นายกฯ เห็นชอบแนวทางการพัฒนาของ ศอ.บต. ยกระดับการบริหารจัดการด่านชายแดนทั้ง 9 ด่านในพื้นที่ จชต. พร้อมอวยพร “ซินเจียอยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้” เมื่อเวลา 09.30 น. ที่มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เมือง จ. นราธิวาส พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน ระหว่างคณะรัฐมนตรีและภาคเอกชนในพื้นที่ ได้แก่ นายกิจก้อง ตันติจรัสวโรดม ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ นายกิตติ หวังธรรมมั่ง ประธานหอการค้าจังหวัดนราธิวาส นายตติยะ ฉิมพาลี ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี นางสุชาดา พันธ์นรา นายกเทศมนตรีเมืองสุไหงโก-ลก และนายวัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เพื่อรับฟังข้อเสนอและแผนงานการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน (ยะลา นราธิวาส ปัตตานี) นายกฯ กล่าวถึงเป้าหมายของการลงพื้นที่ว่า ทำให้สามารถเก็บตกรายละเอียดความต้องการของพี่น้องประชาชน ตรงกับรูปแบบการทำงานแบบตรงกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ (tailor made) ทั้งการเร่งรัดโครงสร้างพื้นฐาน และมาตรการเสริม มาตรการเร่งด่วนต่าง ๆ และขอชื่นชม รัฐมนตรีทุกท่านที่ได้ลงพื้นที่ไปใน 3 จังหวัด นอกจากจะได้เห็นสภาพที่แท้จริง ยังเพิ่มความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างรัฐกับประชาชนด้วย ซึ่งการประชุมนอกสถานที่ทุกครั้ง จะทำให้เกิดการจัดลำดับความสำคัญโครงการเร่งด่วน รวมทั้งเกิดโครงการใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับสถานการณ์และความต้องการของประชาชนที่แท้จริงในปัจจุบัน ทั้งนี้ รัฐบาลต้องใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และยึดหลักกฎหมาย ขอให้รัฐมนตรีทุกคนช่วยกันสื่อสารรูปแบบการทำงานเช่นนี้ให้ประชาชนเข้าใจ และทุกหน่วยที่ทำงานจะต้องรายงานความก้าวหน้าให้ประชาชนทราบเป็นระยะด้วย โดยในที่ประชุม นายกฯเห็นชอบแนวทางการพัฒนาของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในการยกระดับการบริหารจัดการด่านชายแดนทั้ง 9 ด่านในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะ 3 ด่าน ในคือ ด่านสุไหงโก-ลก ด่านบูเก๊ะตา ซึ่งในอนาคตจะเป็นด่านขนส่งสินค้าหลักเชื่อมไทย-มาเลเซีย และด่านตากใบ รวมทั้ง การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ใน 4 ลุ่มน้ำ ลุ่มน้ำสุไหงโก-ลก ลุ่มน้ำบางนรา ลุ่มน้ำสายบุรี และลุ่มน้ำปัตตานี ด้วยการสร้างคันกั้นน้ำ ศึกษาการจัดเก็บน้ำ เพื่อเป็นแก้มลิงสำหรับการเกษตรในหน้าแล้ง และเร่งรัดให้ ศอ.บต. เร่งเสนอแผนยุทธศาสตร์ โดยมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รวมทั้งให้ดูแลการปิด-เปิดด่าน ให้ทำเท่าที่จำเป็น ไม่ให้กระทบต่อการขนส่ง หรือสร้างความเดือดร้อนกับประชาชน รวมทั้งการส่งเสริมการจับคู่ทางธุรกิจทั้งในพื้นที่และระหว่างประเทศ เช่น ตลาดมาเลเซีย ซึ่งย้ำว่าต้องมีมาตรฐานสินค้าอย่างสม่ำเสมอด้วย โอกาสนี้ นายกฯ ยังเห็นพ้องกับข้อเสนอภาคเอกชน 2 ประการสำคัญ กล่าวคือ 1. ข้อเสนอเพื่อสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ด้วยการเพิ่มศักยภาพการผลิตภาคการเกษตร อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและการตลาด การส่งเสริมการค้าการลงทุนในพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ ส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ วัฒนธรรมและเมืองท่องเที่ยวชายแดน และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนสังคมพหุวัฒนธรรม โดยข้อเสนอ 2. คือ เพื่อสร้างความยั่งยืนและอยู่ดีมีสุขของภาคใต้ชายแดน ประกอบด้วย การสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ได้แก่ เกษตร การค้าการลงทุน การท่องเที่ยว ระบบโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับการสร้างความยั่งยืนและอยู่ดีมีสุขของภาคใต้ชายแดน เน้นการบริหารจัดการน้ำ และการยกระดับการบริการสาธารณสุข นายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลให้การสนับสนุนการปลูกพืชเกษตร แต่ต้องคำนึงถึงดีมานด์-ซับพลายของตลาดด้วย ไม่ว่าจะเป็นปาล์มน้ำมัน มะพร้าว ยางพารา ต้องสอดคล้องกับความต้องการของตลาดในและต่างประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด รัฐบาลต้องการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพการเลี้ยงปศุสัตว์ ให้มีการปฏิรูปการจัดการตลาดกลาง จะช่วยรองรับอุตสาหกรรมสินค้าฮาลาลด้วย ส่วนด้านการค้าและการลงทุนนั้น ปัจจุบันรัฐบาลก็มีมาตรการพิเศษ รวมทั้งการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) เพื่อสนับสนุนสำหรับผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งถือเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษอยู่แล้ว สำหรับการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกก็ต้องมีการบริหารจัดการ ด้วยความร่วมมือกับประชาชนเจ้าของที่ดินด้วย สำหรับการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ วัฒนธรรม และเมืองท่องเที่ยวชายแดน -ด้านการท่องเที่ยว นั้น เห็นชอบให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมชายแดนใต้ โดยขอให้ยึดโยงกับกิจกรรมและประโยชน์ รวมทั้งให้มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน การท่องเที่ยววิถีประสบการณ์ (Experience Tourism) และการท่องเที่ยวโฮมสเตย์ โดยภาคใต้มี สังคมพหุวัฒนธรรม นายกฯยังกล่าวถึงแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางรถและทางราง อาทิ การเชื่อมยะลา – เบตง – สนามบินเบตง ซึ่งในช่วงกลางปี พ.ศ. 2563 สนามบินเบตงจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาเที่ยวในพื้นที่ และมีรายได้จากการท่องเที่ยวมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการขยายช่องทางจราจรเป็น 4 เลน ในโครงข่ายทางหลวงแผ่นดินทางเลี่ยงเมือง จังหวัดยะลา การเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวงหมายเลข 410 และ 4326 ตอนตะบิงติงงี - สนามบินเบตง การพัฒนาเส้นทางเชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษ – ด่านชายแดน รวมทั้งการบริการรถไฟ ขบวนรถไฟ “ทักษิณารัถย์” ทั้งการเพิ่มระยะทางจากสถานีชุมทางหาดใหญ่ ไปถึงสถานีสุไหงโก-ลก การเพิ่มจำนวนรถตู้รถไฟ เป็นต้น นายกฯ ยังเห็นชอบแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งการการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมและการระบบน้ำในพื้นที่ชุมชนใน จ.นราธิวาส และการยกระดับการบริการสาธารณสุข พัฒนาความเป็นเลิศทางการแพทย์ โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีแผนยกระดับ อสม. รวมทั้งจัดทำแผนเพิ่มกรอบอัตรากำลังของบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข นายกฯ ย้ำว่าการประชุมนี้ เป็นการหารือระหว่างรัฐกับเอกชน ขอให้ทุกคนต้องช่วยกัน เพราะรัฐบาลต้องการสร้างความเท่าเทียมและความเป็นธรรม โดยเฉพาะการดูแลผู้มีรายได้น้อยเพราะเงินทุกบาทของรัฐบาลมาจากภาษีของประชาชนผู้เสียภาษีทุกคน ต้องมีการบูรณาการงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก่อนปิดการประชุม นายกฯ ยังกล่าวอวยพรคณะรัฐบาลและผู้แทนภาคประชาชน ในโอกาสตรุษจีน “ซินเจียอยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้” ด้วย