ชั่วโมงนี้ ต้องบอกว่า หลายประเทศบนผืนพิภพกำลังต่อรบรณรงค์กับ “ขยะพลาสติก” กันอย่างขะมักเขม้นเข้มข้น ด้วยการดำเนินมาตรการต่างๆ อาทิเช่น เลิกการแจกถุงพลาสติกตามห้างร้านต่างๆ เป็นต้น เพื่อให้ “ขยะพลาสติก” มีปริมาณลดลงไปจากโลกเราให้ได้มากที่สุด อย่างช่วงเร็วๆ นี้ในภูมิภาคอาเซียนเรา ก็เป็น “อินโดนีเซีย” ที่ประกาศให้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวเป็นของต้องห้ามภายในเดือน มิ.ย. 2563 (ค.ศ. 2020) แบบห้างร้านต่างๆ ต้องปลอดต่อถุงพลาสติกชนิดนี้ หรือกระทั่ง ไทยแลนด์แดนสยาม ก็ได้ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ ให้บรรดาห้างสรรพสินค้า ร้านค้าสะดวกซื้อทั้งหลาย เลิกแจก “ถุงพลาสติก” หรือที่เรียกันติดปากว่า “ถุงก๊อบแก๊บ” สำหรับใส่สินค้าให้แก่ลูกค้า ซึ่งดีเดย์กันไปเมื่อวันที่ 1 ม.ค. ที่เพิ่งผ่านพ้นมา แต่ที่นับว่า เล่นใหญ่ แบบจัดชุดใหญ่ ไฟกะพริบ ชนิดมหาอำนาจชาติที่กล่าวอ้างว่า เจริญแล้ว พัฒนาแล้ว ก็ยังต้องอาย หลบชิดซ้ายไป นั้นก็คือ “จีนแผ่นดินใหญ่” เจ้าของฉายา “พญามังกร” นั่นเอง โดย “พญามังกร” ได้เริ่มต่อกรกับปัญหาขยะพลาสติก ด้วยการระดมแผนวางแนวทางในการแก้ไขมาตั้งแต่ปี 2551 (ค.ศ. 2008) แล้ว สมัยที่ “นายหู จิ่นเทา” ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ก่อนที่ “ส่งไม้ต่อ” ให้กับ “นายสี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน รับดำเนินการต่อไป ตั้งแต่ มี.ค. ปี 2556 เป็นต้นมา ในหะแรกเริ่มครั้งกระนั้น สมัยประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ทางการจีน ก็ได้มีคำสั่งห้ามร้านค้าปลีก แจกถุงพลาสติกใส่สินค้าให้แก่ลูกค้า รวมถึงการสั่ง “แบน” ถุงพลาสติกที่มีขนาดความบางเป็นพิเศษ หรือที่คนไทยเรียกกันติดปากว่า “ถุงก๊อบแก๊บ” ให้เป็นสิ่งต้องห้าม คือ ห้ามการผลิตออกมาใช้กันอีกต่างหากด้วย ทั้งนี้ เพราะเห็นว่า ถุงพลาสติกที่คนไทยเรียกว่า “ถุงก๊อบแก๊บ” ซึ่งมีขนาดบางนั้น ใช้ได้ครั้งเดียว หรือ “ใช้แล้วทิ้ง” ก่อให้เกิด “ปัญหาขยะพลาสติก” ตามมา เพราะประชาชนใช้เสร็จก็ทิ้งเลย โดยปัญหาขยะพลาสติกข้างต้น ก็เป็นที่หวั่นวิตกกันว่า ยากต่อการย่อยสลาย แถมยังกำจัดได้ยาก สามารถสร้างปัญหามลพิษ มลภาวะทางธรรมชาติอื่นๆ ตามมา หรือแม้ขยะพลาสติกไปตกตามแหล่งชาติทั้งหลาย ก็เป็นพิษภัยแก่บรรดาสัตว์ทั้งหลาย ดังปรากฏกรณีที่สัตว์น้ำ สัตว์ทะเล กลืนกินขยะพลาสติกเหล่านี้เข้าไป จนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต นอกจากมีคำสั่งห้ามแจกจ่ายถุงพลาสติกตามร้านรวงต่างๆ แล้ว รัฐบาลปักกิ่ง ทางการจีนแผ่นดินใหญ่ เมื่อปี 2560 ก็ได้มีประกาศห้ามนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศเข้ามายังจีนแผ่นดินใหญ่ อีกต่างหากด้วย ซึ่งเมื่อพูดถึงการนำเข้าต่อขยะเหล่านี้แล้ว ก็ต้องบอกว่า จีนแผ่นดินใหญ่ เคยได้รับการขนานนามว่า เป็นประเทศที่นำเข้าขยะพลาสติกมากที่สุดในโลก มาตรการล่าสุด ที่พญามังกร คลอดออกมาหมายสยบปัญหาขยะพลาสติกอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ก็คือ การประกาศคำสั่งห้ามถุงพลาสติกตามระยะเวลาต่างๆ ออกมาอีก โดยระยะแรก คือ ช่วงสิ้นปีนี้ คือ สิ้นเดือน ธ.ค. ปี 2563 (ค.ศ. 2020) ได้กำหนดให้เมืองใหญ่ๆ นครสำคัญๆ จะต้องไม่ใช้ถุงพลาสติกที่ยากต่อการย่อยสลาย และเมื่อถึงปี 2565 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า ทุกเมือง ทุกมณฑล ในจีนแผ่นดินใหญ่ ก็จะไม่ใช้ถุงพลาสติก โดยถุงพลาติก กลายเป็นของต้องห้ามของแดนมังกรกันไปเลย อย่างไรก็ดี ใช่ว่าทางการปักกิ่งของประธานาธิบดีสี จะห้ามกันแบบไม่รับรู้ถึงความจำเป็นแบบหัวชนฝาแต่ประการใด โดยทาง “คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน” หรือ “เอ็นดีอาร์ซี (NDRC : National Development and Reform Commission)” ยังมีการผ่อนผันในตลาดที่จำหน่ายอาหารสด ที่ผ่อนผันให้ใช้ได้ถึงปี 2568 (ค.ศ. 2025) ซึ่งในระหว่างนี้ บรรดาร้านค้าที่จำหน่ายอาหารสด ก็ต้องขยับปรับตัว หาวัสดุอื่นๆ มาใช้บรรจุหีบห่อให้ลูกค้ากันต่อไป ทาง “เอ็นดีอาร์ซี” ก็ยังมีมาตรการอื่นๆ ในอันที่จะผ่อนผันการใช้ถุงพลาสติก ออกมาควบคู่ไปด้วย ได้แก่ การผลิตและการจำหน่ายถุงพลาสติก ก็ถูกกำหนดว่า ให้ผลิตและจำหน่ายในถุงพลาสติกที่มีขนาดความหนาไม่ต่ำกว่า 0.025 มม. เพื่อให้สามารถนำถุงพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำใหม่ได้ ไม่ใช่ใช้ได้ครั้งเดียวแล้วทิ้งเลย ซึ่งแน่นอนว่า ทางการก็จะมีการรณรงค์ให้ประชาชนใช้ถุงพลาสติกซ้ำ ไม่ใช่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งเลยควบคู่ไปด้วย ส่วนอุตสาหกรรมด้านร้านอาหาร ทางการก็ให้พยายามลดการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ได้ครั้งเดียวลง โดยอย่างน้อยลดลงให้ได้ในอัตราร้อยละ 30 รวมถึงหลอดดูดน้ำแบบพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ก็ถูกแบนด้วยเหมือนกัน เช่นเดียวกับบรรดาธุรกิจโรงแรม ก็จะต้องมีมาตรการที่จะไม่แจกถุงพลาสติกแบบใช้ได้ครั้งเดียวแก่ลูกค้า ซึ่งจะให้ลดทอนกันไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงปี 2568 (ค.ศ. 2025) ก็ให้เหลือเป็นร้อยละ 0 คือ ไม่แจกให้ลูกค้าเลย โดยทั้งหมดทั้งปวง ทางการปักกิ่ง ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก็ตั้งเป้าว่าจะลดขยะพลาสติก ที่จีนแผ่นดินใหญ่มีปริมาณมหาศาล คิดคำนวณรวมแล้ว ก็ราวๆ สนามฟุตบอล 100 สนาม ให้ลดน้อยถอยลงไปให้ได้ เพื่อให้ประชากรซึ่งมีจำนวนราว 1.4 พันล้านคน มีคุณภาพชีวิตดีกว่าที่เป็นอยู่