ส.ส.รบ.-ค้านเห็นพ้องชะลอใช้กม.ที่ดินสิ่งปลูกสร้าง หลังกมธ.กฎหมายส่งผลรายงานเข้าสภาฯ ชี้เอื้อประโยชน์นายทุนมากกว่าประชาชน เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2563 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ปัญหาและผลกระทบจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ตามที่สภาฯ มอบหมายให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาฯ ที่มีนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ เป็นประธานกมธ. พิจารณา ทั้งนี้ในสาระสำคัญ นายปิยบุตร แถลงผลการศึกษาตอนหนึ่งว่า จากการรับฟังความเห็นและคำชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่ากฎหมายดังกล่าวจะทำให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีรายได้ลดลง แม้จะงบประมาณจากรัฐบาลสนับสนุนเตรียมไว้ แต่กรณีที่อปท.​ขาดรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ย่อมมีผลกระทบทำให้รายได้ของท้องถิ่นลดลง ทั้งนี้จากผลการศึกษาขอให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ตราพระราชกำหนดชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อปรับปรุงเนื้อหา ให้มีความพร้อมให้มากกว่าปัจจุบัน ทั้งนี้กทมธ.ฯ ไม่มีจุดยืนจะไม่สนับสนุนการเก็บภาษี แต่การเก็บภาษีต้องมีหลักการที่ถูกต้อง และเกิดประโยชน์โดยไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติ ขณะที่นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ฐานะประธานอนุกมธ. การศึกษาการปฏิรูป ทบทวน และการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ในกมธ.ฯ ยุติธรรมฯ แถลงด้วยว่าจากการศึกษารายะเอียดพบว่าเมื่อบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวทำให้รายได้ของท้องถิ่นลดลง เช่น พื้นที่กทม.​รายได้ลดลง ปีละ 1,200 ล้านบาท หรือพื้นที่แหลมฉบัง รายได้ลดลงปีละ 200 ล้านบาท ทั้งนี้แม้รัฐบาลจะอุดหนุนงบประมาณให้ท้องถิ่น แต่พบว่ากว่าจะได้รับอนุมัติงบประมาณ จากกรรมการกระจายอำนาจ ทำให้ต้องรอ 1 ปี ซึ่งจะกระทบต่อแผนพัฒนาท้องถิ่น อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563 พบว่ามีการบังคับใช้พระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2563 โดยมีรายละเอียดสำคัญ​ คือ ลดภาษีอัตราร้อยละ 50 สำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ประเภท ห้องชุด ที่ดินที่ตั้งของโรงผลิตไฟฟ้า ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใช้เป็นเขื่อน หรือพื้นที่เกี่ยวกับเขื่อน และลดภาษีอัตรา ร้อยละ 90 สำหรับที่ดินสิ่งปลูกสร้างรอการขายของสถาบันการเงิน อาคารชุด ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างระหว่างพัฒนานิคมอุตสาหกรรม “กมธ.ฯ มีข้อสังเกตว่า การลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตาม พระราชกฤษฎีกา ทั้งนี้พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยังไม่บังคับใช้ เพราะได้ขยายเวลา ทำให้ให้ถึงเห็นความไม่พร้อม และสมบูรณ์ของกฎหมายหรือไม่ นอกจากนั้นปัญหาประเทศด้านเศรษฐกิจ และปัญหาภัยแล้ง ทำให้ครัวเรือนมีหนี้สินเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่ากฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกมมาไม่ถูกที่ ถูกเวลา และไม่สอดคล้องกับสถานการณ์” นายชวลิต แถลงรายละเอียด ทั้งนี้ในการพิจารณารายละเอียด มีส.ส.อภิปรายสนับสนุนรายงานของกมธ.ฯ โดยเฉพาะการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ควรบังคับใช้กฎหมายที่มีมิติหลากหลาย และประเมินให้รอบด้าน โดยเฉพาะรายได้ของประชาชน เศรษฐกิจในพื้นที่ร่วมด้วย ไม่ใช่มองเฉพาะราคาประเมินของที่ดินเท่านั้น โดยมีข้อเสนอเพิ่มเติมจาก ส.ส.ให้ยกเลิกกฎหมายฉบับดังกล่าวและยกร่างใหม่ อาทิ ความเห็นของนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปรายสนับสนุนให้ยกเลิกกฎหมายทั้งฉบับและงดเว้นการบังคับใช้ เนื่องจากเป็นความล้มเหลวของการออกกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทั้งนี้เนื้อหาของกฎหมายขัดหลักการของการจัดเก็บภาษีและสร้างความเหลื่อมล้ำ อาทิ บ้านหลังหลัก ไม่เกิน 50 ล้านบาท ไม่เสียภาษี เช่น คนรวย มีบ้าน 1 หลังราคาประเมิน 49.9 ล้านบาท ไม่เสียภาษี ขณะที่ตนฐานะชนชั้นกลาง บ้านชานเมือง 1.5 ล้านบาท เดินทางเข้าตัวเมืองทุกวันตัดสินใจต้องซื้อคอนโดเพื่ออาศัยเป็นหลังที่สอง ทำให้ต้องเสียภาษีบ้านหลังที่สอง เป็นต้น ทั้งนี้ควรให้สภาฯ เป็นผู้พิจารณากฎหมายฉบับดังกล่าว เช่นเดียวกับนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายโดยตั้งข้อสังเกตว่ากฎหมายภาษีที่ดินขาดความรอบคอบ และคล้ายกับตรากฎหมายโดยเจ้าของโรงงาน ดังนั้นต้องยกเลิกและจัดทำเนื้อหาใหม่เพื่อให้อปท. สามารถจัดเก็บรายได้ด้วยตนเอง ไม่ใช่ตัดตอน รวมถึงต้องคำนึงต่อประเด็นการลดความเหลื่อมล้ำ และความยุติธรรมในสังคมด้วย ส่วนนายชำนาญ จันทร์เรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายว่าเนื้อหาทำให้เกิดความได้เปรียบและเสียบเปรียบในบางพื้นที่ และสร้างภาระให้กับเจ้าหน้าที่ต่อการประเมินอัตราการเก็บภาษี เช่น กรณีของธุรกิจทำฟาร์มไก่ขนาดใหญ่ ที่ถูกตีความว่าเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ทำให้เสียภาษีในอัตราต่ำ เป็นต้น ทั้งนี้หลังจากที่สภาฯ ได้อภิปรายเสนอความเห็นนายศุภชัย โพธิสุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง กล่าวว่าจากการรับฟังการอภิปรายไม่มีส.ส. ไม่เห็นด้วยกับกมธ.ฯ ทั้งนี้เมื่อไม่มีผู้เห็นเป็นอื่นถือว่า สภาฯ ให้ความเห็นชอบกับรายงานของกมธ. และสภาฯ จะแนบข้อเสนอแนะของส.ส.​ให้กับ คณะรัฐมนตรี (ครม.) และองค์กรที่เกี่ยวข้องให้พิจารณาดำเนินการต่อไป.