เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 เว็บไซต์องสถานทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศได้เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ในหัวข้อ “จีนเพิ่มปล่อยน้ำจากแม่น้ำล้านช้าง” โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า ตั้งแต่ปีค.ศ. 2019 (2562) เป็นต้นมา น้ำฝนที่ตกลงมาในลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงได้ลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลที่มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ทำให้เกิดสถานการณ์ภัยแล้งอย่างรุนแรงในประเทศจีนและอีกหลายประเทศลุ่มแม่น้ำโขง สำหรับแม่น้ำล้านช้างในประเทศจีน ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาโดยเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ ระดับ 728 มิลลิเมตร ลดลง 34 % จากปีปกติ นับจนถึงวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 2020 ในมณฑลยูนนานของประเทศจีน น้ำแห้งในแม่น้ำ 15 สายและเขื่อน 43 แห่ง พื้นที่เกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งรวมแล้วเป็น 1.07 ล้านหมู่ (ประมาณ 4.5แสนไร่) ประชาชน 2.9 แสนคนและสัตว์เลี้ยงตัวใหญ่ได้ประสบปัญหาในเรื่องน้ำดื่ม ระดับน้ำในเขื่อนต่าง ๆ ที่อยู่ในต้นน้ำเป็นระดับน้ำที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในประวัติศาสตร์ ถ้าสถานการณ์ภัยแล้งยืดเยื้อต่อไป มณฑลยูนนานก็จะเผชิญกับสถานการณ์ร้ายแรงที่ไม่มีน้ำใช้สอย ข่าวประชาสัมพันธ์ของสถานเอกอัคราชฑูตจีน ระบุอีกว่า ฝ่ายจีนได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการรักษาปริมาณน้ำที่ปล่อยจากแม่น้ำล้านช้างอย่างชอบด้วยเหตุผล เมื่อคำนึงถึงความปรารถนาของฝ่ายไทย พร้อมกับสถานการณ์ภัยแล้งอย่างรุนแรงในลุ่มแม่น้ำโขง ฝ่ายจีนตัดสินใจจะเพิ่มปล่อยน้ำลงจากแม่น้ำล้านช้างตั้ งแต่วันที่ 24 มกราคม จากปริมาณ 850 ลบ.ม.ต่อวินาทีเพิ่มเป็น 1,000 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อเป็นการตอบรับความต้องการอย่างเร่งด่วนของประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ ลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งครั้งนี้ที่ฝ่ายจีนได้เพิ่มปล่อยน้ำอย่างเป็นพิเศษอีกครั้ง ในขณะที่จีนเองกำลังเผชิญกับภัยแล้งอย่างร้ายแรง ก็เป็นการดำเนินการพิเศษเท่าที่จะทำได้ เมื่อคำนึงถึงมิตรภาพจีน-ไทยที่เป็นครอบครัวเดียวกัน และขจัดอุปสรรคของตนเองอย่างสุดความสามารถ ปัจจุบันนี้ สถานการณ์ภัยแล้งในลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงยังต่อเนื่องกันอยู่ ฝ่ายจีนยินดีที่จะร่วมกับประเทศต่าง ๆในลุ่มแม่น้ำโขง เพิ่มการแบ่งปันข้อมูลข่าวสารด้านทรัพยากรน้ำ กระชับความร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจในการฟันฝ่าอุปสรรคที่ร่วมเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ทางด้านนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ และเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหลัดลุ่มน้ำโขง ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบันจีนได้กักน้ำไว้แล้วจำนวน 12 เขื่อน และได้ทำการปิด-เปิดเขื่อน ตามประโยชน์ของจีนเองโดยเฉพาะเพื่อการเดินเรือพาณิชย์-ค้าขาย แต่กลับมีการประชาสัมพันธ์ว่าเป็นการช่วยเหลือคนปลายน้ำ ปัจจุบันแม่น้ำโขงเปลี่ยนไปอย่างมาก ด้วยสาเหตุหลักคือ เขื่อนบนแม่น้ำโขง “หยุดสร้างความชอบธรรมโดยอ้างแต่กรณีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้แล้ว สิ่งที่ต้องทำคือ จีนต้องยอมรับว่าปัญหาเรื่องน้ำโขง มันเกิดขึ้นจากเขื่อน ไม่ใช่สภาพอากาศ การแก้ไขปัญหามันต้องเป็นหลักการร่วมกัน ไม่ใช่มาแก้ไขช่วงๆ ไปอย่างนี้ และมาอ้างเรื่องบุญคุณกับคนท้ายน้ำ ซึ่งไม่เป็นความจริง” นายนิวัฒน์ กล่าว นางสาวส.รัตนมณี พลกล้า มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน และทนายความในคดีศาลปกครองเกี่ยวกับเขื่อนแม่น้ำโขง กล่าวว่า กระบวนการปล่อยน้ำของเขื่อนจากจีน ถือเป็นหน้าที่ที่จีนต้องทำ เพราะมีหลักการใช้น้ำร่วมกัน ทั้งในกฎหมายสากลและท้องถิ่น คือห้ามประเทศต้นน้ำเก็บกักน้ำ หรือหากทำต้องเท่าที่จำเป็นแต่ต้องไม่ให้ท้ายน้ำเดือดร้อน การปล่อยน้ำจึงเป็นหน้าที่ไม่ใช่การอ้างถึงบุญคุณแต่อย่างใด นายมนตรี จันทวงศ์ ผู้ประสานงานกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง กล่าวว่า ปัจจุบันไม่มีข้อมูลแท้จริงของปริมาณการกักเก็บน้ำของเขื่อนจีนทั้งหมด ว่ามีปริมาณน้ำและจำนวนคนที่พึ่งพาปริมาณน้ำจากเขื่อนมากเท่าไหร่ ช่วงฤดูกาลนี้นับเป็นช่วงการผลิตไฟฟ้าอยู่แล้ว การปล่อยน้ำของเขื่อนตอนบนในประกาศนี้คือ การผลิตไฟฟ้า โดยปกติอย่างไรก็ต้องปล่อยน้ำออกมาอยู่แล้ว ซึ่งแบบแผนนี้เกิดขึ้นมานับสิบปีแล้วและได้สร้างการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงตอนล่างอย่างหนัก ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อปี 2559 รัฐบาลจีนประกาศจัดตั้งกลไกความร่วมมือใหม่เรียกว่า ความร่วมมือแม่น้ำลานช้าง-แม่โขง (LMC) ระหว่างจีนและประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง และในปีเดียวกัน รัฐบาลจีนก็ได้ประกาศปล่อยน้ำออกจากเขื่อนจิงหง ช่วงวันที่ 15 มีนาคม -15 พฤษภาคม 2559 เพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์แล้งในประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ซึ่งได้ทำให้เกิดผลกระทบน้ำท่วมต่อพื้นที่เกษตรริมฝั่งโขง และพื้นที่หาดทรายเพื่อการท่องเที่ยวอย่างหนักของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขงในเขตประเทศไทย ต่อมาในปี 2562 สถานเอกอัคราชฑูตจีน ก็ได้ออกแถลงการณ์กรณีสื่อมวลชนบางสื่อได้รายงานข่าวเกี่ยวกับปัญหาน้ำแม่น้ำโขง ด้วยคำวิพากษ์วิจารณ์จีนอันเป็นเท็จ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลข่าวสารเหล่านั้น ไม่มีหลักฐานและไม่ตรงกับข้อเท็จจริง โดยมองข้ามความพยายามของแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องซึ่งรวมถึงจีนและไทยในการผลักดันความร่วมมือในด้านทรัพยากรน้ำแม่น้ำโขง เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้กับประชาชนในภูมิภาค ทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจที่ผิดเพี้ยน ซึ่งได้ทำลายบรรยากาศความร่วมมืออันดีในอนุภูมิภาคฯ โดยอ้างถึง การอนุรักษ์นิเวศและสิ่งแวดล้อมแม่น้ำโขงด้วย“แผนโครงการแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงสีเขียวไร้มลภาวะ” และ “แผนปฏิบัติการความร่วมมือด่านทรัพยากรน้ำระยะ 5 ปี” และการบริหารจัดการเขื่อนขั้นบันไดบนแม่น้ำลานช้างที่เน้น “ปรับลดน้ำท่วม เพิ่มน้ำหน้าแล้ง” และใช้วาทกรรม “ดื่มน้ำแม่น้ำสายเดียวกัน ร่วมชะตากรรมแบ่งปัน” ขณะที่เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ก็ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศและวิถีชีวิตของผู้คนริมฝั่งโขงใน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงของประเทศไทย และเรียกร้องกลไกการแก้ไขปัญหาและมีส่วนร่วมจากประชาชนในการบริหารจัดการลุ่มน้ำโขงอย่างแท้จริง และมีการเสนอนัดหมายเพื่อหารือและ และแลกเปลี่ยนหาแนวทางการแก้ไขปัญหาแม่น้ำโขง การจัดการทรัพยากรน้ำร่วมกัน เพื่อให้เกิดความชัดเจน ก่อนที่ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำโขงจะรุนแรงมากไปกว่านี้ แต่ที่ผ่านมาไม่มีผลแต่อย่างใด