตแทน 2.ระบบการเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม หลายคนอึดอัดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการคำนวนจำนวนส.ส.พึงมี และ 3.มาตรา 256 หลักเกณฑ์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญมาครั้งนี้แก้ยากที่สุดเหมือนไม่อยากให้มีการแก้ไข
"ถ้าเรามองลงลึกไปในมาตรา 256 แทนที่ฝ่ายเสียงข้างมากจะเป็นฝ่ายกำหนดตามแนวทางประชาธิปไตย แต่กลายเป็นว่าฝ่ายข้างน้อยเป็นฝ่ายกำหนด อย่างนี้เราจะเรียกว่าประชาธิปไตยได้อย่างไร ดังนั้น เรื่องมาตรา 256 เพียงแต่นำเอารัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับแรกว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาพิจารณาแล้วกลับมาใช้หลักการเดิม คือ เสียงข้างมาก สองในสาม หรือ สามในห้าของสมาชิกทั้งสองสภารวมกัน และถ้าเราเอากรอบทั้งสามนี้เป็นตัวตั้ง ผมมั่นใจว่าคณะกรรมาธิการจะใช้เวลาการทำงานไม่ถึง 120 วัน เพราะสังคมว้าเหว่ คิดว่าเราทำงานซื้อเวลากันไปวันๆ ความขัดแย้งน่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงควรเร่งดำเนินการและไม่ควรละเลย" นายบัญญัติ กล่าว
ทั้งนี้ภายหลังนายบัญญัติได้แสดงความคิดเห็นได้มีกรรมาธิการวิสามัญในซีกฝ่ายค้านอภิปรายสนับสนุน เช่น นายชัยเกษม นิติสิริ กรรมาธิการวิสามัญสัดส่วนพรรคเพื่อไทย ระบุว่า สิ่งที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน คือ การแก้ไขบทบัญญัติมาตรา 255 และ 256 เพราะถ้าแก้ไขตรงนี้ไม่สำเร็จก็จะเดินหน้าต่อไปไม่ได้ ส่วนเรื่องการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องระยะยาว
นายยงยุทธ ติยะไพรัช กรรมาธิการวิสามัญสัดส่วนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การรณรงค์เรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเวลานี้เป็นบรรยากาศของการเลือกข้างและระบบไอโอ (การปฏิบัติเชิงข่าวสาร) ที่ซับซ้อนมาก ไม่เหมือนกับบรรยากาศตอนเรียกร้องให้มีการทำรัฐธรรมนูญพ.ศ.2540 โดยเฉพาะมาตรา 256 ที่ต้องใช้เสียงข้างมากและเสียงของส.ว.มารวมกัน และทำประชามติ ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งทุกขั้นตอนมีหลุมพรางเต็มไปหมด ดังนั้น เชื่อว่าการสร้างบรรยากาศที่เอื้อให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องสำคัญ
นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 60 บรรลุวัตถุประสงค์เรื่องการสืบทอดอำนาจแล้ว คนที่ครองอำนาจอยู่ปัจจุบันย่อมไม่ยอมให้แก้หรือถ้าให้แก้ไขก็จะได้แก้ไขเพียงเล็กน้อย ขณะที่ อีกฝ่ายมีความต้องการให้แก้เล็กน้อย อีกฝ่ายก็อยากแก้ไขใหญ่ แต่รัฐธรรมนูญก็ปิดโอกาสในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเปลี่ยนผ่านจากรัฐประหารมาเป็นประชาธิปไตยอย่างลาตินอเมริกาใต้ ตอนแรกก็มีการต่อสู้ระหว่างสองฝ่าย แต่สุดท้ายก็สามารถเปลี่ยนผ่านได้ด้วยการเจรจาโดยทหารตัดสินใจออกจากอำนาจ หรือพม่าที่ถูกดดันจากต่างชาติ สุดท้ายก็ยอมลงจากอำนาจและสามารถพัฒนาได้
นายปิยบุตร กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อให้กลับไปใช้ระบบเสียงข้างมากปกติ หรือตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แต่ทั้งสองวิธีการนี้ส่วนเชื่อว่าผู้มีอำนาจไม่มีทางยอม เวลานี้องค์ความรู้การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีมากแล้ว จึงคิดว่าเรื่องการศึกษาองค์ความรู้ใช้เวลาไม่นาน เหลือเพียงแต่เจตจำนงของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมว่าจะตัดสินใจอย่างไร ถ้านายกฯตัดสินใจเมื่อไหรทุกอย่างก็พร้อมหมด
"เรามีเวลา 120 วัน หากจบ 120 วันแล้วไม่ได้อะไรเลยย่อมถูกสังคมตำหนิแน่นอน อย่างน้อยที่สุดคณะกรรมาธิการต้องมีความเห็นกระบวนการแก้ไขควรมีวิธีอย่างไร" นายปิยบุตร กล่าว
ด้าน นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญไม่ได้มีหน้าที่ไปศึกษารัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา แต่เป็นการศึกษาในภาพรวม และเสนอเป็นกรอบความคิดเห็นต่อที่ประชุมสภาฯต่อไป แต่มั่นใจว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญฯพิจารณาเสร็จทันกรอบ 120 วันแน่นอน
ขณะที่ นายอุดม รัฐอมฤต กรรมาธิการวิสามัญฯสัดส่วนคณะรัฐมนตรีและอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชี้แจงว่า เจตนารมย์ของ มาตรา 256 ก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญ 60 มีความขัดแย้งแล้ว และคนที่นั่งมาทำงานตรงนี้ก็ด้วยเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ 60 สำหรับบทบัญญัติมาตรา 256 ที่มีความซับซ้อนในเรื่องการกำหนดให้มีจำนวนเสียงส.ว.ในการให้ความเห็นชอบด้วยนั้นคิดว่าถ้าตัดเรื่องที่มาของส.ว. 250 คน ความซับซ้อนที่ว่านั้นจะลดน้อยลงไป สำหรับเจตนารมณ์ของมาตรา 256 มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้ประชาชนเห็นว่ารัฐธรรมนูญถ้าจะถูกแก้ไขก็ต้องมาจากการที่เห็นว่าสมควรต้องแก้ไขจริงๆ โดยให้เสียงของทั้งสองสภาเห็นพ้องกัน ส่วนจะแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไรควรต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และให้ทุกฝ่ายยอมรับได้