เป็นหนึ่งในโรคที่มาแบบฉับพลันทันใด สร้างความทรมาน กับอาการปวดจากโรคเกาต์ Oryor.com ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุ “โรคเกาต์เป็นโรคข้อที่เกิดจากภาวะกรดยูริกในเลือดสูง จนเกิดการตกตะกอนของกรดยูริกในข้อหรือเนื้อเยื่อรอบๆ ข้อทำให้เกิดโรคข้ออักเสบ บวม และแดง ซึ่งหากได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมและต่อเนื่องโรคนี้สามารถรักษาหายได้ ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเกาต์ ได้แก่ ภาวะอ้วน, พันธุกรรม, ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ และยาแอสไพริน, โรคความดันโลหิตสูง และอาหารที่มีกรดยูริกสูง ดังนั้น ผู้ป่วยโรคเกาต์จึงควรรับประทานยาตามแพทย์สั่ง ไปพบแพทย์ตามนัด ดื่มน้ำมากๆ และหลีกเลี่ยงหรือจำกัดอาหารที่มีพิวรีนสูง (Purine) เนื่องจากพิวรีนสามารถเปลี่ยนเป็นกรดยูริกได้ภายในร่างกาย เช่น 1.เหล้า 2.เบียร์ 3.เครื่องในสัตว์ 4.อาหารทะเล 5.อาหารประเภทที่มีไขมันสูง 6.สัตว์ปีก 7.สัตว์เนื้อแดง 8.ยอดผัก เช่น หน่อไม้ ชะอม กระถิน ยอดผักคะน้า ยอดผักหวาน ยอดผักบุ้งจีน ยอดฟักทอง ยอดตำลึง 9.เมล็ดพืช ธัญพืชชนิดต่างๆ 10.กะปิ 11.ถั่วดำ ถั่วแดง ส่วนอาหารที่มีพิวรีนต่ำ สามารถบริโภคได้ เช่น ผักเกือบทุกชนิด (ยกเว้นยอดผัก) ผลไม้ ไข่ นม เนยแข็ง เมล็ดข้าวขัดสี แป้ง (ยกเว้นแป้งสาลี) จะเห็นได้ว่าหากเลือกรับประทานอาหาร จะสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเกาต์ได้ แต่อย่างไรก็ตามอาหารก็เป็นเพียงปัจจัยเล็กๆ ที่ทำให้เกิดโรคเกาต์ ทางที่ดีแนะนำให้ไปตรวจร่างกายประจำปี และหากพบว่าตัวเองมีอาการที่อาจแสดงว่าเป็นโรคเกาต์ แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อที่จะได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง”