ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล สถานีรถไฟเมืองคง นครราชสีมา พ.ศ. 2507 ตอนบ่ายวันนั้นแดดจ้าร้อนจัด แต่ก็ยังร้อนน้อยกว่าไอน้ำที่พวยพุ่งออกมาจากปล่องควันที่หัวรถจักร ชาวบ้านเรียกว่ารถแม่ค้าบ้าง รถหวานเย็นบ้าง เพราะผู้โดยสารส่วนหนึ่งเป็นแม่ค้าจากชุมชนจากสถานีรายทาง ที่ขึ้นรถเข้าโคราชไปหาซื้อข้าวของมาขาย และด้วยการวิ่งแล้วจอดทุกสถานี ไปเรื่อยๆ ไม่ได้รีบเร่งหรือเคร่งครัดต่อเวลาออกรถ จึงเหมือนรถขายไอติมหวานเย็นที่เร่ขายไปเรื่อยๆ พ่อปลุกผมให้ตื่นขึ้น บอกว่าถึงเมืองคงแล้ว ผมงัวเงียมองออกไปทางแสงแดดที่ส่องแยงเข้ามาทางหน้าต่างรถไฟ สักครู่ ภาพของสถานีรถไฟเล็กๆ ก็ปรากฏต่อสายตาของผม มันเป็นสิ่งก่อสร้างชั้นเดียวเล็กๆ ฝากระดานสีมอๆ หลังคากระเบื้องสีแดงๆ อมขี้ฝุ่นสีเทาๆ ชายวัยกลางคนใส่ชุดสีกากีสวมหมวกทะมัดทะแมง ยืนโบกธงสีเขียวรับรถไฟที่เคลื่อนตัวช้าๆ เปิดหวูดเสียงดังหลายครั้ง ก่อนที่จะจอดนิ่ง แม่ค้า 3-4 คน หาบคอนตะกร้าลงไปอย่าเร่งรีบ พ่อนำลงบันไดไปก่อน หิ้วลังกระดาษสองใบเต็มมือ ผมค่อยๆ เดินตามลงไป กับถุงกระดาษขนาดย่อมหนึ่งใบใส่เสื้อผ้าของตัวเองไม่กี่ชุด “โอ๊ย บักหล่า” คือคำพูดคำแรกที่ผมได้ยิน เป็นคำพูดของหญิงร่างเล็กสมส่วน วัยสักห้าสิบเศษ ผิวเหลืองไม่คล้ำมากนัก ผมขาวแซมดำตัดสั้นแบบที่เรียกว่าทรงดอกกระทุ่ม ข้างๆ มีชายอายุสัก 30 และเด็กหญิงอายุสัก 14 ปียืนยิ้มๆ พ่อบอกว่านี่คือย่า ลุงพา และอาแดง ก่อนที่ผมจะได้ไหว้ใคร ย่าก็ก้มลงมากอด ผมจำได้แต่ว่าเป็นเสียงงึมงำให้ศีลให้พรในภาษาอีสาน เราเดินออกจากสถานีมาที่ตลาด ถนนเส้นเดียวที่ตรงมาจากสถานีเป็นดินทรายอัดหินคลุกกว้างสักสองวา ด้านซ้ายมีตึกแถวชั้นเดียวขนาด 8 ห้องอยู่ด้านหนึ่ง เป็นร้านค้าของชำ ปุ๋ย จอบเสียม ข้าวสาร ขนม ของแห้ง ของใช้ในครัว ผาลไถ เคียวเกี่ยวข้าว และแหกับสวิงจับปลา เรียงกันไปตามลำดับ พ้นตึกแถวนี้ถนนก็เลี้ยวไปทางซ้าย ผ่านที่ว่าการอำเภอคง ไปสิ้นสุดที่โรงเรียนเมืองคง ด้านขวาของถนนเป็นร่องน้ำตื้นๆ ขนาดกว้างสักสามวา ข้ามร่องน้ำนี้ไปเป็นลานโล่งขนานไปกับรางรถไฟ มีต้นหญ้าสั้นๆ ขึ้นอยู่ทั่วไป มีม้าสีดำแดงรูปร่างสวยงามเดินเล็มหญ้าอยู่สัก 10 ตัว ว่ากันว่าเป็นม้าพันธุ์ดีที่เลี้ยงเอาไปแข่งที่สนามในโคราช ขอนแก่น และกรุงเทพฯ นอกจากฝูงม้าที่ดูเจริญหูเจริญตาแล้ว ทัศนียภาพรอบๆ นอกนั้นเรียกว่าดูซอมซ่อมาก ลุงพาเอาเกวียนมารับ พ่อบอกว่าจากตัวอำเภอไปหมู่บ้านตามถนนนี้ ถ้าเดินเท้าจะต้องใช้เวลาราว 2 ชั่วโมงเศษ แต่ถ้าใช้เกวียนก็ไม่ถึงชั่วโมง แล้วแต่ฤดูกาล ถ้าหน้าฝนอย่างนี้ก็อาจจะใช้เวลาเป็นชั่วโมง เพราะหลุมบ่อโคลนตมมีมาก ต้องคอยวกหลบ วิ่งไปตรงๆ ไม่ได้ แต่ถ้าเดินเท้าก็อาจจะใช้เวลาถึงสามชั่วโมง ด้วยอุปสรรคจากหลุมบ่อดังกล่าว ต้องเดินลัดเลาะไปตามคันนา ฟังดูแล้วก็น่าเหน็ดเหนื่อยมาก บนเกวียนนอกจากพวกเราห้าคนแล้ว ก็มีข้าวของที่ลุงกับย่ามาหาซื้อไปใช้ที่บ้าน มีหัวผาลหล่อมาใหม่ๆ สีดำมะเมื่อม 1 หัว แหกับเบ็ดและด้ายไนลอนจำนวนหนึ่ง น้ำมันก๊าด 1 ปี๊บ เมล็ดผัก 4 กระป๋อง ขนม 2-3 อย่าง ผงชูรส ปลากระป๋องและปลาทูเค็มอีกเล็กน้อย เหมือนกับที่พ่อซื้อมาจากโคราช เพราะเป็นอาหารที่หายากและเก็บไว้กินได้นาน เรามาถึงหมู่บ้านตอนตะวันกำลังจะลับยอดไม้พอดี เราเห็นฝูงควายหลายฝูงเดินมาจากมุมต่างๆ ในท้องนา ลุงพาบอกว่าคนทำนากำลังพาควายกลับบ้าน เดี๋ยวก็ต้องรีบทำอาหารเย็นก่อนที่ตะวันจะตกดิน พอทานอาหารเสร็จก็จะมืดค่ำพอดี คนที่นี่นอนเร็ว ทุกหมู่บ้านอยู่นอกอำเภอยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ส่วนใหญ่ใช้ตะเกียงกระป๋องใส่น้ำมันก๊าด ที่แปลกคือนอนไม่ต้องกางมุ้ง ต่างจากกรุงเทพฯที่ต้องกางมุ้งทุกคืน และตื่นเช้ามาต้องเก็บให้เรียบร้อย พร้อมกับพับผ้าห่มและฟูกที่นอนเอาไปเก็บให้เป็นที่เป็นทาง ซึ่งผมเองขี้เกียจเป็นที่สุด ถึงบ้านย่าให้ผมไปอาบน้ำ ลุงพากับอาแดงแยกข้าวของไปให้บ้านอาสุวรรณอีกหลังหนึ่ง พร้อมกับข้าวของที่พ่อซื้อมาฝากจากโคราช ลุงพามีลูก 3 คน อาสุวรรณเพิ่งแต่งงาน อาแดงนั้นยังเด็กอยู่ ในบริเวณพื้นที่ครึ่งไร่ มีบ้านอยู่ 3 หลัง คือบ้านปู่กับย่าที่อยู่กับอาแดงตรงด้านหน้า ถัดเข้าไปด้านในตรงกลางเป็นบ้านลุงพา และข้างในสุดที่หลังบ้านเป็นบ้านอาสุวรรณ ผมอาบน้ำเสร็จปู่ก็กลับมาถึงบ้าน เอาควายเข้าคอกและอาบน้ำแล้วก็มานั่งพูดคุยกับพ่อและลุงพา พ่อซื้อเหล้าขาวมา 2 ขวด คงนั่งกินกันถึงดึก เพราะผมหลับไปก่อนหลังจากกินข้าวอิ่มได้ไม่นาน จำได้ว่าเป็นอาหารค่ำมื้อนั้นเป็นต้มปลากระป๋องกับน้ำพริกป่นปลาดุก ส่วนผมมีอาหารพิเศษคือไข่เจียวที่หอมกลิ่นไหม้ เพราะใส่น้ำมันหมูน้อยมาก เหมือนคั่วไข่ใส่หัวหอมมากกว่า แต่ก็อร่อยมาก และเป็นมื้อแรกที่บ้านหนองม่วงที่ผมจดจำไม่รู้ลืม คืนนั้นผมหลับสนิทไปนานเท่าไหร่ไม่รู้ มารู้สึกตัวก็กลางดึก ซึ่งพอลืมตาขึ้นมาก็มองเห็นดวงจันทร์เสี้ยวใหญ่ลอยอยู่เหนือเงายอดไม้ที่นอกหน้าต่าง ผมนอนกับพ่อที่หลับกรนอยู่ใกล้ๆ ย่ากับอาแดงนอนในห้องที่มีอยู่เพียงห้องเดียวของเรือนหลังนี้ ส่วนปู่นอนอยู่หน้าห้องนอนของย่ากับอาแดง เรือนหลังนี้พ่อเป็นสร้างขึ้นเมื่อตอนที่พ่อพาแม่มาอยู่ด้วยเมื่อ 7 ปีก่อน เป็นบ้านที่ทันสมัยที่สุดในหมู่บ้านในเวลานั้น เพราะเป็นบ้านชั้นเดียวใต้ถุนเตี้ยๆ แม้จะหลังเล็กๆ ขนาดสัก 5 คูณ 7 เมตร แต่ฝาบ้านก็เป็นไม้กระดานวางแนวอย่างเป็นระเบียบ หลังคาสังกะสี ในขณะที่บ้านอื่นๆ เป็นบ้านใต้ถุนสูง ฝาไม้ไผ่ขัดแตะ และหลังคามุงหญ้าคา พ่อใช้เงินในการสร้างบ้านนี้ 5,000 กว่าบาท (ตอนนั้นก๋วยเตี๋ยวในกรุงเทพฯชามละ 1 บาท และทองคำราคาบาทละ 800 บาท) เพราะวัสดุทุกอย่างซื้อมาจากอำเภอบัวใหญ่ อำเภอที่เป็นชุมทางรถไฟ และมีความเจริญดีกว่าทุกอำเภอรอบๆ นั้น บ้านหนองม่วง อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา ใน พ.ศ. นั้น ควรได้ชื่อว่า “บ้านป่าเมืองดง”