ราคาข้าวที่ไม่เย้ายวนใจ ทำนาแล้วอาจขาดทุนได้ เกษตรกรส่วนหนึ่งจึงหันไปมองพืชเศรษฐกิจอย่างอื่น ยิ่งในบางพื้นที่ขาดแคลนน้ำสำหรับนาปรังก็ยิ่งทำให้ต้องขวนขวายหาทางออกมากขึ้น แทนการทำนาอย่างเดียวที่มองไม่เห็นฝั่งของรายได้เพียงพอเลี้ยงครอบครัว“ผมอยากทำถั่วลิสงแปลงใหญ่ทั้ง 1,250 ไร่เลย นาปรังไม่ทำแล้ว ทำเฉพาะนาปีอย่างเดียว” นายณัฐกิตติ์ กองรักษา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโพ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ เปิดใจพูดถึงแนวทางเกษตรแปลงใหญ่ประชารัฐ ซึ่งเดิมทีเกษตรกรทำนา ทั้งนาปีและนาปรัง ในพื้นที่จัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ถึงแม้น้ำจะดี แต่เมื่อทำนาปรัง รายได้เฉลี่ยแล้วก็ไม่น่าพอใจ เมื่อเทียบกับทุนและแรงที่ลงไป ทั้งในฐานะนายก อบต. ควบคู่ไปกับฐานะเกษตรกรอีกส่วนหนึ่งด้วย ทำให้เขาต้องคิดหาทางช่วยเหลือตนเอง และเกษตรกรในพื้นที่ และสบโอกาสเมื่อมีโครงการเกษตรแปลงใหญ่ประชารัฐที่นำเอาหน่วยงาน 3 ประสานเข้าร่วม ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร “คุณสิริวิชญ กลิ่นภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน พาคณะของผมไปดูงานที่ศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร ได้มีโอกาสคุยกับตัวแทนของบริษัทโรงงานแม่รวย ซึ่งผลิตถั่วลิสงสำเร็จรูปในชื่อโก๋แก่ ผมก็ตัดสินใจทันทีว่า จะทำ” นายณัฐกิตติ์เล่า โก๋แก่เองก็ไม่รอช้า เข้าพื้นที่จัดรูปที่ดิน ต.โพ อ.เมืองศรีสะเกษ ทันทีเช่นกันเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2559 นอกจากอธิบายรายละเอียดการเข้าร่วมโครงการแล้ว ยังรับสมัครในวันนั้นเลย เพื่อส่งเสริมเกษตรกรให้ผลิตในฤดูแล้ง“มันฉุกละหุกมาก เกษตรกรบางคนยังลังเลใจ แต่ผมประกาศว่า ใครไม่เข้าโครงการไม่เป็นไร นายก อบต. จะเข้าไปก่อน เกษตรกรรายอื่นเลยเฮตามกัน จากไม่กี่ไร่ก็เป็น 170 ไร่ ถือว่ามากแล้วกับการตัดสินใจอย่างรีบด่วน เพราะเข้าช่วงทำนาปรังกันแล้ว”เกษตรกรที่เอาด้วยกับโก๋แก่เริ่มปลูกถั่วลิสง ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2560 ไม่ถึง 1 เดือนดีด้วยซ้ำ กับที่โก๋แก่เข้ามารับสมัครสมาชิก อย่างไรก็ตาม โก๋แก่ก็สร้างจุดขายที่น่าสนใจอยู่หลายประการ อย่างน้อยที่สุด ต้นทุนการผลิต ที่คำนวณไว้ไร่ละ 3,850 บาท ซึ่งรวมเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมี สารกำจัดศัตรูพืช ยิปซั่มรองพื้นนั้น ไปหักลบเอาเมื่อซื้อขายผลผลิต เปรียบไปก็เหมือนการให้เดรดิตสินเชื่อ โดยโก๋แก่กำหนดราคารับซื้อไว้ที่กิโลกรัมละ 30 บาท และมีที่ปรึกษาทางวิชาการเกี่ยวกับกระบวนการปลูกถั่วลิสง ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านก็ปลูกแต่เป็นลักษณะไม่จริงจังนัก และทำไปตามสภาพไม่มีวิชาการกำกับแต่อย่างใดในพื้นที่ 170 ไร่นั้น มีทั้งพื้นที่จัดรูปที่ดินและพื้นที่นอกเขตจัดรูปที่อยู่บนที่ดอน “แต่ในปีหน้า ผมคิดว่าเราต้องเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าทำถั่วลิสงก็ต้องตัดนาปรังไปเลย ทำแต่นาปีอย่างเดียว” นายก อบต. กล่าว พร้อมทั้งแจงรายละเอียดที่ทำให้เขาตัดสินใจเปลี่ยนพืชที่ปลูกจากนาข้าวมาเป็นไร่ถั่วลิสง เพราะโก๋แก่รับประกันราคารับซื้อถั่วลิสง 30 บาท/กิโลกรัม หรือตันละ 30,000 บาท ผลผลิตเฉลี่ย จะได้ประมาณ 600-800 กิโลกรัม หักค่าลงทุนที่โก๋แก่จ่ายล่วงหน้าไร่ละ 3,850 บาท และค่าไถ ค่าหยอดเมล็ด และค่าดูแล “เขาบอกมีเหลือแน่ๆ 5,000 บาทต่อไร่ ในขณะข้าวเราได้ 2,000-3,000 บาท ค่าใช้จ่ายสูง แถมใช้น้ำมากกว่า มันไม่ไหว” ส่วนหนึ่งที่ทำให้ต้องตัดสินใจปลูกอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างถั่วลิสงกับข้าวนาปรัง เนื่องจากพืช 2 ชนิดต้องการน้ำแตกต่างกัน ข้าวต้องการน้ำมากกว่าถั่ว ดังนั้นเมื่อต้องส่งน้ำให้นาข้าวก็จะกระทบต่อไร่ถั่ว “ทุกวันนี้ก็ต้องควบคุมการให้น้ำถั่ว ไม่อย่างนั้นน้ำมากก็มีแต่ใบ ไม่ออกฝัก ถ้าทำถั่วอย่างเดียว เราสามารถคุมน้ำได้ทั้งแปลงใหญ่ทีเดียวเลย ผลผลิตน่าจะดีกว่าด้วยซ้ำ” ส่วนในพื้นที่ดอน เกษตรกรขุดบ่อน้ำตื้นและลงทุนติดตั้งสปริงเกลอร์ให้น้ำ หรือบางรายก็ใช้มือรด ซึ่งก็สามารถเจริญเติบโตได้ดี เพราะถั่วลิสงไม่ต้องการใช้น้ำมาก โดยมีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 120-130 วันเท่าๆ กับอายุนาปรัง “เป็นทางเลือกหนึ่งของเกษตรกร แทนการทำนาปรังอย่างเดียว” นายก อบต.โพกล่าว พื้นที่ ต.โพ อ.เมือง เป็นแปลงจัดรูปที่ดินแห่งแรกของ จ.ศรีสะเกษ โดยมีแหล่งน้ำสนับสนุนจากสถานีสูบด้วยไฟฟ้าห้วยสำราญ ซึ่งสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน กำลังดำเนินการขยายพื้นที่จัดรูปอีกแปลงประมาณ 2,000 ไร่ ที่อยู่ใกล้เคียงกันอยู่ในขณะนี้ โดยเริ่มรังวัดที่ดินของเกษตรกรเพื่อกำหนดเขตโครงการ และอาศัยสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้ากุดฮีเป็นแหล่งน้ำต้นทุน