ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง : พาไปชมงานบุญคูณลาน ตำนานข้าวอินทรีย์ ของชาวกุดชุม จ.ยโสธร ช่วงนี้ภาคอีสานมีการจัดงานบุญคูณลานหรือการสู่ขวัญข้าวของแต่ละท้องถิ่น เป็นครั้งแรกที่ได้ไปชมขบวนแห่งานบุญคูณลานของชาวกุดชุม จัดขึ้นที่หน้าลานอำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รู้สึกตื่นตาทีเดียวบริเวณลานอุดมไปด้วยรวงข้าว ที่แต่ละตำบล ชุมชนนำรวงข้าวมารวบเป็นกำประดับประดาตกแต่งในหลากหลายรูปแบบกิจกรรมการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีบุญคูณลาน ตำนานข้าวอินทรีย์ มีทั้งรูปพลับพลาปราสาทรวงข้าวนับล้านกำตั้งโดดเด่นกลางลาน พร้อมขบวนเซิ้งนางรำนับร้อยชีวิตจากหมู่บ้านต่างๆ แต่งกายด้วยผ้าทอพื้นเมือง ขบวนแสดงผีตาแฮก ขบวนบูชาข้าว ขบวนกุ้มข้าวใหญ่ ขบวนสู่ขวัญข้าว ขบวนพระแม่โพสพ ขบวนตำนานข้าวอินทรีย์ ขบวนเกวียนประดับตกแต่งด้วยข้าวอินทรีย์ นำฟางข้าวมาทำรูปควาย ฯลฯ “ปีนี้จัดยิ่งใหญ่กว่าทุกปีที่ผ่านมา” ชาวบ้านกุดชุมมาร่วมชมถ่ายทอดความรู้สึก เห็นได้ชาวกุดชุมมาร่วมงานกันอย่างล้นหลามบริเวณลาน บุญคูณลาน “บุญกุ้มข้าวใหญ่” หรือ “บุญคูณข้าว” เป็นงานประเพณีสู่ขวัญข้าวของชาวอีสาน จัดขึ้นในเดือนยี่ตามปฏิทินฮีต12 ของอีสาน เรียกอีกอย่างหนึ่งว่างานบุญเดือนยี่ คำว่า “คูณ” หมายถึง เพิ่ม หรือทำให้มากขึ้น ส่วนคำว่า “ลาน” คือสถานที่กว้างๆ สำหรับนวดข้าว เอาข้าวที่เก็บเกี่ยวแล้วมากองให้สูงขึ้น วันที่จะขนข้าวขึ้นเล้า(ฉางข้าว) จะมากำหนดเอาวันใดวันหนึ่งสำหรับทำบุญคูณลาน หรือเรียกอีกอย่างว่า ทำบุญขวัญข้าว เพื่อเป็นการเพิ่มความมั่งมีศรีสุขสืบไป มูลเหตุการทำบุญคูณลาน โดยถือเอาเรื่องเล่าในพระธรรมบทเป็นมูลเหตุว่า ครั้งศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า มีชายพี่น้องสองคนทำนาร่วมกัน พอข้าวออกรวงเป็นน้ำนม น้องชายอยากทำข้าวมธุปกยาสถวายพระสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน และได้ชวนพี่ชาย แต่ผู้พี่ไม่ทำ จึงตกลงแบ่งนากัน น้องชายได้เป็นเจ้าของที่นาแล้วก็ทำทานถึง 3 ครั้ง คือ ตอนที่ข้าวเป็นน้ำนม 1 ครั้ง ฟาดข้าว 1 ครั้ง และขนข้าวขึ้นยุ้งอีก 1 ครั้ง ในการถวายทานทุกครั้งปรารถนาจะเป็นพระอรหันต์ ครั้นถึงสมัยพระโคดมก็ได้เกิดเป็นพราหมณ์นามว่าอัญญาโกณฑัญญะ ได้ออกบวชเป็นปฐมสาวก แล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์ก่อนสาวกทั้งหลาย เป็นปฐมสาวกองค์แรก ส่วนพี่ชายถวายข้าวเพียงครั้งเดียว คือในเวลานวดข้าวเสร็จแล้ว และได้ตั้งปณิธานขอสำเร็จเป็นพระอริยบุคคล ต่อมาได้เกิดเป็นสภัททปริพาชก ได้บวชในศาสนาของพระโคดม แต่ไม่มีโอกาสเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าโคดม คงเพียงได้กราบบังคมทูลถามข้อสงสัยในขณะที่พระพุทธเจ้าใกล้ปรินิพพาน เมื่อได้ฟังดำรัสแล้วก็สำเร็จเป็นพระอนาคา และเป็นอริยสงฆ์องค์สุดท้ายในสมัยพุทธกาล ทั้งนี้เพราะอานิสงส์แห่งการให้ข้าวน้อยกว่าน้องชาย ชาวนาทั้งหลายเมื่อได้ทราบอานิสงส์เช่นนี้ จึงนิยมทำบุญให้ทานข้าวในนา ถือเป็นประเพณีของชาวอีสานสืบมา พิธีทำบุญคูณลาน ในตอนเย็นนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ กลางคืนอาจมีการคบงันบ้าง ตอนเข้าถวายภัตตาหารบิณฑบาตร เทศนาฉลองสู่ขวัญลาน เลี้ยงอาหารแก่ผู้ไปร่วมพิธี พระสงฆ์อนุโมทนาประพรมน้ำมนต์ เอาน้ำมนต์ไประข้าว วัว ควาย เชื่อว่าเข้าของจะอยู่เย็นเป็นสุข ฝนจะตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าจะงอกงามและได้ผลดีในปีต่อไป เมื่อเสร็จพิธีจึงขนข้าวใส่ยุ้งและเชิญขวัญข้าว คือเชิญเจ้าแม่โพสพไปยังยุ้งข้าว การทำบุญคูณลานนี้ทำขึ้นเฉพาะนาใครนามัน ทำส่วนตัว แต่ถ้าทำส่วนรวมเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บุญคุ้ม หรือ บุญกุ้มข้าวใหญ่ คนทั้งหมู่บ้านมาทำบุญร่วมกัน โดยมีการปลูกปะรำขึ้น มีการนำดอกไม้ธูปเทียนมารวมกัน มารับศีลฟังธรรมถวายอาหารพระสงฆ์ อันนี้เรียกว่า บุญคุ้ม แต่ถ้าเป็นบุญคุ้มข้าวใหญ่ มีการนำข้าวเปลือกมารวมกัน ทำพิธีเหมือนกัน แต่ต่างกันที่สถานที่ ซึ่งต้องใช้ศาลาโรงธรรมหรือศาลากลางบ้าน (ข้อมูล สำนักวัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด) งานบุญคูณลาน ตำนานข้าวอินทรีย์ที่ลานหน้าอำเภอกุดชุม จ.ยโสธร แต่ละตำบลแต่ละชุมชนมาร่วมกันในขบวนแห่บุญคูณลาน โดยกระทรวงวัฒนธรรมให้การส่งเสริมสืบทอดประเพณีท้องถิ่นให้ดำรงอยู่ ทั้งเป็นการสืบสานภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอันเป็นหัวใจของชุมชน และวิถีชีวิตของชาวนาอีสาน ชาวกุดชุมสืบสานงานบุญคูณลานตำนานข้าวอินทรีย์ ชมคลิป https://www.youtube.com/watch?v=MysxJXPy3pI