“วุฒิสภา” เดินหน้าลงมติร่างพ.ร.บ.งบปี63 ชี้ ปมเสียบบัตรแทนกันต้องให้ศาลรธน.ตัดสินก่อน ด้าน “พรเพชร” ระบุ ส.ว.ไม่มีอำนาจวินิจฉัย ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่การพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. หารือต่อที่ประชุมกรณีร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ ที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฏร อาจไม่ชอบด้วยกฏหมาย เนื่องจากนายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย ไม่อยู่ในที่ประชุมสภาแต่มีชื่อลงมติ ว่า เรื่องนี้ผลเกี่ยวข้องกับวุฒิสภาโดยตรง เนื่องจากร่างกฏหมายดังกล่าวได้ผ่านกระบวนการสภาผู้แทนราษฏรแล้วจึงได้ส่งมายังวุฒิสภา การที่วุฒิสภาจะพิจารณาต้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงอยากหารือว่าวุฒิสภาจะดำเนินการอย่างไร จะกลายเป็นการลงมติกฏหมายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และกลายเป็นลงมมติไม่ชอบทั้งวุฒิสภาหรือไม่ “เราจะอภิปรายต่อไปแต่อย่าเพิ่งลงมติ หรือเราจะคืนเรื่องให้สภาแล้วค่อยลงมติใหม่ภายใน 20 วันตามรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ถ้าไม่ทำแบบนี้จะกลายเป็นประเด็น และไม่จบ ดังนั้นต้องหารือว่าจะใช้วิธีการอย่างใด” นายเสรี กล่าว นายพรเพชร วินิจฉัยว่า ผู้รับผิดชอบโดยตรง คือ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเข้าใจว่าสภาฯกำลังดำเนินการอยู่ ร่างกฏหมายนี้ส่งมาอย่างเป็นทางการยังวุฒิสภาก็ต้องถือว่าร่างที่ส่งมาถูกต้อง อีกทั้งวุฒิสภาคงไม่มีอำนาจวินิจฉัยหรือดำเนินการว่าร่างกฏหมายนี้ถูกหรือผิด แต่ถ้าระหว่างนี้สภาฯบอกว่าขอให้รอไว้ก่อน เราก็ต้องรอ เราต้องดำเนินการตามกฏหมายและข้อบังคับ คือพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 20 วัน ส่วนร่างกฏหมายจะเป็นโมฆะหรือไม่ ไม่ใช่ความผิดของวุฒิภา เพราะวุฒิสภาไม่มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยหรือไปก้าวก่าย วุฒิสภาก็ต้องพิจาณาไปตามที่สภาฯยืนยันมาว่าถูกต้อง ด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว. กล่าวว่า กรณีเสียบบัตรแทนกันระหว่างนายฉลอง กับนายนริศร ทองธิราช อดีตส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทนั้น มีความแตกต่างกัน โดยร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ วุฒิสภาต้องพิจารณาให้แล้วภายใน 20 วัน เราส่งคืนให้สภาฯไม่ได้ และวันนี้ต้องลงมติ ส่วนถ้าวุฒิสภาเห็นว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญต้องเข้าชื่อกันยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย นายสมชาย กล่าวต่อว่า เพื่อไม่ให้เป็นการตื่นตระหนก วุฒิสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จ เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมองประโยชน์สาธารณะ และกรณีของนายฉลองไม่ชัดเท่ากับกรณีของนายนริศร แม้นายฉลองจะยอมรับว่าไม่อยู่ในสภาก็จริง แต่ต้องตรวจสอบว่าใครกดบัตรแทนให้ อย่างไรก็ตาม หากศาลวินิจฉัยว่ากฏหมายนี้ใช้ไม่ได้จริง ก็มีพ.ร.บ.งบประมาณปี 62 เพื่อเดินหน้าได้เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. ฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการกิจการวุฒิสภาา (วิปวุฒิสภา) ให้สัมภาษณ์ว่า ส.ว.มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างพ.ร.บ.งบฯในส่วนเนื้อหาเท่านั้น แต่กรณีที่เกิดขึ้นอยู่นี้ไม่เกี่ยวกับเนื้อหา แต่เป็นเพียงกระบวนการกล่าวหาในชั้นของสภาฯ ทั้งนี้การหยุดพิจารณาและส่งคืนไปยังสภาฯ ตามการอนุมานที่สภาฯ กล่าวหานั้น ไม่สามารถทำได้จนกว่าองค์กรที่มีหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาด คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสิน แต่หากยังไม่มีคำตัดสิน ถือว่ายังเป็นความถูกต้อง “ที่มีผู้ยกเปรียบเทียบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในคดีที่เคยเกิดก่อนหน้านี้ ต้องยอมรับว่าแต่ละคดีมีข้อเท็จจริงแตกต่างกัน ไม่เหมือนกัน ดังนั้น หากจะสรุปว่าผิดหรือไม่ถูกต้อง ศาลรัฐธรรมนูญต้องชี้ขาด ไม่ใช่สภาฯหรือวุฒิสภา ส่วนสภาฯ หรือวุฒิสภา หากเห็นว่าไม่ถูกต้องจะมีช่องทางดำเนินการตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ซึ่งวุฒิสภานัดหมายจะลงมติร่างพ.ร.บ.งบฯ 63 ประมาณ 15.00 น.” นายคำนูณ กล่าว